คุณต้องเรียนรู้วิธีการเป็นผู้จัดการความเสี่ยงที่ยอดเยี่ยม

Image
พี่มาร์ค มิเนอร์วินี กล่าวว่า “หากคุณต้องการสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอ คุณต้องเรียนรู้วิธีการเป็นผู้จัดการความเสี่ยงที่ยอดเยี่ยม” การเป็นนักเทรดที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีอย่างสม่ำเสมอไม่ได้หมายถึงการชนะทุกครั้งที่คุณเข้าเทรด แต่หมายถึงการมีวิธีการจัดการความเสี่ยงอย่างชาญฉลาดเพื่อให้คุณสามารถปกป้องทุนของคุณและเพิ่มโอกาสในการเติบโตของพอร์ตการลงทุนในระยะยาว  นี่คือการขยายความแนวคิดที่ว่า "การเป็นผู้จัดการความเสี่ยงที่ยอดเยี่ยม" สำคัญอย่างไร: eBook "Risk Management: การบริหารจัดการความเสี่ยงเบื้องต้นสำหรับนักเทรด" มีจำหน่ายที่แอพ Meb เท่านั้น  https://t.co/YaO0CIQq8J 1. ความเสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของการเทรด ในตลาดการเงิน ไม่มีใครสามารถควบคุมผลลัพธ์ของแต่ละการเทรดได้ การเคลื่อนไหวของตลาดขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก เช่น ข่าวเศรษฐกิจ หรือพฤติกรรมของผู้เล่นในตลาด ซึ่งมักเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ความสำเร็จจึงไม่ได้มาจากการ "เดาถูก" แต่เป็นการรู้วิธีจัดการความเสี่ยงเมื่อคุณ "เดาผิด" ตัวอย่าง:   สมมติว่าคุณมีเงินทุน 100,000 บาท หากคุณใช้เงินทั้งหมดในการเ

กว่าจะเป็นเซียนหุ้น (4 Stages of Trader Development)


ไม่รู้ว่านักเทรดส่วนใหญ่จะสงสัยเหมือนกับผมหรือเปล่านะ? ผมมักจะอยากรู้เสมอว่ากว่าจะเป็นเซียนหุ้น ต้องผ่านอะไรมาบ้าง มีอะไรมั้ยที่บ่งบอกว่าคุณเป็นเทรดเดอร์ระดับนี้ระดับนั้นแล้ว แบบนี้จะเป็นเทพได้หรือยัง?

ก็เลยลองค้นบทความของฝรั่งจาก google ก็เห็นบางบทความที่เขียนให้อ่านเข้าใจง่าย จึงลองแปลเอามาแชร์กัน ก็ออกตัวไว้ก่อนนะว่านี่เป็นมุมมองของฝรั่ง บ้านเราอาจไม่ต้องใช้เวลาขนาดนั้นก็ได้ เพราะเห็นหลายท่านใช้เวลาเทรดไม่กี่เดือนก็เป็นเซียนกันแล้ว

ดังนั้นบทความนี้เป็น FYI หรือ for your information หรือ เรียนมาเพื่อให้ท่านทราบเท่านั้นครับ


The 4 Stages of Trader Development

เส้นทางของการเป็นนักเทรดชั้นเซียน ๔ ขั้นตอน 


ตลอดอาชีพการเทรด, ผมให้ความสนใจเรื่องจิตวิทยาการเทรดอยู่เสมอ เชื่อว่ามันเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับการเทรดให้ประสบความสำเร็จ เราสามารถหาไอเดีย/กลยุทธ์การเทรด, money management ได้ทุกที่(เว็บไซต์,หนังสือ,เพจ,การสัมนา,ไลน์กลุ่ม ฯลฯ) นักเทรดสามารถเรียนรู้และสอบทฤษฎีได้เกรด 4 ไม่ยาก แต่พอเทรดจริง,พวกเขากลับล้มเหลวเนื่องจากขาดข้อมูลที่จำเป็น(หรือได้ข้อมูลผิด - นี่แหละปัญหาใหญ่) แถมยังขาดวิจารณญาณ ขาดวินัย ขาดความอดทน หรือลักษณะนิสัยที่คนส่วนใหญ่ตกหลุมพรางของจิตวิทยาการเทรด

