How we decide มีชื่อไทยว่า "ตัดสินใจให้ได้ดีต้องมีอารมณ์" ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ค่อยตรงกับเนื้อหาสักเท่าไหร่ เดาว่าทีมงานของสำนักพิมพ์วีเลิร์นน่าจะไม่รู้ว่า focus group ของเล่มนี้อยู่ที่ไหน จึงพยายามตั้งชื่อแบบฮอลลีวูด เพื่อดึงดูดลูกค้าแบบหว่าน ซึ่งก็น่าเห็นใจเพราะว่าหนังสือสไตล์นี้คงหาคนให้ความสนใจยากพอสมควร แต่ปรากฏว่าพอผมได้อ่านเข้าจริงๆแล้วรู้สึกชอบเป็นอย่างมาก เพราะว่ามันมีเนื้อหาเกี่ยวกับการตัดสินใจในสภาวะที่ไม่ปกติ
และที่สำคัญก็คือว่าในเล่มก็มีการพูดถึงการลงทุนหุ้นอยู่พอสมควรด้วย
อีกทั้งผมยังชอบในเรื่องของการอธิบายเหตุผลที่มาของการตัดสินใจ ว่าสมองของเรามีส่วนร่วมแบบเต็มๆเลย
ผู้เขียนบอกว่าหนังสือเล่มนี้จะพูดถึงการตัดสินใจของพวกคน รวมถึงการทำงานของสมองมนุษย์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่ซับซ้อนที่สุดในจักรวาล ถ้ามองในแง่ของสมองแล้ว การตัดสินใจที่ดีกับการตัดสินใจที่ห่วยแตกถูกคั่นไว้ด้วยเส้นบางๆเพียงเส้นเดียวเท่านั้น
หนังสือเล่มนี้จะพาคุณไปค้นหาเจ้าเส้นบางๆที่ว่านี้
เด็ดมั้ยล่ะครับ? ผมว่าน่าสนใจสุดๆ
แต่ก่อนเราเชื่อว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล ว่ากันว่าเมื่อเราตัดสินใจ เราจะชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียของทางเลือกต่างๆอย่างมีสติและรอบคอบ พูดง่ายๆก็คือ "เราเป็นสัตว์โลกที่รู้จักคิดและใช้เหตุผล" นั่นเอง
แต่เอาเข้าจริงแล้ว..ปรากฏว่าคนเราไม่ได้ถูกสร้างมาให้คิดแบบมีเหตุมีผลครับ
จริงๆแล้วตรงกันข้ามกันเลย สมองของเราประกอบด้วยส่วนต่างๆที่โยงใยเป็นเครือข่ายอันยุ่งเหยิง โดยมีหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างอารมณ์ความรู้สึก เมื่อใดก็ตามที่เราตัดสินใจ สมองจะต้องท่วมท้นไปด้วยความรู้สึกอันไม่อาจอธิบายได้
แม้แต่เวลาที่เราพยายามจะใช้เหตุผล แรงกระตุ้นจากอารมณ์เหล่านี้ ก็ยังมีอิทธิพลอย่างลับๆต่อวิจารณญาณของเราอยู่ดี
ดังนั้น การตัดสินใจที่ดีนั้นต้องอาศัยทั้งเหตุผลและอารมณ์
เพราะโลกแห่งความเป็นจริงนั้นซับซ้อนมาก กระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติจึงสร้างให้สมองเรามีความหลากหลาย บางครั้งเราต้องใช้เหตุผลในการพิจารณาทางเลือกและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ต่างๆอย่างรอบคอบ แต่บางครั้งเราก็ต้องเชื่อในอารมณ์ของตัวเอง
เคล็ดลับคือการรู้ว่าควรใช้วิธีคิดแบบใดในสถานการณ์ไหน เราจึงต้องคำนึงถึงวิธีคิดของตัวเองอยู่ตลอดเวลา
โดพามีน
โดพามีนเป็นเซลส์สื่อประสาทที่ช่วยควบคุมอารมณ์ทั้งหมดที่เรามี ตั้งแต่ความรู้สึกวาบหวามยามมีรัก ไปจนถึงความรู้สึกเกลียดเข้ากระดูกดำ
มันทำให้เรารู้สึกเคลิบเคลิ้มไปด้วยความสุข ยาเสพติดของมนุษย์ก็ออกฤทธิ์ในลักษณะเดียวกัน คนติดโคเคนที่เพิ่งฉีดยาเข้าเส้น แทบไม่ต่างอะไรจากหนูที่ถูกกระตุ้นให้เคลิ้มด้วยกระแสไฟฟ้าเลย สมองของสิ่งมีชีวิตทั้งสองชนิดต่างถูกความสุขครอบงำ
สารโดพามีนจึงกลายเป็นคำอธิบายของความสุขที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ การเสพยา และการฟังดนตรีร็อคแอนด์โรล
นอกจากนี้ โดพามีนยังเป็นสิ่งที่สมองส่วนต่างๆใช้สื่อสารกันเอง และช่วยให้เราตัดสินใจเมื่อเผชิญกับทางเลือกที่หลากหลายด้วย
พูดง่ายๆก็คือ กระบวนการตัดสินใจ เริ่มต้นที่การเคลื่อนไหวของสารโดพามีนนั่นเอง
สมองถูกออกแบบมาให้เพิ่มระดับความตกใจเมื่อคาดการณ์ผิดพลาด เมื่อใดก็ตามที่สมองต้องเผชิญกับสิ่งไม่คาดฝัน การทำงานของเซลล์สมองมันจะกลายเป็นอารมณ์ที่ทรงพลัง ไม่มีอะไรที่ทำให้เกิดสมาธิอันแน่วแน่ได้มากเท่ากับความประหลาดใจอีกแล้ว
เมื่อใดก็ตามที่เซลล์โดพามีนคาดการณ์ผิด สมองจะสร้างสัญญาณไฟฟ้าเฉพาะตัวขึ้นเพื่อสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีเวลาเกิดความผิดพลาด
เมื่อสมองมีความกังวลเกี่ยวกับความผิดปกติบางอย่าง ความกังวลจะถูกแปลงเป็นสัญญาณทางกาย ขณะที่กล้ามเนื้อต่างๆเริ่มทำงานภายในไม่กี่วินาที อัตราการเต้นของหัวใจจะเพิ่มขึ้น ร่างกายจะหลั่งสารอะดรีนาลีนเข้าสู่กระแสเลือด ความรู้สึกทางกายเหล่านี้จะบีบให้เราต้องตอบสนองต่อสถานการณ์ในทันที
ชีพจรที่เต้นแรง และฝ่ามือที่ชุ่มไปด้วยเหงื่อ คือวิธีใช้สมองบอกเราว่าไม่มีเวลาเหลืออีกแล้ว เราต้องรีบรับมือกับการคาดการณ์ที่ผิดพลาดโดยด่วน
การทำงานของเซลล์โดพามีนแสดงให้เห็นว่า ความรู้สึกต่างๆไม่ได้เกิดจากสัญชาตญาณแบบสัตว์เพียงอย่างเดียว และอารมณ์ความรู้สึกของเราก็ไม่ได้ทำอะไรตามใจชอบ อารมณ์ของมนุษย์เกิดจากการทำนายของเซลล์สมองที่คอยปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงทุกครั้งที่เราทำความผิดพลาดหรือเมื่อพบเจอกับสิ่งใหม่ๆ เรียกได้ว่าอารมณ์ของเรานั้นมีความยืดหยุ่นดีจริงๆ
หากเซลล์โดพามีนทำงานอย่างเหมาะสม มันจะเป็นขุมกำลังทางความคิดที่สำคัญยิ่ง
สมองส่วนอารมณ์สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างง่ายดายเพื่อหาวิธีใช้ประโยชน์จากมันให้ได้มากที่สุด ทุกครั้งที่เรารู้สึกยินดี ผิดหวัง หวาดกลัว หรือเป็นสุข เซลล์ประสาทของเราจะวุ่นอยู่กับการเปลี่ยนตัวเองและพยายามหาคำตอบว่าสิ่งกระตุ้นใดที่ทำให้เกิดอารมณ์เหล่านั้น ไม่นานบทเรียนใหม่ๆก็จะประทับอยู่ในความทรงจำ เมื่อถึงคราวที่ต้องตัดสินใจครั้งต่อไปเซลล์สมองของเราก็จะอยู่ในสภาพเดิมพร้อม เพราะมันให้เรียนรู้วิธีคาดการณ์สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว
สมองกับเกมแบ็กแกมมอน
