นักเทรดคิดว่างานของพวกเขาคือการทำเงิน แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่!

Image
นักเทรดคิดว่างานของพวกเขาคือการทำเงิน แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่! แปลและขยายความจาก  https://x.com/markminervini/status/1850913591630680378 นักเทรดหลายคนมีความเชื่อผิด ๆ ว่า “งาน” หรือสิ่งที่พวกเขาต้องทำคือการทำกำไรให้ได้มากที่สุด ในความจริงแล้ว เป้าหมายของการเทรดคือการทำเงิน แต่งานจริง ๆ ของนักเทรดนั้นคือการปฏิบัติตามและดำเนินกลยุทธ์ที่ได้วางแผนไว้อย่างมีวินัยโดยไม่หลุดออกจากกรอบที่ตั้งไว้ ถ้าคุณสามารถยึดมั่นในกฎการเทรดของตัวเองอย่างต่อเนื่อง ผลลัพธ์ตามมาคือกำไรและความสำเร็จจะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เป้าหมาย vs งานจริงของนักเทรด - เป้าหมาย  คือการทำเงินและสร้างผลตอบแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากได้ แต่สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่คุณสามารถควบคุมได้โดยตรง - งานจริง  ของนักเทรดคือการใช้กลยุทธ์ที่มีโอกาสชนะให้ได้อย่างสม่ำเสมอและมีวินัย ยึดมั่นในแผนการเทรดที่ตั้งไว้ การทำตามกฎของตัวเองอย่างเคร่งครัดจะช่วยให้คุณจัดการกับความเสี่ยงและลดโอกาสขาดทุนได้ ทำไมวินัยจึงสำคัญในงานของนักเทรด การมีวินัยเป็นสิ่งที่ช่วยให้การเทรดมีความมั่นคงและปลอดภัยมากขึ้น การไม่มีวินัยในการเทรดจะทำให้นักเทรดเกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด

สรุปหนังสือหุ้น Trading in the zone (โซนแห่งเทรดเดอร์)


อ่านไปอ่านมานึกว่าเป็นหนังสือธรรมะซะงั้น ยาวมากนะบอกไว้ก่อน
แต่ก็น่าจะเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุดแล้ว
เพราะเทรดเดอร์ทุกคนต้องเจอกับความผิดพลาด เช่น เข้าเทรดก่อนสัญญาณ, ไม่กล้าตัดขาดทุนตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้ยิ่งเสียหายหนักหนากว่าเดิม, ปล่อยกำไรให้กลายเป็นขาดทุน, คัทแล้วเด้ง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความผิดของตลาด เพราะมันก็แกว่งขึ้นลงของมันอยู่อย่างนั้นเอง เราต่างหากที่ตีความเพื่อตัดสินว่าเป็นโอกาสหรือตอบสนองกับมัน
ถ้าเป้าหมายของคุณคือการเทรดให้ได้อย่างมืออาชีพและกลายเป็นผู้ชนะที่สม่ำเสมอ คุณต้องเริ่มต้นจากสมมุติฐานว่าวิธีแก้ปัญหานั้นอยู่ที่ "จิตใจของคุณ" ไม่ใช่ "ตลาด"


โซน คืออะไร?
ผู้เขียนบอกว่า มันคือสภาวะที่ไร้ซึ่งความกลัว จิตปลอดโปร่ง สามารถทำและตอบสนองด้วยสัญชาติญาณ ไม่ชั่งน้ำหนักทางเลือกต่างๆหรือคิดถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามมา
ถ้าเราอยู่ในโซนแล้ว, มีสิ่งเดียวที่ต้องทำ ก็คือ "ลงมือทำ" อะไรก็ตามที่เราทำลงไปจะปรากฎออกมาว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำอย่างแท้จริง