Robert Greene - ผู้เชียวชาญทางการเทรด ได้ให้คำอธิบายรายละเอียดเส้นทางการเรียนรู้เพื่อให้พัฒนาเป็นเซียนหุ้นนั้น ต้องใช้เวลาประมาณ ๗ ปี คุณอาจจะทำกำไรได้ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ แต่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๗ ปี เพื่อให้ทุกอย่างลงตัว ซึ่งมันก็สอดคล้องกับงานวิจัยที่ Malcolm Gladwell เอามาเขียนหนังสือ Outliers ที่ว่าต้องใช้เวลา 10,000 ชั่วโมง เพื่อให้บรรลุถึงความเชียวชาญในสาขานั้น (ซึ่งต้องใช้เวลา ๕ - ๖ ปี ถ้าทำงานเต็มเวลา)

แน่นอนว่า ไม่เสมอไปว่าต้องใช้เวลานานถึง ๗ ปี บางคนแค่เทรดปีเดียว(ถ้าเจอก็รีบไปกราบเป็นอาจารย์เลยนะครับ)ก็อาจจะเป็นเซียนแล้วก็ได้ ในทางกลับกัน บางคนเทรดมาแล้ว ๑๐ ปี ยังไปไม่ถึงไหนก็มีถม

ประเด็นก็คือว่า นักเทรดส่วนใหญ่มักจะคิดผิดตั้งแต่ต้นว่าพวกเขาเป็นเทรดเดอร์ที่เก่งเกินความเป็นจริง(พออ่านหนังสือจบ ก็คิดว่าตัวเองเทพแล้ว มั่นใจว่าเงิน ๑ ล้านจะแปรเป็นเงิน ๑๐๐ ล้านภายในเวลาไม่เกิน ๕ ปี) เพราะความไม่เจียมตัวแบบนี้เองที่มันเป็นตัวผลัก/ถีบให้ขาดทุนยับเยินในช่วงเวลาสั้นๆตั้งแต่เริ่มเทรด(ยังไม่ได้วิ่งเลย ก็สะดุดขาตัวเองล้มคะมำเสียแล้ว)


ตามที่ระบุไว้เลยครับ, คุณจะทำเงินได้จากตลาดอย่างมั่นคงและยั่งยืนก็ต่อเมื่อคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือเซียนหุ้นแล้วเท่านั้น

ซึ่งโดยปกติแล้ว เท่าที่เจอมา นักเทรดมักจะใช้เวลาลองผิดลองถูกเป็นปี กว่าจะสามารถทำกำไรได้สักครั้ง ซึ่งจากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง เขาได้ใช้เวลาในตลาดมานาน ก็ได้รวบรวมและทำความเข้าใจจนตกผลึกได้แนวทางการพัฒนานักเทรดจากเม่าจนกลายเป็นเซียน ๔ ระยะ ซึ่งมันเป็นไปได้-แต่คุณต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง - เพื่อให้คะแนนสมรรถภาพของตัวเองว่าอยู่ในระยะไหนแล้ว และจากนี้ไปคุณควรให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรต่อไป(และมากแค่ไหนด้วย)

ตอนนี้แค่คุณเข้าใจและยอมรับว่าตัวเองอยู่ในระยะไหน ก็สามารถเพิ่มสปีดในการพัฒนาตัวเองให้ก้าวไปเป็นเทรดเดอร์ผู้เชียวชาญได้ง่ายขึ้นด้วยการหลีกเลี่ยงหลุมพรางข้อผิดพลาดทั่วไปได้