สมองมีหน้าที่คาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น จากนั้นก็ประเมินความแตกต่างระหว่างสิ่งที่คาดไว้กับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ ในระหว่างการทดลอง หากการคาดการณ์นั้นเกิดผิดพลาด เซลล์โดพามีนก็จะหยุดส่งสัญญาณทันที ผู้เล่นจะรู้สึกถึงอารมณ์ที่ไม่ดีและไม่เลือกไพ่จากสำรับนั้นอีก (ความผิดพลาดความผิดหวังเป็นครูที่ดีที่สุดเลยล่ะครับ) ยังไงก็ตาม หากการคาดการณ์นั้นถูกต้อง (ผู้เล่นได้รับรางวัลเพราะเลือกไพ่จากสำรับดี) เขาจะรู้สึกพึงพอใจที่ตัวเองคิดถูก ผลที่ได้ก็คือเซลล์ประสาทของเขาเรียนรู้อย่างรวดเร็วว่าจะทำเงินได้อย่างไร มันค้นพบเคล็ดลับในการเอาชนะเกมก่อนที่ตัวผู้เล่นจะเข้าใจและอธิบายวิธีการดังกล่าวได้เสียอีก
จากนั้นเมื่อคาดการณ์แล้วว่าสถานการณ์จะลงเอยอย่างไร เซลล์โดพามีนก็จะเปลี่ยนการคาดการณ์ดังกล่าวให้กลายเป็นอารมณ์ต่างๆ ตัวอย่างเช่น เมื่อเราได้รับข้อมูลมหาศาลเกี่ยวกับผลประกอบการในช่วงระยะเวลาหนึ่งของหุ้น 20 ตัว (ราคาหุ้นที่แตกต่างกันจะถูกแสดงไว้ตรงแถบด้านล่างจอโทรทัศน์คล้ายคล้ายกับตัวหนังสือที่วิ่งปรากฏในรายการข่าว) ไม่ช้าเราจะพบว่าตัวเองไม่สามารถจดจำและประมวลข้อมูลทั้งหมดได้ ถ้ามีใครถามว่าหุ้นตัวไหนกำไรดีที่สุด เราก็อาจจะยืนใบ้กินเพราะไม่สามารถให้คำตอบที่ถูกต้องได้ แต่ถ้ามีคนถามว่าหุ้นตัวไหนทำให้เรารู้สึกสบายใจที่สุด เราจะสามารถบอกชื่อหุ้นตัวนั้นได้ทันที
อารมณ์ของคนเราเผยให้เห็นถึงความรู้สึกที่ไวจนน่าทึ่งต่อผลประกอบการจริงๆของหุ้นเหล่านี้ หุ้นที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจะถูกเชื่อมโยงเข้ากับความรู้สึกที่ดีที่สุด หุ้นที่ร่วงเอาๆ จะทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจขึ้นมาตะหงิดๆ ความรู้สึกอันแม่นยำที่ไม่อาจอธิบายได้นี้เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการตัดสินใจ แม้กระทั่งตอนที่เราคิดว่าตัวเองไม่รู้อะไรเลยสมองของเราก็มักจะรู้อะไรบางอย่างเสมอ นั่นคือสิ่งที่ความรู้สึกพยายามบอกกับเรา
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะฝากชีวิตไว้กับอารมณ์เหล่านี้ได้ง่ายๆ เซลล์โดพามีนต้องได้รับการฝึกฝนซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่เรื่อยๆ ไม่เช่นนั้นความแม่นยำในการคาดการณ์จะลดลง การจะเชื่อมั่นในอารมณ์ได้ต้องอาศัยการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะสัญชาตญาณที่ดีจะต้องมาจากการฝึกฝนอย่างตั้งใจ
บิลล์ โรเบอร์ตี ผู้เชี่ยวชาญด้านโปกเกอร์ และแชมป์แบ็กแกมมอน
ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 ตอนที่เขายังเป็นแค่เซียนหมากรุกอย่างเดียว(และหาเลี้ยงชีพจากการแข่งขันหมากรุกแบบจำกัดเวลา) เขาก็ได้พบกับ backgammon "ผมหลงใหลเกมนี้ทันที" เขาเล่า แถมการแข่ง backgammon ยังได้เงินมากกว่าหมากรุกด้วย โรเบอร์ตีซื้อหนังสือเกี่ยวกับกลยุทธ์ในการเล่นแบ็คแกมอ้นมาเล่มหนึ่ง จากนั้นก็จำกลยุทธ์การเล่นมา 2-3 แบบ ก่อนจะเริ่มเล่นครั้งแล้วครั้งเล่า เขากล่าวว่า "คุณจะต้องหมกมุ่นกับมันครับคุณต้องฝึกจนถึงขั้นฝันเห็นมัน"
โรเบอร์ตี บอกว่า "ผมจะรู้ว่าตัวเองเล่นได้ดีก็ต่อเมื่อผมรู้ทันทีว่าควรเดินหมากอย่างไรจากการมองกระดานแค่แว่บเดียว"
"เกมเริ่มกลายเป็นเรื่องของความเพลิดเพลินมากขึ้น และการตัดสินใจของผมก็เริ่มขึ้นอยู่กับสิ่งที่ได้เห็นมากขึ้นด้วย ผมจะมองไปที่กระดานและรู้ได้ทันทีว่ามันจะทำให้สถานการณ์ของผมดีขึ้นหรือแย่ลง"
"มันไม่เกี่ยวกับจำนวนครั้งที่ฝึกแต่เป็นเรื่องของคุณภาพต่างหาก"
สำหรับเขาแล้ว วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการพัฒนาฝีมือก็คือ "การมุ่งความสนใจไปที่ความผิดพลาด" กล่าวคือเราต้องใช้จิตสำนึกในการพิจารณาข้อผิดพลาดที่เซลล์โดพามีนจดจำไว้
หลังจากที่เขาได้เล่นหมากรุกสักกระดาน โป๊กเกอร์สักตา หรือแบ็กแกมมอนสักเกม เขาจะกลับมาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด การตัดสินใจทุกอย่างจะถูกนำมาวิเคราะห์ แม้แต่กระทั่งเวลาที่เขาชนะ(ซึ่งเกิดขึ้นแทบทุกครั้ง) เขาก็ยังตั้งใจค้นหาข้อบกพร่อง เพื่อปรับปรุงวิธีการเล่นของตัวเอง เขารู้ดีว่าการวิจารณ์ตัวเองคือเคล็ดลับในการพัฒนาฝีมือที่ดีที่สุด
ความเชี่ยวชาญคือภูมิปัญญาที่เกิดจากข้อบกพร่องของเซลล์ ส่วนความผิดพลาดก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรปฏิเสธ ตรงกันข้ามกันเลย,เราควรนำมันมาพิจารณาและใช้ประโยชน์ต่างหาก
ดังนั้น "ความกลัวที่จะล้มเหลว" มันจึงสามารถขัดขวางการเรียนรู้ของสมองอย่างชัดเจน
การตัดสินใจ
ปริศนาเรื่องวิธีการตัดสินใจของคนเราเป็นเรื่องลึกลับที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับสมองมนุษย์ แม้ว่าชีวิตจะเต็มไปด้วยการตัดสินใจ แต่เราก็แทบไม่รู้ตัวเลยว่าเกิดอะไรขึ้นในหัวของเราบ้างระหว่างกระบวนการดังกล่าว
แต่ก่อนเรามักเชื่อว่า การตัดสินใจคือการต่อสู้อันดุเดือดระหว่างเหตุผลกับอารมณ์และเหตุผลมักเป็นฝ่ายชนะ
แต่เมื่อดูจากสมองแล้ว มนุษย์ก็ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใช้อารมณ์ความรู้สึกมากกว่าสัตว์ชนิดใดทั้งสิ้น
ทำไมอารมณ์ของคนเราจึงมีความสำคัญขนาดนั้น? คำตอบอยู่ที่เรื่องของวิวัฒนาการครับ
กว่าสมองจะได้รับการออกแบบจนกลายเป็นทุกอย่างในวันนี้ ก็ต้องใช้เวลานานแสนนาน
จะว่าไปแล้ว สมองมนุษย์ก็คือระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์ที่ถูกเข็นออกมาขายก่อนเวลาอันควรนั่นล่ะครับ
อย่างไรก็ตาม, สมองส่วนอารมณ์ได้รับการปรับแต่งอย่างปราณีตมาตลอดระยะเวลาหลายร้อยล้านปี มันถูกทดสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนสามารถทำการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วโดยอาศัยข้อมูลเพียงน้อยนิด
สมองจึงมีระบบการคิดที่แตกต่างกัน 2 แบบ ระบบหนึ่งอาศัยเหตุผลและการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ส่วนอีกระบบอาศัยอารมณ์และการทำงานที่ฉับไว
สิ่งสำคัญในการตัดสินใจ ก็คือการรู้ว่าตอนไหนควรจะใช้ระบบใด
ความรู้สึก