เหตุผลที่คนส่วนใหญ่ไม่อาจเข้ามาเทรดในโซนได้ก็คือพวกเขาไม่อาจก้าวข้าม "ความกลัว" ที่จะทำความผิดพลาด  ใครก็ตามที่มาถึงจุดที่ปราศจากความกลัวอย่างสิ้นเชิง ก็จะเข้าไปอยู่ภานใน "โซน" อย่างเป็นธรรมชาติ คือจะตั้งใจเข้าไปก็ไม่ได้ อารมณ์ประมาณห้วงภวังค์ ที่ซึ่งเราอยู่ในภาวะที่มีความคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นธรรมชาติและโดยทั่วไปแล้วถ้าเราเริ่มต้นคิดเกี่ยวกับการกระทำของตัวเองในระดับของการใช้เหตุผลหรือในระดับจิตสำนึกเมื่อใด เราก็จะเด้งหลุดออกมาจากมันมาในทันที

อ่านถึงตอนนี้, ถ้าจะใช้ภาษาบ้านเรามาอธิบายคำว่า "โซน" ก็น่าจะมีความหมายคล้ายกับการทำ "สมาธิ" เลย เพราะหลักการเบื้องต้นของการนั่งสมาธิคือการปล่อยวาง ไม่คิด ถ้าเกิดความคิดผุดขึ้นมาก็ให้รู้ว่าเกิด แต่ไม่เข้าไปปรุงแต่ง ปล่อยให้ผ่านไป เพ่งจุดเดียวคือลมหายใจเข้าออก
ดังนั้นผมจึงตีความเอาเองว่า "โซน" มันคือการเข้า "สมาธิ" ในการกระทำนั่นเองแหละ


ตลาด
จุดประสงค์ของตลาดก็คือการเอาเงินของคุณออกไปจากคุณ แต่ในระหว่างกระบวนการนั้นมันก็ยังมอบกระแสแห่งโอกาสที่ไม่มีวันสิ้นสุดให้กับคุณเพื่อที่คุณจะเอาเงินออกจากมันได้อีกด้วย

ผู้เขียนบอกว่า "ตลาดมันคาดเดาอะไรไม่ได้เลย" มันก็วิ่งขึ้นๆลงๆของมันอยู่อย่างนั้นแหละ(เหมือนจิตของเรามั้ย?)
เราจึงไม่สามารถคาดหวังว่าตลาดต้องมอบอะไรให้กับเรา หนำซ้ำยังไม่สามารถควบคุมตลาดได้อย่างแน่นอน สิ่งเดียวที่เราทำได้คือ "เรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเอง" แทน จากนั้นเราจึงจะสามารถรับรู้ข้อมูลต่างๆในมุมมองที่ตรงกับความเป็นจริงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ด้วยความที่มัน "คาดเดาไม่ได้เลย" การฝืนต่อต้านหรือยื้อให้มันเป็นไปตามใจเราต้องการทีแต่จะทุกข์ แต่ให้เข้าไปอยู่ในกระแสของตลาด ทำตัวให้เป็นหนึ่งเดียวกับกระแสนั้น ขณะเดียวกันก็สังเกตุหาโอกาสที่ตลาดมอบให้เพื่อทำเงิน อย่าไปเพ่งไปโน้มน้าวให้ตลาดวิ่งไปตามทางที่เราต้องการ ได้ตังค์ก็คือได้ ผิดทางก็คัท เล่นหุ้นมันก็มีได้มีเสียอยู่ตลอด ไม่โทษตลาดใดๆทั้งสิ้น ทุกอย่างอยู่ในมือของเราเอง เราเลือกที่จะเทรดตามโอกาสที่เราเห็นเท่านั้น ตั้งจุดเข้าจุดออกไว้ก่อนเข้าเทรด เพราะการเทรดแต่ละครั้งเป็นเหตุการณ์เฉพาะตัวซึ่งมีผลลัพธ์ไม่แน่นอน เมื่อตลาดวิ่งไปถึงระดับใดก็ตามที่เราตั้งไว้ก็ออก ทำได้แบบนี้จะมีความสุข ไม่กลัว ไม่แค้น ไม่ฝืน เอาเท่าที่ได้