ขั้นตอน ๔ ระยะต่อไปนี้ มันมีรากฐานมาจากจิตวิทยาทั่วไปและความสามารถของมนุษย์ในการเรียนรู้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน, การรวบรวมความรู้, และความพยายามเอาชนะความท้าทายทางจิตใจมากมายจนสามารถเข้าใจและควบคุมมันได้
ลองศึกษาขั้นตอน ๔ ระยะนี้เพื่อใช้เป็นตัววัดพัฒนาการของคุณ


ขั้นที่ ๑ : (หลงผิด) คิดไปเองว่าตัวเก่ง
นี่เป็นจุดเริ่มต้นครับ นักเทรดหน้าใหม่ มักจะไม่รู้เดียงสาว่าตัวเองนั้นไม่ได้รู้อะไรเลยเกี่ยวกับตลาดหุ้น มันเป็นช่วงเวลาที่อันตรายมาก ตัวคุณถูกขับเคลื่อนด้วยแรงกระตุ้น(อยากรวยเร็ว)และความเชื่อส่วนบุคคล(ฉันอ่านมาเยอะ ฉันสมควรได้กำไร) เพราะเราอ่านบทความเกี่ยวกับกลยุทธ์มามากมายนับร้อยพันบทความ อ่านหนังสือเกือบร้อยเล่มทั้งไทยและเทศ อ่านจบแล้วก็รู้สึกว่ามันยอดมาก ยิ่งอ่านหลายรอบก็ยิ่งมั่นใจว่ามันไม่ยากอะไรเลยนี่นา เครื่องร้อนอยากเทรดทันที

ว่าแล้วก็ตัดสินใจเปิดพอร์ตลงทุนทันที เอาเงินเก็บจำนวนหนึ่งไปเทรด และจ่ายค่าเทอม
และถ้าบางคนรอบคอบก็อาจจะเสียเงินปลอมๆจากการเทรดกระดาษ

ในระยะนี้เรารู้แล้วว่า การเทรดยังมีอะไรมากกว่านี้เยอะ นอกเหนือจากการอ่านและทำตามตำรา เรายังต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอีกมหาศาล(ระยะที่ ๒) ถ้าอยากจะไปต่อ เป็นเทรดเดอร์ที่ดีกว่านี้

ระยะที่ ๑ นี้, ยังคงเป็นสภาวะของ "การเทรดแบบงานอดิเรก" (ต้นฉบับเขาเรียกว่า trading voyeur ครับ ถ้าจะแปลตรงๆก็คือ การเทรดแบบถ้ำมอง ซึ่งมันไม่น่าจะใช่ถ้าหากแปลตรงตัว) นักเทรดมือใหม่เหล่านี้มักจะเทรดไม่เยอะ(หรือบ่อยก็ได้) อ่านข่าวธุรกิจ, พูดคุยเกี่ยวกับการเทรด, พยายามติดตามเพจต่างๆเพื่อแสวงหาเคล็ดลับทำเงินเจ๋งๆ แต่ไม่เคยแม้แต่จะให้ความสำคัญกับขั้นตอนการวิจัยตลาดอย่างจริงจัง

คนที่ได้ประโยชน์จากนักเทรดระยะนี้(๑ กับ ๒)ก็คือเว็บให้บริการแจ้งสัญญาณซื้อขายตามสูตรลับของตัวเอง


ขั้นที่ ๒ : (รู้ความจริง) ว่าตัวเองไม่รู้อะไรเลย
ระยะนี้คุณยังไม่สามารถยอมรับความผิดพลาด/การขาดทุนได้อย่างสนิทใจนัก คือเริ่มรู้ตัวว่าไม่ค่อยรู้อะไรมากนัก โดยเฉพาะหลังจากขาดทุน ไม่ค่อยรู้ต้นสายปลายเหตุว่ามาจากไหน ถ้าคิดได้,ในระยะนี้จึงเป็นช่วงที่คุณต้องให้ความสำคัญ ให้เวลากับการเรียน/ศึกษาหาความรู้อย่างมาก