สารโดพามีนจะถูกหลั่งออกมามากขึ้นเพื่อให้สมองจดจ่อกับสิ่งเร้าใหม่ๆ ซึ่งอาจมีความสำคัญ ในบางครั้ง, ความประหลาดใจดังกล่าวอาจไปกระตุ้นความรู้สึกเชิงลบ เช่น ความกลัว
เหตุผลที่คนส่วนหนึ่งติดการพนันจากตู้สล็อต ก็คือมันถูกออกแบบให้เป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ การสร้างผลลัพธ์แบบสุ่มทำให้ตู้สล็อตไม่มีแบบแผนใดๆให้เซลล์ประสาทได้ถอดถอดรหัส ดังนั้นต่อให้พยายามคาดเดามากแค่ไหน เซลล์โดพามีนก็ยังถูกทำให้ประหลาดใจได้เรื่อยๆอยู่ดี
เมื่อมาถึงจุดนี้เซลล์โดพามีนก็ควรจะยอมจำนนและตระหนักได้แล้วว่าการคาดเดาตู้สล็อตเป็นการเสียพลังงานไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่แทนที่มันจะเบื่อกับรางวัลที่ไม่สามารถคาดเดาได้ มันกลับเริ่มหมกมุ่นกับรางวัลดังกล่าว เมื่อเราดึงคันโยกแล้วได้รางวัลเราจะรู้สึกถึงความสุขจากโดพามีนที่หลั่งออกมาเพราะเราได้รางวัลนั้นอย่างไม่คาดฝัน เนื่องจากเซลล์สมองของเราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อเซลล์โดพามีนไม่รู้แบบแผนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มันจึงไม่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองตามแบบแผนนั้นได้ ผลลัพธ์ก็คือเราจะนั่งอยู่หน้าตู้สล็อตจนรากงอก เพราะเรารู้สึกพิศวงไปกับความไม่แน่นอนของโอกาสในการถูกรางวัล
ด้วยเหตุนี้,มันจึงทำให้คนจำนวนมากถลุงเงินไปกับตู้สล็อต เลือกหุ้นผิดตัว และก่อหนี้บัตรเครดิตก้อนโต
เมื่อมีอะไรบางอย่างมันทำให้อารมณ์ของเราอยู่เหนือการควบคุม ผลที่ตามมาอาจร้ายแรงพอๆกับการไม่มีอารมณ์ใดๆเลยก็เป็นได้
ข้อบกพร่องของสมองส่วนอารมณ์นั้นส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ลองคิดถึงตลาดหุ้นซึ่งเป็นตัวอย่างคลาสสิคของระบบที่ไร้แบบแผนดูสิครับ
การเคลื่อนไหวในอดีตของหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง ไม่สามารถนำมาใช้ทำนายทิศทางในอนาคตของมันได้เลย ความไร้แบบแผนของตลาดหุ้นถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกโดยนักเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อ ยูจีน ฟาร์มา เขาตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังหลายสิบปีของตลาดหุ้นเพื่อพิสูจน์ว่าไม่มีหลักเกณฑ์หรือการวิเคราะห์ใดสามารถช่วยให้เราล่วงรู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ บรรดาเครื่องมือสลับซับซ้อนที่นักลงทุนสรรหามาทำความเข้าใจตลาดหุ้นจึงเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะแวดวงการเงินแทบไม่ต่างอะไรจากตู้สล็อตเลย
ความน่ากลัวที่แท้จริงของตลาดหุ้นก็คือบางครั้งความผันผวนของมันดูเหมือนคาดเดาได้ (อย่างน้อยก็ในช่วงสั้นๆ) เซลล์โดพามีนจึงพยายามวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งที่ไม่มีอะไรให้วิเคราะห์เลย ดังนั้น,แทนที่จะยอมรับความไร้แบบแผนของระบบ เรากลับมองเห็นแนวโน้มบางอย่างที่ดูมีความสำคัญ ทั้งๆที่การขึ้นลงติดต่อกันของมูลค่าหุ้นบางตัวไม่มีความหมายอะไรเลย
ผู้คนมีความสุขกับการลงทุนในตลาดหุ้นและการเล่นพนันในคาสิโน เพราะถือว่าตัวเองสามารถเอาชนะความไร้แบบแผนได้
เมื่อสมองพบกับอะไรบางอย่างที่ไร้แบบแผน มันก็จะยัดเยียดความหมายให้กับสิ่งเหล่านั้นอัตโนมัติ แต่สิ่งที่เราเห็นไม่ใช่แบบแผนและยังไม่มีใครค้นพบแบบแผนที่ซ่อนอยู่ในตลาดหุ้นเลยสักคน
สมองมีวิธีรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ของตลาดหุ้นอย่างไร?
นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบสัญญาณประสาทอันทรงพลังที่ผลักดันให้เราตัดสินใจเรื่องการลงทุนในหลายอย่าง สัญญาณดังกล่าวถูกส่งมาจากสมองที่เต็มไปด้วยโดพามีน อย่าง เวนทรัล คอร์เดต(ventral caudate) ซึ่งทำหน้าที่บันทึกสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากสถานการณ์สมมติ
ผู้ร่วมการทดลองคนหนึ่ง ตัดสินใจลงทุนในตลาดหุ้นเป็นเงิน 10% ของเงินลงทุนทั้งหมดของเขา(ซึ่งถือเป็นเงินลงทุนก้อนเล็กๆ) จากนั้นก็เฝ้าดูมูลค่าของหุ้นพุ่งพรวดขึ้น เมื่อถึงจุดนี้สัญญาณของการเรียนรู้ก็เริ่มปรากฏขึ้น ขณะที่นักลงทุนมีความสุขกับกำไรเล็กๆน้อยๆที่ได้รับ เซลล์โดพามีนที่ไม่รู้จักพอกลับเอาแต่หมกมุ่นอยู่กับผลกำไรที่เขาชวดไป หลังจากที่ได้คำนวณความแตกต่างระหว่างผลตอบแทนที่ดีที่สุดกับผลตอบแทนที่ได้มาจริงๆ
หากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับสิ่งที่คาดหวังแตกต่างกันมากจนทำให้เกิดความรู้สึกเสียดาย ผู้เข้าร่วมการทดลองอาจทำสิ่งที่แตกต่างออกไปในอนาคต บรรดานักลงทุนอาจพากันปรับเปลี่ยนวิธีการลงทุนตามการขึ้นลงของตลาด ตอนที่ตลาดกำลังเฟื่องฟูพวกเขาก็เพิ่มเงินลงทุนไปเรื่อยๆเพราะกลัวว่าตัวเองจะมานั่งคร่ำครวญด้วยความเสียดายที่หลัง หากต้องชวดกำไรเพราะดันลงทุนน้อย
เมื่อตลาดวิ่งสูงขึ้น ทุกคนก็ถูกชักจูงให้ลงทุนมากขึ้นตามไปด้วยด้วย ความที่สมองจอมละโมบของเราเชื่อมั่นว่าจะสามารถถอดรหัสตลาดหุ้นได้ ทุกคนจึงไม่ค่อยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของการสูญเสีย ในขณะที่นักลงทุนกำลังเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าฟองสบู่ไม่ได้เกิดขึ้น ฟองสบู่ก็แตกดังโพล๊ะ ราคาหุ้นทั้งกระดานก็ร่วงลงเหวทันที และในชั่วพริบตานั้น, นักลงทุนที่เคยคิดว่าตัวเองจะรู้สึกเสียดายหากไม่ได้ลงทุนเต็มที่ จะรู้สึกสึกท้อแท้สิ้นหวังเพราะต้องสูญเงิน
เมื่อได้เจอสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่คิดไว้ เมื่อมูลค่าของหุ้นดิ่งลง ทุกคนต่างขายหุ้นทิ้งกันแทบไม่ทัน เพราะพวกเขาไม่อยากมานั่งเสียดายทีหลังหากดันทุรังลงทุนต่อแล้วมีอะไรร้ายแรงเกิดขึ้น เมื่อถึงตอนนี้สมองของพวกเขาก็คิดได้แล้วว่ามันทํานายอะไรบางอย่างผิดพลาดไปอย่างร้ายแรง เหล่านักลงทุนจึงรีบเทขายหุ้นที่ราคากำลังร่วงลงทุกวัน นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของภาวะตื่นตระหนกในตลาดหุ้น