ความกลัว
มีความกลัวหลักๆ 4 อย่าง ที่อยู่ในการเทรด
กลัวเป็นคนผิด, กลัวเสียเงิน, กลัวพลาดโอกาส และกลัวกำไรหาย
ทั้งสี่กลัวนี้ โดยเฉพาะกลัวขาดทุนกับกลัวผิดพลาด มันเป็นความจริงที่ไม่อาจเลี่ยง เทรดเดอร์ทุกคนต้องเผชิญกับมัน เปรียบเหมือนในชีวิตจริงของเรานั้น เราหนีไม่พ้น "ความทุกข์" ฉันใด เทรดเดอร์ก็หนีไม่พ้น การ "ขาดทุนและผิดพลาด" ไปได้ฉันนั้น

ให้ศึกษาตัวละคร 2 กลุ่ม คือ เทรดเดอร์เก่ง(ที่ทำกำไรได้อย่างสม่ำเสมอ) กับเทรดเดอร์ทั่วไป(ที่ได้กำไรบ้างแต่ส่วนใหญ่ขาดทุน) ว่าพวกเขามีปฏิกริยาอย่างไรต่อความกลัว

เทรดเดอร์เก่งๆนั้น "ไม่กลัว" ที่เขาไม่หวั่นไหวก็เพราะเขาได้พัฒนาทัศนคติที่มอบความยืดหยุ่นทางจิตใจในระดับสูงที่สุดทั้งการเข้าและออกจากการเทรด อีกทั้งยังได้พัฒนาทัศนคติที่ป้องกันตัวจากความประมาท
พวกเขามีโครงสร้างทางจิตใจที่สามารถเทรดได้โดยปราศจากความกลัว ในขณะเดียวกันก็ป้องกันตัวจากความรู้สึกประมาทและความผิดพลาดที่มีสาเหตุมาจากความกลัว
เมื่อไม่มีความกลัว จึงสามารถเข้าไปเทรดได้โดยไม่มีการโต้แย้งหรือขัดแย้งจากภายใน

ทำไมเทรดเดอร์เก่งๆจึงไม่กลัว?
1) เริ่มต้นจาก ความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองทำ
ยึดทัศนคติที่ว่า "เขาเป็นคนรับผิดชอบอย่างสมบูรณ์สำหรับความสำเร็จหรือล้มเหลวในฐานะเทรดเดอร์ ไม่ใช่ตลาด ยอมรับให้ได้ว่าจุดประสงค์ของตลาดก็คือเอาเงินไปจากเขา แต่ในระหว่างกระบวนการนั้น-ตลาดก็ยังมอบกระแสแห่งโอกาสที่ไม่มีวันสิ้นสุดให้เขา-เพื่อที่เขาจะเอาเงินออกจากมันอีกด้วย

2) ต่อมาคือ-การกล้ายอมรับความเสี่ยง
เรียนรู้ที่จะยอมรับความเสี่ยง คือหัวใจ ของธุรกิจการเทรด
การเทรดเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยง ไม่มีการเทรดครั้งใดที่สามารถรับรองผลที่จะออกมาได้ เพราะฉะนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะกำไรและขาดทุนอยู่เสมอ เมื่อคุณเข้าเทรดต้องยอมรับความเสี่ยงนี้ให้ได้ก่อน
เทรดเดอร์ที่เก่งสุด ไม่ได้เป็นเพียงผู้รับความเสี่ยงเท่านั้น ยังพร้อมอ้าแขนรับมันอีกด้วย
เมื่อใดก็ตามที่คุณยอมรับความเสี่ยงที่มีอยู่ในการเทรดแต่ละครั้งได้อย่างสมบูรณ์ มันก็จะส่งผลอย่างมหาศาลกับผลงานในการเทรดของคุณ

พวกเขาเข้าเทรดโดยไม่มีความขัดแย้งในตัวเองแม้แต่นิดเดียว หากไม่ได้ผลก็สามารถยอมรับได้โดยปราศจากความลังเล สามารถออกจากการเทรดได้ทันที แม้จะขาดทุนก็ตาม
ความเสี่ยงที่มีอยู่ในการเทรดนั้นไม่สามารถทำให้เทรดเดอร์ที่เก่งสุด-สูญเสียวินัย ความมุ่งเน้น หรือความรู้สึกมั่นใจของพวกเขาได้เลย