ระยะนี้แหละที่เทรดเดอร์ส่วนใหญ่ติดในวังวนอยู่กัน พวกเขาใช้เวลาอย่างมากมายในการหาความรู้ บางส่วนก็รู้ตัวแล้วว่าตนเองขาดอะไร แต่กระนั้นก็หาชิ้นส่วนที่หายไม่เจอสักที และที่สำคัญคือมืดแปดด้านไม่รู้จะเอายังไงต่อ

แนวทางก็คือ คุณต้องตระหนักถึงสิ่งที่ตัวเองทำผิดพลาด มีหลุมพรางอะไรที่คุณตกหล่ม พูดตรงๆก็คือ คุณต้องมองตัวเองในแง่จริงและซื่อสัตย์ว่าศักยภาพตัวเองอยู่ในระดับไหน ข้อด้อยของคุณเองคืออะไร วิจารณ์ตัวเองตรงๆแรงๆไปเลย ถ้าทำได้มันจะเป็นขั้นตอนที่มีประสิทธิภาพมาก ความสามารถในการยอมรับจุดบกพร่องของตัวเองนี่แหละที่จะเป็นประตูให้เราเดินในเส้นทางที่ถูกต้อง ไม่พายเรือวนในอ่างอีกต่อไป

จากนั้นก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณโฟกัส, ให้เวลาเรียนรู้, วิจัยและฝึกฝนแล้วล่ะ ในระหว่างนี้แหละที่คุณน่าจะเริ่มรู้ว่ามีอะไรบ้างที่คุณไม่รู้ คุณต้องเปิดกว้างและถ่อมตัวให้มาก เปิดใจเรียนรู้และยอมรับความรู้นั้น

จะว่าไปแล้ว ขั้นตอนในระยะนี้ค่อนข้างยากลำบาก คุณอาจจะทำกำไรได้ยอดเยี่ยมสองปีติด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายว่าคุณจะเลื่อนชั้นไปอยู่ระยะที่ ๓ ได้ โดยอาจจะยังอยู่ระหว่าง ๒ กับ ๓ นี่แหละ หลังจากช่วงเวลาที่คุณได้กำไร คุณจะรู้สึกมั่นใจมาก อาจเริ่มมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การเทรดของตัวเองแบบค่อยเป็นค่อยไป(หรือฉับพลันก็ได้), ไม่ให้ความสนใจกับการเทรดมากนัก, หรือเผชิญกับอุปสรรคบางอย่าง
แต่ท้ายที่สุด, ความสำเร็จ(เทรดแล้วกำไรงาม)ที่คุณคิดว่าเอาอยู่แล้ว มันกลับพลิกผัน สักพักคุณพบกับการขาดทุนอีกครั้ง นั่นทำให้คุณตระหนักอีกครั้งว่ายังต้องเรียนรู้ให้มากขึ้น และที่สำคัญคือสิ่งที่คุณต้องเรียนรู้จากนี้ไป ไม่ใช่จากหนังสือแล้ว เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเอง



ขั้นที่ ๓ : (หาตัวเองเจอ) เริ่มจับทางทำเงินได้
หลังจากที่คุณได้ศึกษา, ลงมือทำ, ทดสอบ และฝึกฝน ในที่สุดคุณก็ได้แผนการเทรดที่มั่นคง, รักษาเงินต้นไว้ได้, คุณรู้วิธีจัดการเงินและการเทรดของตัวเอง มีกลยุทธ์ที่ได้รับการยืนยันว่าทอดสอบแล้วเวิร์ค, มีการตระหนักรู้ความโน้มเอียง(อคติ)ของตนเอง แต่ก็รู้ว่าจะควบคุมมันยังไงให้อยู่หมัด

ตอนนี้คุณไม่ให้ราคา/ไม่ตามหา holy grail อีกแล้ว เพราะเจอแนวทางที่เหมาะกับตัวเอง, ไม่มีความลังเล ไขว้เขว หรือถูกชักจูงจากความเห็นของคนอื่นอีก, ไม่เทรดแบบเล่นพนัน, ไม่เสี่ยงเกินลิมิตในแต่ละการเทรด