บทเรียนที่ได้ก็คือ การพยายามเอาชนะตลาดหุ้นด้วยสมองเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดเอาเสียเลย เซลล์โดพามีนไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรับมือกับแวดวงการเงินที่เอาแน่เอานอนไม่ได้
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมในระยะยาวแล้วคนที่เลือกหุ้นแบบสุ่มจึงสามารถเอาชนะผู้เชี่ยวชาญค่าตัวสูง ที่ใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์สุดล้ำสมัยได้ และทำไมกองทุนรวมส่วนใหญ่จึงทำผลงานได้แย่กว่าดัชนี s&p 500 ในแต่ละปี ต่อให้กองทุนเหล่านั้นเคยเอาชนะตลาดได้ แต่ก็ไม่ใช่และยาวแน่นอน
การลงทุนในตลาดหุ้นก็เหมือนกับการหลับตาเดินไปตามทางที่ชันขึ้นเรื่อยๆนั่นแหละครับ วิธีที่ดีที่สุดคือการเลือกซื้อกองทุนดัชนีที่มีค่าธรรมเนียมต่ำแล้วรออย่างใจเย็น อย่าไปหมกมุ่นกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นหากคุณซื้อหุ้นตัวอื่นหรือเอาแต่พุ่งเป้าไปที่ผลกำไรของคนอื่น นักลงทุนที่ไม่ขายหรือซื้อหุ้นเลยสักตัวจะทำผลงานได้ดีกว่านักลงทุนที่เก็งกำไรตลอดเวลาโดยเฉลี่ยเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์
บรรดาบริษัทด้านการเงินพยายามค้นหาสูตรลับแห่งความสำเร็จของแวดวงนี้โดยตลอด แต่ความลับก็คือ ไม่มีความลับอะไรหรอกครับ
สิ่งต่างๆในโลกนี้ดำเนินไปอย่างไร้แบบแผนกว่าที่เราคิดมาก และนั่นคือสิ่งที่ความรู้สึกของเราไม่เข้าใจ
Loss Aversion ความเกลียดชังการสูญเสีย
มันเป็นข้อบกพร่องทางจิตวิทยาประเภทหนึ่ง เมื่อคนคนหนึ่งต้องเผชิญสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เขาจะไม่ประเมินข้อมูลอย่างรอบคอบ คำนวณความน่าจะเป็น หรือใช้ความคิดไตร่ตรองอะไรเลย แต่จะทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม นั่นคือตัดสินใจโดยอาศัยอารมณ์ สัญชาตญาณ ทางลัดทางความคิดเพียงไม่กี่อย่าง ซึ่งทางทางลัดเหล่านี้ไม่ใช่การคิดเลขเร็ว แต่เป็นการมองข้ามเรื่องของตัวเลขไปเลยต่างหาก
เมื่อผู้คนถูกท้าให้ทายหัวก้อยและต้องจ่ายเงิน 20 ดอลลาร์หากทายผิด โดยเฉลี่ยแล้วผู้พนันจะเรียกเงินราว 40 ดอลลาร์เป็นรางวัลถ้าทายถูก พูดง่ายๆก็คือพวกเขาต้องการรางวัลเพิ่มเป็น 2 เท่าเพื่อชดเชยให้กับการสูญเสียอันเจ็บปวดนั่นเอง
ทุกวันนี้เป็นที่รู้กันว่า ความเกลียดชังการสูญเสีย มีผลกระทบมากมายหลายอย่าง ความปรารถนาที่จะหลีกเลี่ยงการสูญเสียทุกประเภทมักคอยกำหนดพฤติกรรมและชักนำให้เราทำเรื่องโง่ๆ
ลองดูตลาดหุ้นเป็นตัวอย่างก็ได้ครับ นักเศรษฐศาสตร์ต่างรู้สึกพิศวงกับปรากฏการณ์ที่มีชื่อว่า "ปริศนาการกลัวหุ้น" (equity premium puzzle)
เรื่องของเรื่องก็คือ ในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา หุ้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรมากจนน่าประหลาดใจ ตั้งแต่ปี 1926 ผลตอบแทนรายปีของหุ้นคือ 6.4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 0.5 เปอร์เซ็นต์
ในระยะยาวแล้วพอร์ตที่มีแต่หุ้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าพอร์ตที่มีแต่พันธบัตรเสมอ อันที่จริงแล้วหุ้นมักจะให้ผลตอบแทนได้มากกว่าพันธบัตรถึง 7 เท่าเลยทีเดียว แต่กระนั้นทุกคนยังเลือกที่จะลงทุนกับพันธบัตรซึ่งดูจะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า
นี่เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า ถ้านักลงทุนเป็นพวกที่ทำอะไรตามหลักเหตุผลจริงๆแล้วล่ะก็ ทำไมพวกเขาถึงไม่ลงทุนกับหุ้นทั้งหมด แต่กลับไปซื้อพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนน้อยนิดล่ะ
สิ่งสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปริศนาการกลัวหุ้นได้ก็คือ "ความเกลียดชังการสูญเสีย" นั่นเอง
นักลงทุนทุกคนต่างไม่อยากสูญเงิน และการลงทุนกับพันธบัตรก็เป็นการวางเดิมพันที่ปลอดภัย ดังนั้นแทนที่จะตัดสินใจตามข้อมูลสถิติ พวกเขาจึงทำตามสัญชาตญาณและเสาะหาความมั่นคงจากพันธบัตรแทน
ความกลัวว่าจะสูญเงิน อาจทำให้นักลงทุนเต็มใจยอมรับอัตราค่าตอบแทนที่น้อยนิด
ความเกลียดชังการสูญเสีย ยังช่วยอธิบายความผิดพลาดอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุดในโลกของการลงทุน นั่นคือนักลงทุนมีแนวโน้มที่จะขายหุ้นที่มีมูลค่าสูงขึ้น (แต่ไม่ยอมขายหุ้นที่ขาดทุน) ซึ่งนับว่าน่าเสียดายมากเพราะเท่ากับว่าพวกเขากำลังยึดติดอยู่กับหุ้นที่มีมูลค่าลดลง ในระยะยาวแล้วนั่นเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดเอาเสียเลย เพราะท้ายที่สุด พอร์ตของพวกเขาก็จะมีแต่หุ้นที่เป็นขาลง
แม้แต่ผู้จัดการกองทุนมืออาชีพก็ยังได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์นี้ และมักเก็บหุ้นที่ขาดทุนไว้นานกว่าหุ้นที่ได้กำไร เหตุผลก็เพราะพวกเขากลัวความสูญเสียนั่นเอง มันทำให้พวกเขารู้สึกไม่ดี และการขายหุ้นที่กำลังร่วงก็ทำให้การขาดทุนนั้นดูเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากกว่าเดิม เราพยายามเลี่ยงความเจ็บปวดให้นานที่สุดเท่าที่ทำได้
ความเกลียดชังการสูญเสียยังสามารถทำให้คุณกลายเป็นคนกล้าได้กล้าเสียขึ้นมา เมื่อสมองส่วนอารมณ์ของคุณมองว่าตัวเองเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะคุณทำใจไม่ได้ที่จะต้องสูญเสีย อารมณ์จึงกลายเป็นตัวกัดกร่อนสามัญสำนึกของคุณไปจนหมดสิ้น
ความเกลียดชังการสูญเสียเป็นข้อบกพร่องของมนุษย์ทุกคนครับ ทุกคนรู้สึกถึงอารมณ์ย่อมได้รับผลกระทบของมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เรียกว่า "การจดจ่อกับประสบการณ์อันเลวร้าย" นั่นคือในความคิดของมนุษย์นั้นเรื่องร้ายๆมีอิทธิพลมากกว่าเรื่องดี