เมื่อคุณบรรลุในเรื่องการยอมรับความเสี่ยงได้แล้ว ตลาดก็จะไม่สามารถสร้างข้อมูลใดๆที่คุณจะให้คำจำกัดความหรือแปลความหมายว่าเป็นความเจ็บปวดได้ ดังนั้น,มันจึงไม่มีอะไรที่จะต้องหลีกเลี่ยง มันก็เป็นเพียงแค่ข้อมูลที่กำลังบอกคุณว่าความเป็นไปได้คืออะไร
นี่คือสิ่งที่เรียกว่า "การรับรู้อย่างไม่มีอคติ"

เมื่อคุณยอมรับความเสี่ยงได้ในแบบที่มืออาชีพทำ คุณจะไม่รับรู้อะไรก็ตามที่ตลาดทำ-ว่าเป็นการคุกคาม ถ้าไม่มีสิ่งใดที่เป็นการคุกคาม มันก็ไม่มีอะไรที่จะต้องกลัว ถ้าคุณไม่กลัว ก็ไม้ต้องการความกล้าหาญ
คุณจะมองตลาดจากมุมที่ปราศจากอคติโดยปราศจากการบิดเบือน

การบริหารความเสี่ยง
เทรดเดอร์ที่เก่งจะกำหนดความเสี่ยงของพวกเขาไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะเข้าไปเทรดเสมอ เฉพาะเทรดเดอร์ที่เก่งที่สุดเท่านั้นที่ตัดขาดทุนได้โดยปราศจากข้อแม้หรือการลังเลในเวลาที่ตลาดบอกพวกเขาว่าการเทรดนั้นไม่ได้ผล และเฉพาะเทรดเดอร์ที่เก่งเท่านั้นที่มีเกณฑ์ในการบริหารการเงินอย่างเป็นระบบสำหรับการขายทำกำไรในตอนที่ตลาดวิ่งไปในทิศทางเดียวกับการเทรดของพวกเขา

3)  เตรียมตัวให้พร้อม
เพื่อที่จะใช้ความได้เปรียบจากโอกาสใดๆ ก็ตามที่ตลาดจะนำเสนอให้ในขณะใดขณะหนึ่ง ด้วยมุมมองในแบบที่เตรียมตัวเองให้พร้อม เขารู้ว่าความได้เปรียบจะนำโอกาสที่จะประสบความสำเร็จให้โอนเอียงมาหา แต่ในขณะเดียวกันก็จะยอมรับอย่างสมบูรณ์ในความจริงที่ว่าเขาไม่รู้ผลลัพธ์ของการเทรดในแต่ละครั้งว่าจะออกมาเป็นเช่นไร แต่ด้วยการเตรียมตัวเองให้พร้อม ทำให้เต็มใจเปิดใจเพื่อที่จะค้นหาว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป ทำให้ความสามารถในการรับรู้ถึงโอกาสใดๆก็ตามที่ตลาดสร้างขึ้นมา

4)  เชื่อว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้
ความเชื่อในการเทรดที่มีประสิทธิภาพและนำไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุดเท่าที่เขาจะสามารถมีได้ก็คือ "อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้" เมื่อเชื่อเช่นนี้แล้ว, มันก็ไม่มีอะไรสำหรับจิตใจของเขาที่จะต้องไปหลีกเลี่ยง เพราะคำว่า "อะไร" ที่ว่านั้น-รวมไปถึงทุกๆอย่าง ความเชื่อเช่นนี้จะทำหน้าที่เป็นแรงที่ขยายตัว ซึ่งส่งผลต่อการรับรู้ของเขาต่อตลาดในแบบที่จะทำให้เขาสามารถรับรู้ข้อมูลที่ลึกลงไปอีกชั้น ทำให้สามารถรับรู้ความเป็นไปได้ต่างๆที่มากขึ้นกว่าเดิมจากมุมมองของตลาด

ความลับในธรรมชาติของการเทรดของเทรดเดอร์เก่ง
๑. เทรดโดยปราศจากความกลัวหรือความมั่นใจที่มากเกินไป
๒. รับรู้ในสิ่งที่ตลาดกำลังนำเสนอจากมุมมองของมัน
๓. คงความมุ่งเน้นอย่างสมบูรณ์ได้ใน "กระแสแห่งโอกาสชั่วขณะ"
๔. ก้าวไปใน "โซน"(สภาวะที่จิตใจของเขากับตลาดสอดคล้องกัน) ได้อย่างเป็นธรรมชาติ