ในระยะนี้, คุณได้เรียนรู้จากบทเรียนของตัวเองและมุ่งเน้นเฉพาะการเทรดตามแผนให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจมีคนคอยช่วยคุณ, เช่น ที่ปรึกษา, แต่ที่สุดแล้วคุณก็ตระหนักได้ว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน การเทรดที่ประสบความสำเร็จได้นั้นมันขึ้นอยู่กับคุณ เพราะมีแต่คุณเท่านั้นที่จับสัญญาณโอกาสที่เข้าทางกับแผนการเทรดของตัวเอง

ระยะนี้ก็ยังเป็นช่วงแห่งการเรียนรู้อยู่นะครับ แต่ตอนนี้คุณรู้แล้วว่าควรทำอะไร, สิ่งที่คุณกำลังเรียนรู้จะเอาไปใช้งานตรงไหนได้บ้างเพื่อพัฒนาตัวเองให้เทรดได้ประโยชน์สูงสุด, แน่นอนว่าตอนนี้คุณเทรดจริง, ใช้เงินจริง โดยผลลัพธ์ออกมาค่อนข้างนิ่งแล้ว

ถ้าคุณผ่านขั้นตอนนี้ได้ การสร้างแผนเทรดและทำตามอย่างเคร่งครัดถือเป็นเรื่องง่ายมาก คุณแค่ทำมันซ้ำๆ และสร้างกำไรได้ต่อเนื่อง และสามารถข้ามขั้นไประยะ ๔ ได้

ถึงกระนั้น, การทำตามแผน ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเลย เพราะคุณต้องคอยจัดการกับ "ศัตรูภายใน"
 เช่น  การขาดความอดทน, พยายามละเลยวินัย
เช่นเดียวกับต้องคอยควบคุมความกลัว-ความหวัง และความโลภ
ความรู้จากการศึกษาจิตวิทยาการเทรด, หรือแม้แต่จิตวิทยาทั่วไป และปฏิกริยาตอบโต้ของบุคคล จะกลายมาเป็นบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะเทรดในระยะนี้



ขั้นที่ ๔ : (เซียน) ทำเงินแบบอัตโนมัติ
นี่คือช่วงของความเป็นเซียนครับ
คุณได้รวบรวมองค์ความรู้ทุกอย่างที่สะสมมาตลอด(ทั้งสิ่งที่ทำให้ชนะและแพ้) เอามันไปลงที่แผนการเทรด, และสามารถดำเนินการตามแผนอย่างอัตโนมัติ(ทำด้วยจิตใต้สำนึก กลายเป็นนิสัย) คุณไม่ต้องให้สมองคอยตัดสินใจแทนอีกต่อไป

ในการเทรดแต่ละครั้ง,คุณไม่ต้องกางแผนมาดูเพื่อยืนยันอีก เพราะมันฝังลงไปในสมองของคุณแล้ว เช่นเดียวกับนักกอล์ฟมืออาชีพที่หวดลูกมานับพันนับหมื่นครั้ง ท่วงท่าและการส่งแรงมันได้ซึมซับลงไปอยู่ในกล้ามเนื้อไปแล้ว ร่างกายมันจำได้ว่าต้องทำอะไรต่อไป ซึ่งในการเทรดก็ไม่ต่างกัน

ถ้าคุณมาถึงระยะที่ ๔ แล้ว แสดงว่าคุณเทรดมานับพันนับหมื่นครั้ง ทำจนร่างกายซึมซับและจำมันได้เช่นกัน

แต่เส้นทางของการพัฒนาไม่ได้หยุดแค่นี้ คุณอาจจะเลือกพัฒนากลยุทธ์ใหม่ๆ, ทดสอบมัน  รวมถึงทดลองสร้างระบบเทรดใหม่ ซึ่งคุณต้องเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้เพิ่มเติม ก็คือเป็นการเริ่มระยะที่ ๓ รอบใหม่, แต่มันก็เป็นเฉพาะกลยุทธ์ใหม่เท่านั้น คุณยังคงรักษาทุกสิ่งที่ได้เรียนรู้มา, นอกจากนั้นยังความสามารถเอาสิ่งที่รู้มาช่วยปรับปรุงไอเดียใหม่และขัดเกลากระบวนการให้ดีขึ้นได้อย่างไม่ยาก