วิธีเดียวที่จะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงความเกลียดชังการสูญเสียได้ก็คือ "การรู้เท่าทันมัน" ครับ
ความตื่นตระหนกกับการมีเหตุผล
ความตื่นตระหนกทำให้เรามีความคิดคับแคบลง และสนใจแต่สัญชาตญาณพื้นฐานที่สุดเท่านั้น สัญญาณทั่วไปของอาการตื่นตระหนกคือ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตเพิ่ม และมีการหลั่งสารอะดรีนาลีนมากขึ้น อาการเหล่านี้ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อประสิทธิภาพในการทำภารกิจใดๆก็ตาม
หากเกิดความตื่นตระหนกให้เปลี่ยนไปพึ่งพาการใช้อารมณ์แทน ข้อดีของสมองส่วนอารมณ์ก็คือเราสามารถปล่อยให้มันคิดแทนเราในตอนแรกได้ เราจึงมีเวลาพิจารณาสถานการณ์ตรงหน้า และทำสิ่งที่สมเหตุสมผลที่สุด ขณะที่อารมณ์ของเราให้ความสนใจไปสิ่งที่เกิดตรงหน้า สมองส่วนเหตุผลก็มีเวลาคิดคำนวณความเป็นไปได้ต่างๆมากขึ้น
การควบคุมตัวเองขณะตัดสินใจ เป็นความสามารถอันลี้ลับที่สุดอย่างหนึ่งของสมองมนุษย์ การควบคุมดังกล่าวมีชื่อเรียกว่าการควบคุมเชิงบริหาร(executive control)
เมื่อเราต้องเผชิญกับปัญหาที่ไม่เคยประสบมาก่อน การพยายามยับยั้งความรู้สึกของตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง การทำใจให้นิ่ง เป็นเรื่องยากที่สุดเรื่องหนึ่ง แต่เราต้องทำ
เรารู้ว่าต้องตั้งสติและค่อยๆคิด นั่นไม่ใช่สิ่งที่ทำกันได้ง่ายๆเลย
หากเราไม่จัดระเบียบความคิดของตัวเอง เราก็จะไม่สามารถหาทางแก้ปัญหาได้เลย ข้อมูลมากมายจะทะลักเข้ามาในหัว จนเราไม่อาจรู้ได้ว่าอะไรคือคำตอบที่แท้จริงกันแน่ เราจึงต้องพยายามไม่ให้มีข้อมูลล้นหัวด้วยการเพ่งความสนใจไปยังข้อมูลที่สำคัญที่สุดอย่างรวดเร็ว คิดถึงแต่สิ่งที่ควรคิดในเวลานั้นจะช่วยลดสิ่งที่อาจทำให้ไขว้เขวให้เหลือน้อยที่สุด
ยิ่งเราใช้เวลาไตร่ตรองมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น เพราะการวิเคราะห์เรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างละเอียดรอบคอบ จะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงความผิดพลาดซึ่งเกิดจากความเผลอเรอ และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
การสำลักความคิด
เป็นอาการที่คนกำลังหมกมุ่นครุ่นคิดภายใต้แรงกดดัน สาเหตุของมันคือ ถึงแม้มันจะดูเหมือนกับความล้มเหลวที่เกิดจากการมีอารมณ์ท่วมท้นจนควบคุมไม่อยู่ แต่ความจริงแล้วอาการดังกล่าวถูกกระตุ้นโดยการใช้ความคิดมากเกินไปต่างหาก
เมื่อใครคนหนึ่งรู้สึกกังวลเกี่ยวกับการแสดง เขาก็มักจะเกิดอาการประหม่ามากเป็นพิเศษ โดยจะทบทวนทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องทำเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีอะไรผิดพลาด ซึ่งความครุ่นคิดจะทำให้ความลื่นไหลของสิ่งที่ผู้คนฝึกมาหายวับไปจนหมด
เมื่อผู้คนเกิดอาการสำลักความคิด สมองส่วนที่คอยสอดส่องพฤติกรรมจะเริ่มแทรกแซงการตัดสินใจ ที่ปกติจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
เมื่อมันเริ่มรู้สึกเคลือบแคลงในทักษะต่างๆที่ถูกขัดเกลาจากการฝึกฝนนานหลายปี สิ่งที่ยากที่สุดเกี่ยวกับการสำลักความคิดก็คือ มันมักจะเลวร้ายลงเสมอเมื่อความล้มเหลวเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สถานการณ์ที่ตึงเครียดอยู่แล้วก็ยิ่งจะตึงเครียดกว่าเดิม
การทุ่มเทความคิดจะให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่ากับคนที่เพิ่งเริ่มต้น เพราะเขาจะมีเวลาใคร่ครวญถึงการกระทำของตัวเอง ยิ่งเขาคิดถึงขั้นตอนมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น แต่เมื่อพวกเขาผ่านช่วงเวลานั้นมานานแล้ว สามารถจดจำการเคลื่อนไหวหรือกระบวนการที่สำคัญได้หมดแล้ว การคิดวิเคราะห์แบบมือใหม่หัดขับจะกลายเป็นเรื่องเสียเวลา เพราะสมองรู้แล้วว่าตอนนี้ต้องทำอะไรบ้าง สิ่งที่เขาควรพุ่งเป้าต่อไปก็คือ "ความลื่นไหลหรือความสมดุล" เท่านั้น
สมองของเราเป็นเครื่องจักรที่มีข้อจำกัด และข้อบกพร่องมากมาย นับไม่ถ้วน
ทำไมเราจึงฉุนเฉียวง่ายเมื่อรู้สึกหิวและเหนื่อย เพราะสมองของเราสะกดกลั้นอารมณ์เชิงลบที่เกิดจากความขุ่นเคืองเล็กๆง่ายๆได้น้อยลงนั่นเอง
ยิ่งข้อมูลเยอะ ยิ่งตัดสินใจผิดพลาด
ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 นักจิตวิทยาได้แบ่งนักศึกษาออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรกจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นในพอร์ตโดยไม่รู้ว่าทำไมราคาจึงสูงขึ้นหรือต่ำลง จากนั้นก็ต้องทำการซื้อขายตามข้อมูลที่มีอยู่เพียงน้อยนิด
ในทางตรงกันข้าม, นักศึกษากลุ่มที่สอง กลับได้รับข้อมูลข่าวสารด้านการเงินมากมาย ทั้งข่าวจากช่อง cnbc หนังสือพิมพ์ The Wall Street journal รวมถึงสามารถขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการวิเคราะห์แนวโน้มล่าสุดของตลาดด้วย
แล้วกลุ่มไหนเลือกลงทุนได้ดีกว่ากันล่ะ?
กลายเป็นว่ากลุ่มที่มีข้อมูลน้อยกว่า สามารถทำกำไรได้มากกว่ากลุ่มที่มีข้อมูลพรั่งพร้อมถึง 2 เท่า เหตุผลเพราะว่าเมื่อมีข่าวจำนวนมากมาเบี่ยงเบนความสนใจ นักศึกษาที่มีข้อมูลมากก็จะให้ความสำคัญกับข่าวลือล่าสุด และเรื่องซุบซิบจากวงใน จึงกลายเป็นว่าการมีข้อมูลเหลือเฟือทำให้คนเราใส่ใจน้อยลง
เมื่อได้รับข้อมูลมากๆเข้า นักศึกษาก็จะวุ่นวายอยู่กับการซื้อขายมากกว่ากลุ่มที่มีข้อมูลน้อย พวกเขาเชื่อว่าความรู้ทั้งหมดนี้จะช่วยให้คาดการณ์แนวโน้มของตลาดได้
...แต่พวกเขาคิดผิด
สาเหตุก็คือสมองของเราสามารถรับมือกับข้อมูลได้แค่จำนวนหนึ่งเท่านั้น
หากใครสักคนป้อนข้อมูลใส่สมองแล้วขอให้มันตัดสินใจโดยอาศัยข้อมูลที่ดูเหมือนจะสำคัญ คนคนนั้นกำลังหาเรื่องใส่ตัวแท้ๆ
เขาจะซื้อของผิดชิ้น และเลือกหุ้นผิดตัว
เราทุกคนจำเป็นต้องรู้ถึงข้อบกพร่องที่ติดมากับสมองส่วนนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มันบ่อนทำลายการตัดสินใจของเรา