เทรดเดอร์ทั่วไปกับความกลัว
ไม่ต้องเดาเราก็รู้เลยว่า - นักเทรดทั่วไปไม่ยอมปล่อยความกลัว พวกเขายึดพวกเขากอดความหวาดหวั่นเอาไว้แน่น ยึดในแบบที่ว่า "ฉันจะต้องไม่ขาดทุน ฉันจะต้องไม่ผิด"

ปัญหาก็เกิดสิ เมื่อเทรดเดอร์ทั่วไป เข้ามาเล่นหุ้นด้วยเป้าหมายเดียวกันทุกคน คือ "โกยเงินจากตลาด" เนื่องจากความรู้เกี่ยวกับตลาดที่พวกเขาได้รับจากหนังสือและสื่อต่างๆคือเรื่องราวของผู้ที่ประสบความสำเร็จโกยเงินจากตลาดจนร่ำรวย ด้วยวิธีที่ไม่ยากอะไรเลย

พวกเขาหวังเต็มที่ว่าตลาดแจกเงินให้ ต้องการให้ตลาดช่วยเติมเต็มความคาดหมาย ความหวัง และความฝันของพวกเขา เมื่อโยนความรับผิดชอบให้ตลาดช่วยมอบเงินหรือตัดขาดทุนให้ ตลาดก็จะกลายเป็นข้าศึกหรือศัตรูได้อย่างง่ายดาย เพราะการขาดทุนจะผลักพวกเขาให้เข้าไปสู่ความเจ็บปวด ความโกรธ ความขุ่นเคือง และรู้สึกว่าตัวเองไร้อำนาจ

การตอบสนองต่อตลาดของพวกเขาก็คือ "การแก้แค้น" ซึ่งก็มีวิธีเดียวในครรลองของการเทรดก็คือ "การเอาชนะตลาด" โดยการ "หาความรู้เกี่ยวกับตลาด" เพื่อปกป้องไม่ให้ตลาดทำร้ายพวกเขาได้อีก

เขาจะหาความรู้เพิ่มต่อไปเรื่อยๆ คอร์สความรู้หรือโปรแกรมอะไรที่ใหม่ๆก็ต้องลงเรียน โดยหวังใจอย่างยิ่งว่ามันจะช่วยให้เขาเอาชนะตลาดได้

แต่เมื่อความรู้เพิ่มขึ้นมากๆ ก็เกิดปัญหาในการตัดสินใจในการเข้าเทรด เพราะเครื่องมือขัดแย้งกัน ส่งผลให้ลังเล สงสัยในการตัดสินใจของตัวเอง หนักกว่านั้นคือไม่กล้าลงมือเทรดจริงๆ เพราะกลัวพลาด

การพยายามจะไม่ทำอะไรให้พลาดเลย-ก็จะยิ่งพลาดมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งจำเป็นต้องชนะก็จะขาดความอดทนต่อข้อมูลที่รอบด้านตามมา

เพราะความที่ตลาดมีตัวแปรเยอะมาก บ่อยครั้งก็ขัดแย้งกันเอง ยิ่งกว่านั้นมันยังสามารถบ้าคลั่งได้อย่างไม่มีขีดจำกัดอีกด้วย เมื่อตลาดมัน "คาดเดาไม่ได้เลย" แบบนี้ เทรดเดอร์ก็เลยมีโอกาสเงียเงินได้ทุกดอก ถ้ามัวแต่กลัวว่าต้องเป็นคนผิดหรือเสียเงิน ในไม่ช้าเราก็ต้องเสียเซลฟ์ ขาดความมั่นใจเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น