วิธีทดสอบว่าคุณอยู่ในระยะที่ ๔ แล้วก็คือ ถ้าคุณรู้สึกเครียดจากการเทรด, ไม่ว่าจะเกิดขณะเทรดหรือหลังจากเทรดเสร็จ - แสดงว่าคุณยังไปไม่ถึงระยะที่ ๔

ระยะที่ ๔ นี้ คุณต้องเทรดด้วยสภาวะ(เกือบจะ)ไร้ความเครียด แม้ว่าอัตราการเต้นหัวใจคุณจะเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลาในขณะเทรด เนื่องจากคุณไม่สามารถรู้ผลลัพธ์ของการเทรดในแต่ละครั้งได้ ซึ่งมักจะสร้างความประหลาดใจให้คุณได้ตลอด แต่ด้วยความที่คุณรู้จักระบบเทรดของตัวเองดี, และมีความเข้าใจและยอมรับการเคลื่อนไหวของตลาด โดยสามารถแยกแยะตัวเองออกจากความรู้สึกเชื่อมั่นและหดหู่ เพราะมั่นใจว่ากำไรจะเติบโตไปได้เองถ้าคุณทำตามแผน นอกจากนี้, คุณยังมั่นใจด้วยว่าถ้าหากมีอะไรที่ผิดแผน คุณก็สามารถลงมือตัดขาดทุนได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากคุณได้ทำมันมาแล้วนับร้อยพันครั้งก่อนหน้านี้ ในทุกสภาพตลาด


ข้อสังเกตสำหรับเทรดเดอร์ผู้มุ่งมั่น
ขณะที่เซียนหุ้นทำการเทรด เขาทำดูเหมือนง่าย แต่นั่นเป็นเพราะพวกเขาได้ใช้เวลาและความพยายามในการเทรดมาอย่างยาวนาน ทำจนทุกอย่างมันขึ้นใจ จึงดูเหมือนทำอะไรก็ดูง่ายไปหมด คนนอกที่ได้เห็นก็เข้าใจผิดคิดไปว่ามันง่ายเหมือนไม่ได้ใช้ความพยายามอะไรเลย จึงเทรดด้วยแนวทางที่มักง่ายตามที่เห็น ซึ่งผลที่ได้มันคนละเรื่องกันเลย เนื่องจากการเทรดมันไม่ง่านเหมือนที่ตาเห็นหรอก สิ่งนั้นมันเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น

ถ้าคุณมีพี่เลี้ยง สังเกตเห็นว่าพวกเขาไม่ได้กางแผนการเทรดมาดูเลย เทรดแค่ไม่กี่คลิก ทำงานเพียงสองชั่วโมงต่อวันก็ได้เงินแล้ว นักเทรดมือใหม่ก็คิดไปเองว่ามันช่างง่ายเสียเหลือเกิน จึงละเลยข้ามขั้นตอนที่สำคัญไปเสียหมด เน้นง่ายเอาเข้าว่า ทั้งที่ตัวเองไม่รู้อะไร พื้นฐานความคิดก็ไม่มี มีอย่างเดียวคือโลภเกินความรู้ ผลก็เลยออกมาอย่างที่เห็นคือเม่าขาดทุนยับเยิน

มันไม่มีอะไรที่ "ง่าย" เหมือนตาคุณเห็นหรอก ที่เซียนเขาทำง่าย เพราะเขาทำมันมานาน ผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน เจ็บมาเยอะ เรียนรู้จากความเจ็บปวดมานับสิบปีเลยทีเดียว