นี่คืออันตรายของการมีข้อมูลมากเกินไป เพราะมันบิดเบือนความเข้าใจของเราไปโดยสิ้นเชิง หากสมองท่วมท้นไปด้วยข้อมูล เราก็ไม่สามารถทำความเข้าใจสถานการณ์ตรงหน้าได้อีกต่อไป สิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกันถูกเข้าใจผิดว่าเป็นสาเหตุและผลลัพธ์ จากนั้นก็มีการสร้างทฤษฎีเป็นตุเป็นตะจากความบังเอิญที่เกิดขึ้น
สมองของฆาตกรโรคจิต
ฆาตกรโรคจิตจะมีความผิดปกติทางอารมณ์อย่างร้ายแรง เวลาเราดูหนังแล้วได้เห็นตัวละครที่มีสีหน้าหวาดกลัวเรามักจะรู้สึกกลัวโดยอัตโนมัติ แต่คนพวกนี้ไม่เป็นแบบนั้น ดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่เข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ภาวะไร้อารมณ์คือสาเหตุของพฤติกรรมอันตรายของคนเหล่านี้ พวกเขาไม่มีอารมณ์พื้นฐานที่พวกเราใช้เป็นเครื่องชี้นำเมื่อต้องตัดสินใจในเรื่องเกี่ยวกับศีลธรรม เขาไม่สามารถสัมผัสความรู้สึกเสียดายโศกเศร้าหรือเป็นสุขได้ เขาไม่เคยอารมณ์เสียหรือโกรธเปรี้ยวเป็นพิเศษ
เวลาที่คนทั่วไปได้ดูวีดีโอที่มีภาพคนแปลกหน้ากำลังแสดงอาการเจ็บปวด(เช่นเมื่อถูกไฟดูดอย่างรุนแรง) พวกเขาจะมีปฏิกิริยาตอบสนองทางอารมณ์ตามสัญชาตญาณทันที มือทั้งสองข้างจะเริ่มมีเหงื่อซึม ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น แต่ฆาตกรโรคจิตจะไม่รู้สึกอะไรเลย ราวกับว่าพวกเขากำลังมองดูหน้าจออันว่างเปล่าไม่มีผิด
ความมั่นใจแบบผิดๆ
ความมั่นใจทำให้เรารู้สึกดีและสบายใจครับ ความปรารถนาที่จะเป็นฝ่ายถูกอยู่เสมอเป็นผลข้างเคียงอันแสนอันตรายของการที่สมองส่วนต่างๆแข่งขันกันเอง แม้ว่าการมีระบบประสาทที่ทำงานได้หลากหลายจะเป็นประโยชน์มหาศาล เพราะมันทำให้มนุษย์สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้จากหลายแง่หลายมุม แต่มันก็ทำให้เรารู้สึกไม่มั่นใจด้วยเช่นกัน เราไม่รู้เลยว่าควรจะทำตามที่สมองส่วนใดบอกการตัดสินใจ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อสมองของเราประกอบด้วยส่วนต่างๆที่กำลังขับเคี่ยวกันอยู่แบบนี้
ทางเดียวที่จะทำให้เราไม่ถูกความมั่นใจแบบผิดๆครอบงำก็คือ ส่งเสริมความไม่สอดคล้องที่เกิดขึ้นในความคิดของเรา
กล่าวคือเราต้องบังคับตัวเองให้คิดถึงข้อมูลที่อาจทำให้ความเชื่อมั่นของเราสั่นคลอน หากเราเริ่มปิดกั้นข้อมูลที่ขัดแย้งกับสันนิษฐานที่มี เราก็จะลงเอยด้วยการมองข้ามหลักฐานชิ้นสำคัญไป
เวลาที่เราตัดสินใจ จงระงับความต้องการที่จะยุติการโต้เถียงในหัวเอาไว้ แล้วรอรับฟังว่าสมองแต่ละส่วนอยากบอกอะไรกับเรา ความมั่นใจจอมปลอมไม่ทำให้เราตัดสินใจได้ดีหรอกครับ
เจาะสมองเซียนโป๊กเกอร์
ในการเล่นโป๊กเกอร์ สิ่งเดียวที่แยกพวกมืออาชีพ ออกจากมือสมัครเล่นก็คือ "ประสิทธิภาพในการตัดสินใจ"
ไมเคิล บิงเกอร์ เซียนโป๊กเกอร์ บอกว่า "สิ่งแรกที่ผมได้เรียนรู้จากการนับไพ่คือ
๑) แน่นอนว่าคุณต้องดวงดีด้วย แต่ในระยะยาวคุณจะได้เปรียบมากกว่าถ้ามีวิธีคิดคำนวณที่ถูกต้อง
เรื่องที่ ๒ ที่ผมได้เรียนรู้คือ "อย่าทำตัวฉลาดเกินไป" เพราะบรรดาบ่อนคาสิโนมีวิธีสอดส่องการเล่นของคุณอยู่ตลอดเวลา ถ้าคุณถูกจับได้ว่าชนะบ่อยเกินเหตุ ก็จะถูกเชิญออกไป
บางครั้งเราต้องจงใจเล่นเสียบ้าง ยอมสูญเงินบางส่วนเพื่อที่จะได้อยู่รอดในการทำเงินก้อนใหญ่ต่อ"
นักเล่นโปกเกอร์มักจะมีนิสัยที่ชอบทำอะไรซ้ำๆ ความคงเส้นคงวาแบบนี้เป็นเรื่องปกติ พวกเขาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ยึดมั่นกับการทำอะไรซ้ำๆจนเป็นกิจวัตร มืออาชีพบางคนสวมเสื้อกันหนาวตัวเดิมวันแล้ววันเล่าจนเริ่มส่งกลิ่น บ้างก็เริ่มมีพฤติกรรมการกินแบบแปลกประหลาด
บิงเกอร์ก็เช่นกัน มื้อเช้าของเขาจะประกอบไปด้วยขนมปังปิ้งประกบไข่ดาว 1 ฟอง ตามด้วยน้ำส้มแก้วเล็กๆและชาเข้มเข้ม 1 ถ้วย
เขาจะใช้เวลาย่อยประมาณ 10 ถึง 12 นาที จากนั้นก็รีบบึ่งไปโรงยิมออกกำลังกายตามตารางอย่างเคร่งครัด
เขาบอกว่ากิจวัตรทั้งหมดนี้อาจฟังดูประหลาด "แต่เวลาลงแข่งสิ่งสำคัญคือต้องไม่ไขว้เขวไปกับอะไรทั้งนั้น" และห้ามคิดว่าจะสั่งอะไรเป็นอาหารเช้า หรือจะว่ายน้ำกี่รอบ
การทำอะไรซ้ำๆเป็นกิจวัตรทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น ผมเลยคิดแต่เรื่องโป๊กเกอร์ โป๊กเกอร์ และโป๊กเกอร์เท่านั้น
นักโป๊กเกอร์มืออาชีพจะพยายามอ่านคู่ต่อสู้ให้ออก โดยมองหาร่องรอยเล็กน้อยๆของการหลอกลวง เช่น การเดิมพันรอบนี้ตรงกับแบบแผนพฤติกรรมใดบ้างหรือไม่(เช่น ผู้เล่นคนนั้นเล่นแบบขี้ตืด หรือเป็นเจ้าบุญทุ่มตลอดทั้งคืน) แล้วทำไมตาข้างซ้ายของเขาถึงกระตุกล่ะ นั่นเป็นอาการของความกังวลหรือเปล่า แน่นอนว่านักโป๊กเกอร์ที่เก่งที่สุดมักเป็นจอมโกหกที่เก่งที่สุดด้วย พวกเขาทำให้คู่แข่งพลาดด้วยกันลักไก่ หน้านิ่งและวางเดิมพันแบบคาดเดาไม่ได้
คนเหล่านี้รู้ว่าการชนะเกมโป๊กเกอร์นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับไพ่ที่มีอยู่ในมือ แต่ขึ้นอยู่กับว่า "คนอื่นคิดว่าพวกเขามีไพ่อะไรในมือ" ต่างหาก
จริงอยู่ที่โป๊กเกอร์เป็นเกมที่ต้องอาศัยความน่าจะเป็นและทักษะอันละเอียดอ่อน แต่ก็ต้องอาศัยความกล้าได้กล้าเสียด้วยเหมือนกัน ความเอาแน่เอานอนไม่ได้คือเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเกมนี้ มันคือสิ่งที่ทำให้กลยุทธ์ทางจิตวิทยามีความสำคัญมาก เมื่อมันมีความไม่แน่นอนสูง อะไรก็ตามที่ช่วยลดความไม่แน่นอนลงได้ ย่อมได้รับความสนใจ แม้จะเป็นแค่ความรู้สึกที่อยู่ลึกๆก็ตาม ความรู้สึกเหล่านี้แปลออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่มันก็เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์กับการตัดสินใจวางเดิมพัน
โป๊กเกอร์เป็นศาสตร์แต่ก็เป็นศิลป์ด้วย
เราสามารถมองโป๊กเกอร์ได้จากสองแง่มุม