เทรดเดอร์ทั่วไปกับการบริหารความเสี่ยง
เทรดเดอร์ทั่วไปจะไม่กำหนดความเสี่ยงของพวกเขาล่วงหน้าก่อนที่จะเข้าเทรด ก็เพราะว่าเขาไม่เชื่อว่ามันเป็นสิ่งจำเป็น ที่ชื่อว่า "มันไม่ใช่เรื่องที่จำเป็น" ก็คือเขาเชื่อว่าเขารู้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นต่อไป เหตุผลที่เขาเชื่อว่าเขารู้ก็เพราะว่าเขาจะไม่เข้าไปทำการเทรดจนกว่าจะมั่นใจว่าการเทรดนั้นจะออกมาเป็นฝ่ายถูก ณ จุดที่เขามั่นใจว่าการเทรดนั้นจะออกมาเป็นชัยชนะ มันจึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปที่จะต้องกำหนดความเสี่ยง(เพราะถ้าเขาถูก มันก็จะไม่มีความเสี่ยง)

ดังนั้น,ถึงแม้ก่อนเข้าเทรด พวกเขาจะตั้งจุด stop loss เอาไว้ก็ตาม แต่ด้วยกลัวเป็นคนผิด, กลัวเสียเงิน, กลัวพลาดโอกาส และกลัวกำไรหาย ก็จะมีน้ำหนักถ่วงการตัดสินใจให้ละเลยการทำตามวินัยนั้น ส่งผลให้ความเสียหายที่เคยมีน้อยนิด ก็สะสมพอกพูนจนกลายเป็นเนื้อร้ายกัดกินเงินต้นของพวกเขาไปจนแทบไม่เหลือ

ในการเทรดนั้น, ไม่มีใครที่จะมาบังคับให้คุณต้องตัดสินใจล่วงหน้าว่าความเสี่ยงของคุณคือเท่าไร ผู้ที่ชนะอย่างสม่ำเสมอจะกำหนดความเสี่ยงของตัวเองก่อนเข้าเทรด แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้กำหนด-เพราะพวกเขามองว่าการกำหนดความเสี่ยงล่วงหน้าจะบังคับให้พวกเขาต้องเผชิญความจริงว่าการเทรดในแต่ละครั้งนั้นมีผลลัพธ์ที่เป็นไปได้หลายอย่าง ซึ่งมันสามารถออกมาเป็นการขาดทุนก็ได้ ผู้แพ้อย่างต่อเนื่องจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงการยอมรับความจริงว่าเขามีโอกาสขาดทุนได้(ซึ่งเขาเชื่อมาโดยตลอดว่าต้องกำไรเท่านั้น-การกำหนดความเสี่ยงจึงไม่จำเป็นสำหรับพวกเขา)


ถ้าชอบบทความแบบนี้
ยังมีบทความอีกร่วม ๆ 600 บท ให้อ่านครับ

หากต้องการศึกษาวิธีเล่นหุ้น แนะนำให้ไปอ่านบทความฟรี คลิปฟรีที่นี่ก่อนก็ได้
เรียนเล่นหุ้น เรียนเทรด forex จิตวิทยาการเทรด มือใหม่เล่นหุ้น
คลิกลิ้งนี้ครับ https://www.zyo71.com/p/index.html เป็นสารบัญเว็บนี้ครับ

และก็ยังมีคลิปที่อัพเดททุกวัน เกี่ยวกับจิตวิทยานักเทรด
ดูได้ที่ช่อง www.youtube.com/channel/UCTDoP5zRI4hRETT_2SSlPag
คลังความรู้หุ้น การเทรด ที่ดูฟรี อ่านฟรีครับ 

7 บทความยอดนิยมในรอบ 30 วันที่ผ่านมา

(มือใหม่เล่นหุ้น) Wyckoff Logic ของดีที่เม่ามือใหม่เอาไปใช้ได้ง่ายๆ

คำคมเกี่ยวกับเคล็ดวิชาจากหนังเรื่อง กังฟูแพนด้า

VCP (Volatility Contraction Pattern) และรูปแบบที่คล้ายกัน

รวมแนวทางการนับคลื่นจากเซียน Elliott Wave

Setup เงินล้านของ Kristjan Kullamägi

จิตวิทยา การวิเคราะห์และใช้งาน แท่งเทียน Doji

วิธีการอ่านสัญญาณแท่งเทียน (Candlesticks Reading) สำหรับมือใหม่