แม้ว่าคุณจะเป็นนักเทรดขั้นเซียนแล้ว ความท้าทายก็ยังคงมีอยู่เสมอ
คุณก็ยังต้องมีการทดลองอะไรใหม่ๆอยู่เสมอ เพราะชีวิตเราไม่ได้เทรดเพียงอย่างเดียว มันยังมีปัญหา(ชีวิต)ภายนอกที่คอยรบกวนให้การเทรดของเราเสมอ ดังนั้นคุณต้องมีการเรียนรู้บริหารจัดการชีวิตกับการเทรดให้มีความสมดุลให้ได้ ดังนั้นแม้เป็นเซียนแล้วก็ไม่อาจหลีหนีความท้าทายและอุปสรรคใหม่ๆอยู่ดี แต่ด้วยความที่คุณผ่านเหตุการณ์ที่คล้ายๆกันมาก่อนแล้ว การแก้ไขปัญหาจึงไม่ยากและทำได้อย่างรวดเร็ว



สำหรับเทรดเดอร์มือใหม่...
ผมเชื่อว่าพอได้อ่านบทความมาถึงบรรทัดนี้ ก็คงรู้สึกท้อใจ แต่อย่างไรก็ตามการจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องอะไรๆก็ตาม มันไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอ ยิ่งตลาดหุ้นเป็นเวทีที่ไม่มีการคัดคนเลย มือใหม่กับมือโปรต่างลงเล่นในเกมเดียวกัน แค่นี้ก็พอเดาออกว่าใครจะเป็นผู้ชนะในระยะยาว

แต่ก็อยากจะบอกว่ากว่าที่มือโปรจะเก๋าเกมได้ เขาก็เคยเป็นมือใหม่มาก่อน คุณจึงไม่ควรท้อกับมัน ให้เวลาศึกษาความผิดพลาด ซื่อสัตย์กับตัวเอง เพื่อจัดการกับความตคาดหวังให้อยู่ในโลกของความจริง

ให้ความสำคัญกับการจัดการความเสี่ยงเสมอ
เสี่ยงให้น้อยกว่า 1% ของพอร์ต พยายามรักษาเงินต้นให้เหลือมากที่สุด
ขณะเดียวกันก็หมั่นเรียนรู้ ทำไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ยอมรับความด้อยประสบการณ์ของตัวเอง ก้มหน้าก้มตาศึกษาวิจัย ก้าวไปทีละก้าวอย่างมั่นคง อีกไม่นานก็จะเป็นเซียนได้เช่นกัน

ที่มา : vantagepointtrading.com/4-stages-trader-development

(แนะนำ)
หากต้องการศึกษาวิธีเล่นหุ้น แนะนำให้ไปอ่านบทความฟรี คลิปฟรีที่นี่ก่อนก็ได้
เรียนเล่นหุ้น เรียนเทรด forex จิตวิทยาการเทรด มือใหม่เล่นหุ้น
คลิกลิ้งนี้ครับ https://www.zyo71.com/p/index.html เป็นสารบัญเว็บนี้ครับ







และ eBook มีขายที่เว็บ https://www.mebmarket.com/index.php?action=search_book&type=author_name&search=เซียว%20จับอิดนึ้ง&exact_keyword=1&page_no=1
แยกส่วนกันนะครับ ขายคนละเจ้า
ebook หนังสือสอนเล่นหุ้น

7 บทความยอดนิยมในรอบ 30 วันที่ผ่านมา

VCP (Volatility Contraction Pattern) และรูปแบบที่คล้ายกัน

คำคมเกี่ยวกับเคล็ดวิชาจากหนังเรื่อง กังฟูแพนด้า

(มือใหม่เล่นหุ้น) Wyckoff Logic ของดีที่เม่ามือใหม่เอาไปใช้ได้ง่ายๆ

รวมแนวทางการนับคลื่นจากเซียน Elliott Wave

อธิบาย Wyckoff Accumulation Phase แบบละเอียดยิบ

ชมฟรี! คอร์สหุ้น ออนไลน์ 170 คลิป จัดเต็ม ไม่มีกั๊ก Free Full Trading Course by Zyo

สรุปหนังสือ Trade Like a Casino