แง่มุมแรกคือด้านคณิตศาสตร์ ไพ่ที่จั่วได้ทุกตานั้น ก็เหมือนกับโจทย์คณิตศาสตร์ ที่ต้องใส่ค่าความน่าจะเป็นลงในสมการอันซับซ้อน หากมองในมุมนี้นักโป้กเกอร์ก็ควรทำตัวมีเหตุผล นั่นคือเราวางเดิมพันในตาที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด และมีโอกาสทำกำไรได้มากที่สุด
ในแง่มุมที่เป็นศิลปะของเกม มันคือทุกๆอย่างที่ไม่สามารถแปลงเป็นตัวเลขได้ มันเป็นการล่อลวงให้คู่ต่อสู้ตกหลุมพราง
ดังนั้นน่ะเก่งที่สุด จึงไม่มองว่าโป๊กเกอร์เป็นโจทย์คณิตศาสตร์ แต่เป็นปริศนาอย่างหนึ่งต่างหาก
อันตรายของการใช้หลักคิดคณิตศาสตร์ก็คือ มันอาจทำให้เราคิดว่าตัวเองรู้เยอะกว่าความเป็นจริง แทนที่จะคิดว่าคนอื่นกำลังทำอะไร เรากลับหมกมุ่นอยู่กับการคำนวณเปอร์เซ็นต์
ขั้นตอนแรกในการไขปริศนาทุกประเภทคือ การเข้าใจว่าวิธีการแก้ปัญหาที่เรียบง่ายนั้นไม่มีอยู่จริง ไม่มีใครรู้ว่าไพ่ใบต่อไปจะออกมาเป็นอะไรหรอกครับ จุดนี้เองที่ความรู้สึกเข้ามามีบทบาทเวลาที่ไม่มีคำตอบชัดเจน
นักโป๊กเกอร์จำเป็นต้องตัดสินใจโดยการใช้สมองส่วนอารมณ์ ดังนั้นความรู้สึกที่อธิบายไม่ได้เกี่ยวกับคู่ต่อสู้และไพ่ในมือ จึงกลายเป็นปัจจัยชี้ขาดในการตัดสินใจ ซึ่งอาจเป็นการตัดสินใจที่ไม่สมบูรณ์แบบ เพราะมีความไม่แน่นอนมากเกินไป แต่ก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว
การใช้เหตุผลเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถไขปริศนาได้
นักโป๊กเกอร์ที่เก่งที่สุดจะต้องรู้ด้วยว่า เวลาไหนที่ไม่ควรใช้หลักคณิตศาสตร์ หัวใจของการเล่นโป๊กเกอร์คือการเข้าใจและยอมรับว่าตัวเลขไม่สามารถอธิบายได้ทุกอย่าง ในสถานการณ์เขาจำเป็นต้องทำตามความรู้สึก ต่อให้ไม่รู้ว่าทำไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
แนวคิดดังกล่าวนี้ทำให้เซียนนักโป๊กเกอร์มองเกมตามความเป็นจริง เขาเลิกทำเหมือนกับว่าโป๊กเกอร์มีสูตรสำเร็จในการเล่น เพราะเกมนี้ทั้งซับซ้อนและคาดเดายากเกินกว่าจะสรุปเป็นสถิติได้ เขาเข้าใจว่าการรับมือกับสถานการณ์ที่หลากหลายต้องอาศัยวิธีคิดที่แตกต่างกัน บางครั้งเขาจึงต้องเล่นโดยดูจากความน่าจะเป็น และบางครั้งต้องเชื่อความรู้สึกตัวเอง
บทเรียนดังกล่าวไม่เพียงใช้ได้ผลกับโป๊กเกอร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงตลาดหุ้นด้วย
ตลาดหุ้นมักถูกนำไปเปรียบเทียบกับเกมส์เสี่ยงโชค(และเช่นเดียวกันกับในคาสิโน โชคอาจมีความสำคัญพอๆกับเหตุผล) ด้วยความคล้ายคลึงดังกล่าว จะเห็นได้ชัดว่าขึ้นเมื่อพูดถึงเรื่องของการตัดสินใจ เพราะแท้จริงแล้วทั้งโป๊กเกอร์และการลงทุนต่างก็เป็นสิ่งที่เอาแน่เอานอนไม่ได้
ผู้เล่นในสนามแข่งขันทั้งสองแบบต่างก็ต้องเดินหน้าลุยทั้งๆที่มีข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่มีใครรู้ว่าตลาดจะตอบสนองอย่างไรต่อข้อมูลทางเศรษฐกิจเช่นล่าสุด ไพ่กองกลางไปสุดท้ายจะออกมาเป็นอะไร ธนาคารกลางจะลดอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสถัดไปหรือไม่ หรือผู้เล่นที่มีชิปกองโตกำลังลักไก่หรือเปล่า
ในสถานการณ์เหล่านี้วิธีเดียวที่ทำให้ประสบความสำเร็จในระยะยาวได้ก็คือ การใช้ระบบสมองทั้งสองแบบให้เหมาะสมกับบริบทแวดล้อม เราจำเป็นต้องใช้ทั้งความคิดและความรู้สึกร่วมกัน
หากเราอยากตัดสินใจการลงทุนอย่างถูกต้อง สมองจำเป็นต้องใช้อารมณ์และเหตุผลควบคู่กันในการวิเคราะห์
นักลงทุนที่ตื่นเต้นเกินเหตุ หรือพยายามพึ่งพาเหตุผลเพียงอย่างเดียว มีแนวโน้มที่จะทำผิดพลาดร้ายแรง
อารมณ์ตอบสนองที่รุนแรงต่อการได้กำไรหรือขาดทุน อาจนำไปสู่ความผิดพลาดได้
แต่ในขณะเดียวกัน, การมีอารมณ์น้อยเกินไปก็อาจเป็นอันตรายได้เหมือนกัน
ดูเหมือนว่านักลงทุนมืออาชีพ จะมีการตอบสนองทางอารมณ์ที่เหมาะสม จะว่าไปแล้ว,นักลงทุนที่เก่งที่สุดก็เหมือนกับนักโป๊กเกอร์ที่เก่งที่สุดนั่นล่ะครับ พวกเขาหาสมดุลระหว่างเหตุผลกับอารมณ์จนพบ และใช้ทั้งสองอย่างเพื่อปรับปรุงข้อเสียของกันและกัน
พวกเขาต้องพยายามควบคุมอารมณ์ของตัวเองอยู่เสมอ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขากำลังใช้เหตุผลเพียงอย่างเดียว ทว่าเขากำลังป้องกันไม่ให้ตัวเองโดนอารมณ์ครอบงำจนทำผิดพลาดต่างหาก
ดังนั้นการหยุดคิดสักสองสามวินาทีเพื่อดูว่าตัวเองกำลังรู้สึกอย่างไร จึงไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรเลย ส่วนใหญ่พวกเขาก็ทำตามสัญชาตญาณนั่นแหละ แต่บางครั้งก็นึกได้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรโง่ๆอยู่เหมือนกัน
คุณต้องพยายามเตือนตัวเองให้เล่นอย่างระมัดระวัง ชิปที่เพิ่งเสียไปอาจกระตุ้นความรู้สึกอย่างหนึ่งซึ่งเกิดจากความเกลียดชังการสูญเสีย จนทำให้คุณอยากได้ชิปคืน และตอนนั้นเองที่คุณจะเสี่ยงในสิ่งที่ไม่ควรเสี่ยง
คุณจะต้องพยายามควบคุมการตัดสินใจในเรื่องของการวางเดิมพันอีกครั้ง พยายามป้องกันไม่ให้ต้องทำผิดพลาดเพราะความหุนหันพลันแล่น ต้องเตือนตัวเองให้เล่นอย่างระมัดระวัง แล้วจดจ่อกับการคำนวณความน่าจะเป็น คุณจะวางเดิมพันหมดหน้าตักไม่ได้ ถ้ามีโอกาสเสียอยู่เต็มประตู
การรู้จักใช้อารมณ์ควบคู่กับเหตุผล ทำให้เขาต้องคิดถึงวิธีคิดของตัวเองตลอดเวลา
ด้วยการที่เขาต้องมีกลยุทธ์หลากหลายให้เลือกใช้ จึงต้องครุ่นคิดอยู่เสมอว่าจะใช้กลยุทธ์ไหนในแต่ละสถานการณ์ ความยืดหยุ่นดังกล่าวเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของการตัดสินใจที่ดี
การมีกลยุทธ์ที่หลากหลาย คือวิธีคิดแบบสุนัขจิ้งจอก มันจะไม่ใช้กลยุทธ์เพียงอย่างเดียวเมื่อถูกคุกคาม แต่จะพลิกแพลงไปเรื่อยๆให้เหมาะกับสถานการณ์ นอกจากนี้สุนัขจิ้งจอกยังเป็นนักล่าจอมเจ้าเล่ห์ ทั้งยังเป็นหนึ่งผู้ล่าไม่กี่รายที่กินเม่นเป็นอาหารด้วย
เม่นคือตัวแทนของนักคิดอีกฝั่งหนึ่ง พวกเขามีแนวโน้มที่จะมั่นอกมั่นใจเกินเหตุ ซึ่งมันทำให้พวกเขาตีความหลักฐานผิดพลาด พอมีหลักฐานบางชิ้นที่ไม่สอดคล้องกับแนวคิดของพวกเขา มันจะถูกมองข้ามไป ความหลากหลายของสมองส่วนต่างๆไม่ถูกดึงมาใช้แก้ปัญหา ข้อมูลที่มีประโยชน์จึงถูกละเลยไปโดยเจตนา และในที่สุดเขาก็จะกลายเป็นผู้แพ้
ผู้เชี่ยวชาญที่ประสบความสำเร็จ มักคิดแบบสุนัขจิ้งจอก ขณะที่เม่นเอาแต่ย้ำคิดย้ำทำเพื่อให้ตัวเองรู้สึกมั่นใจ สุนัขจิ้งจอกกลับพยายามไขข้อข้องใจให้กระจ่าง มันเคลือบแคลงสงสัยในกลยุทธ์ที่ฟังดูยิ่งใหญ่และทฤษฎีครอบจักรวาล ทั้งยังยอมรับความคลุมเครือ และใช้เหตุผลในการหาคำอธิบาย โดยรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง
ผลลัพธ์ก็คือสุนัขจิ้งจอกสามารถทำนายสถานการณ์และตัดสินใจได้ดีกว่า
ผู้เชี่ยวชาญที่คิดแบบสุนัขจิ้งจอกมีแนวโน้มที่จะศึกษากระบวนการตัดสินใจของตัวเองมากกว่า พูดง่ายๆก็คือพวกเขารู้เท่าทันความคิดของตัวเอง การคิดทบทวนแบบนี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของการตัดสินใจที่ดี
คนที่คิดแบบสุนัขจิ้งจอกจะใส่ใจกับเสียงที่กำลังโต้เถียงกันอยู่ในหัว พวกเขาจึงถูกความมั่นใจล่อลวงน้อยกว่า
อ้าแขนรับความไม่แน่นอน
ปัญหายากๆ มักไม่มีทางออกที่ง่ายดายหรอกครับ ไม่มีกลยุทธ์ใดที่ทำให้ผู้เล่นชนะโป๊กเกอร์ได้ 100% และไม่มีอะไรรับรองได้ว่าเราจะทำเงินได้ในตลาดหุ้น
การมองอะไรเรียบง่ายเกินจริงอาจทำให้เราตกหลุมพรางของความมั่นใจ เราจะเชื่อว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกจนมองข้ามหลักฐานทั้งหมดที่ขัดแย้งกับข้อสรุปของตัวเอง
มีเคล็ดลับง่ายๆ ๒ ข้อที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ความมั่นใจเข้ามาขัดขวางการตัดสินใจของเรา
ข้อ๑) ลองพิจารณาสมมติฐานที่ขัดแย้งกับความเชื่อของเรา เมื่อคนเราบังคับตัวเองให้ตีความข้อเท็จจริงผ่านมุมมองที่ต่างจากเดิม(ซึ่งอาจทำให้อึดอัดใจอยู่บ้าง) เรามักจะพบว่าแท้จริงแล้วความเชื่อของเรานั้นตั้งอยู่บนรากฐานที่ง่อนแง่นแค่ไหน
ข้อสอง) จงเตือนตัวเองถึงสิ่งที่เราไม่รู้อยู่เสมอ แม้ว่าคุณกำลังได้เปรียบ แต่ความได้เปรียบนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก คุณจะย่ามใจไม่ได้เด็ดขาด ถ้าคุณลืมว่าตัวเองมีจุดบอด ถ้าคุณลืมว่าตัวเองไม่รู้เลยว่าคนอื่นมีไพ่อะไรบ้างและจะทำอะไรต่อ คุณก็เตรียมตัวเจอเรื่องไม่คาดฝันได้เลย
สมองส่วนอารมณ์นั้นมีประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อเราต้องตัดสินใจเรื่องยากๆ พลังในการคำนวณของมันเป็นเครื่องยืนยันว่าเราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดได้เมื่อต้องประเมินทางเลือกต่างๆที่มี ปริศนาจะถูกวิเคราะห์และแปลงเป็นความรู้สึกที่บอกเราว่าควรทำอย่างไรต่อไป
สาเหตุที่ทำให้อารมณ์เหล่านี้มีประสิทธิภาพก็คือมันเปลี่ยนความผิดพลาดให้เป็นบทเรียนครับ ประสบการณ์ที่ผ่านมาเอื้อประโยชน์ให้เราอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าเราจะไม่รู้ตัวก็ตามสมองของเราเรียนรู้ด้วยวิธีการสั่งสมความเข้าใจจากความผิดพลาดต่างๆ
แถมกระบวนการดังกล่าวไม่มีทางลัดเสียด้วย กว่าใครสักคนจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญได้ ก็ต้องใช้เวลาและการฝึกฝนมหาศาล และเมื่อเรามีความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่งแล้ว สิ่งสำคัญก็คือต้องเชื่ออารมณ์ของตัวเองเมื่อต้องตัดสินใจในเรื่องที่เชี่ยวชาญ เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่ทำหน้าที่เกี่ยวเก็บเกี่ยวความรู้จากประสบการณ์ก็คือความรู้สึก อารมณ์อันละเอียดอ่อนจะบอกให้เราลงมือทำอะไรต่อไป
แต่นั่นไม่ได้แปลว่าสมองส่วนอารมณ์จะเชื่อถือได้เสมอไป เพราะบางครั้งมันก็อ่อนไหวเกินเหตุจนมองเห็นแบบแผนที่ไม่มีอยู่จริง(ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คนเสียเงินมากมายไปกลับตู้สล็อตหรือตลาดหุ้น) แต่สิ่งหนึ่งที่เราควรทำอยู่เสมอก็คือ พิจารณาอารมณ์ของตัวเองและครุ่นคิดว่าทำไมเราจึงรู้สึกเช่นนั้น พูดง่ายๆก็คือจงทำตัวเหมือนกับผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ที่วิเคราะห์ปฏิกิริยาของตัวแทนผู้ชมอย่างรอบคอบ
เพราะแม้แต่ตอนที่เราเลือกที่จะไม่ใส่ใจอารมณ์ของตัวเอง อารมณ์นั้นก็ยังเป็นแหล่งข้อมูลอันล้ำค่าสำหรับผู้อื่นอยู่ดี
คิดเรื่องกระบวนการคิด
เวลาที่ต้องตัดสินใจ จงหาคำตอบให้ได้ว่าคุณกำลังทำการตัดสินใจประเภทไหน และต้องอาศัยกระบวนการตัดสินใจแบบใดบ้าง
วิธีที่สุดในการใช้สมอง ก็คือศึกษาสมองขณะกำลังทำงานและรับฟังเสียงที่กำลังโต้เถียงกันอยู่ในหัวเสมอ
แล้วทำไมการคิดเรื่องกระบวนการคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญนักล่ะ?
ประการแรกมันช่วยให้เราหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่ไม่ควรเกิดขึ้นได้
เราจะหลีกเลี่ยงความเกลียดชังการสูญเสียไม่ได้เลย หากไม่รู้ว่าสมองตอบสนองต่อการได้รับและการสูญเสียอย่างไร
สูตรสำเร็จในการตัดสินใจนะไม่มีจริงหรอกครับจะมีก็แต่ความระมัดระวังและความตั้งใจในการป้องกันความผิดพลาดที่หลีกเลี่ยงได้เท่านั้น
แน่นอนว่า แม้แต่สมองที่ระแวดระวังและรู้จักตัวเองดีที่สุดก็ยังทำผิดพลาดได้ นักโป๊กเกอร์ที่เล่นได้ดีมาโดยตลอดก็ยังวางเดิมพันพลาดไปอย่างน้อยวันละครั้งเสมอ บรรดาผู้เชี่ยวชาญในงานวิจัยก็ทํานายพลาดติดต่อกันหลายครั้ง
อย่างไรก็ตาม คนที่อยากตัดสินใจได้ดีจะไม่ท้อแท้ครับ พวกเขาจะยกความผิดพลาดเป็นครู และมุ่งมั่นเรียนรู้จากข้อบกพร่อง และคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
หากพวกเขาตัดสินใจแตกต่างออกไปเพื่อให้เซลล์ประสาทได้เรียนรู้ นี่แหละครับคือสิ่งน่าอัศจรรย์ที่สุดเกี่ยวกับสมองมนุษย์ มันรู้จักปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอ และในวันพรุ่งนี้เราก็ตัดสินใจได้ดีกว่าเดิม
ใครสนใจหนังสือ ลองไปสอบถามที่ร้านนายอินทร์ดูครับ