********
แนะนำบทความรวมคลิป = คอร์สหุ้นออนไลน์
ชมฟรีครับ ที่ช่องยูทูปของ zyo
***********
Wyckoff Method เป็นการนำเสนอภาพของวงจรการทำราคาหุ้น เริ่มตั้งแต่ สะสม-ไล่ราคา-แจกจ่าย-ทุบ แล้วกลับไปเริ่มที่ สะสมเพื่อไล่ราคาอีกครั้ง
เพราะคุณ Richard D. Wyckoff เจ้าของทฤษฎีเขามองว่า การเล่นหุ้นก็เหมือนกับธุรกิจซื้อมาขายไปดีๆนี่เอง คือกว้านซื้อของราคาถูกๆเอาไว้เยอะๆเพื่อเก็บเอาไปขายในตอนที่ราคาแพงๆ โดยสิ่งที่จะทำให้ของราคาแพงก็คือ "ข่าว" เพราะคนจะมีความต้องการซื้อมากก็จะไล่ราคากัน
ดังนั้น main idea ของทฤษฏีนี้ก็คือการทำความเข้าในช่วง "สะสม" หรือ Accumulation เป็นหลัก
เพราะมันเป็นสาเหตุ(Cause) อันจะนำไปสู่ผล(Effect)คือ ไล่ราคาและแจกจ่าย
อันเป็นหนึ่งในกฎพื้นฐาน 3 ข้อ ดังนี้
กฎพื้นฐาน 3 ข้อของ Wyckoff
1.
กฎของ Demand และ Supply เพื่อบอกทิศทางของราคา ถือเป็นหัวใจของทฤษฎีนี้
ทิศทางที่ว่านี้ก็คือ
ราคาขึ้นหมายความว่า Dmand > Supply ความต้องการซื้อมากกว่าความต้องการขาย
หากราคาลงก็หมายความว่า Supply > Demand ความต้องการขายสูงกว่าความต้องการซื้อ
2.
กฎของเหตุและผล (Cause & Effect) ช่วยให้เทรดเดอร์วัดเป้าหมายราคาได้(โดยการใช้ point & figure chart -อันนี้ไม่ขออธิบายเพิ่มเพราะไม่เคยใช้) รวมถึงการประเมินศักยภาพของแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
กฎนี้จะช่วยให้มองเห็นพลังของการสะสมหุ้น(accumulation) หรือแจกจ่ายหุ้น(Distribution) ที่เกิดในกรอบราคา (TR) และการทำงานของพลังที่ว่านี้ออกไปเพื่อให้เกิดแนวโน้มการเคลื่อนไวของราคาให้เป็นขาขึ้นหรือลง
3.
กฎของความพยายามเทียบกับผลงาน (effort versus result) เพื่อช่วยเตือนภัยล่วงหน้าว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มอันไกล้
ซึ่งความแตกต่างของราคากับวอลุ่มมักจะส่งสัญญาณการเปลี่ยนแนวโน้มได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อมีวอลุ่มการซื้อขายสูงมากๆ(ความพยายามสูง)แต่ได้แท่งราคาที่แคบมาก หากเหตุการณ์แบบนี้เกิดหลังจากที่ราคาวิ่งขึ้นมาพักใหญ่ๆจากนั้นราคาก็มีการย่อ-แต่ไม่สามารถเด้งขึ้นไปทำนิวไฮได้ หลังจากนั้นเกิดแท่งราคาแคบแต่วอลุ่มออกสูงปรี๊ด ก็อาจสื่อว่าแนวโน้มกำลังจะเปลี่ยนทิศอีกในไม่ช้า
ช่วงของการสะสม(Accumulation) มี 5 Phase ดังนี้
Phase A เป็นช่วงของขาลงเฮือกสุดท้าย
PS: อยู่ในช่วงที่ตลาดยังลงต่อ โดยก่อนหน้านี้ supply หรือความต้องการขายยังมีอยู่ แต่ก็เริ่มน้อย ต่อมาราคาหยุดลงเพราะแรงซื้อชนะ จึงเด้ง กลายรูปแบบของแนวรับ PS (preliminary support) แต่เพราะการเด้งขึ้นแค่เล็กน้อยเท่านั้น
SC: จากนั้นราคาก็ลงแรงและหนักมาก จนกลายเป็น selling climax (SC) ซึ่งถ้าดูกราฟแท่งเทียนหรือบาร์ชาร์ทจะเห็นชัดว่าราคาลงเป็นแท่งแดงยาวและวอลุ่มก็สูงมากสืบเนื่องมาจากการขายของรายย่อยไปให้กับนักลงทุนมืออาชีพ
AR: วันต่อมาเมื่อแรงขายหมดลงหรือแรงซื้อเข้ามาสนับสนุนมากขึ้นก็จะทำให้เกิดช่วง automatic rally (AR) คือราคาเด้งขึ้นเพราะแรงซื้อชนะ โดยความต้องการซื้อนั้นอาจมาจากคนที่ชอร์ตหุ้นตั้งแต่ต้นทางได้กลับมาซื้อหุ้นคืน
ST: เมื่อมีเด้งขึ้นก็ย่อมเป็นโอกาสของคนที่อยากขาย ซึ่งอาจจะขายไม่ทันตอน panic หรือตัดใจขายไม่ลงในตอนนั้น หรือคนที่ซื้อได้ที่ราคาต่ำสุด หรืออาจจะรู้ว่ามันต้องมีเด้งให้ขาย ก็แย่งกันปล่อยของส่งผลให้เกิดแรงกดราคาให้ลงกลับไปหาโลว์เดิมที่เกิด panic
VIDEO
การย่อกลับลงไปนี้เรียกว่า
Secondary test (ST)
ซึ่งมันจะเป็นชื่อนี้จริงๆก็ต่อเมื่อแรงขายน้อยลงกว่าตอน panic และแท่งราคาก็สั้นกว่า ที่สำคัญคือราคาต้องปิดเหนือหรือเท่ากับ SC ด้วย
แต่ถ้าหาก ST ลงไปต่ำกว่า SC ก็แสดงว่าราคาทำโลว์ใหม่นั่นจะส่งผลให้การรวบรวมหุ้นต้องยืดออกไปอีกพักหนึ่งเพราะแรงขายยังไม่หมดกำลัง
ช่วงราคาระหว่างจุดสูงสุดของ AR ลงไปจนถึงจุดต่ำสุดของ SC หรือ ST นี่แหละที่เราเรียกว่า Trading Range (TR) ซึ่งเราจะใช้เป็นกรอบของการสะสมหุ้นสำหรับช่วงต่อไป
บางครั้งขาลงอาจจะจบแบบไม่ต้องมีแท่งแดงยาว วอลุ่มสูงปรี๊ดก็ได้ แต่มันก็ต้องมี PS, SC, AR และ ST อยู่ดี เพราะว่ากรอบราคาลักษณะนี้มันจะเป็นโครงสร้างของการเข้าสะสมหุ้นของรายใหญ่หรือสถาบันในเฟสต่อไป
ส่วนกรอบของการสะสม(TR)รอบใหม่(ซึ่งเกิดในช่วงขาขึ้นระยะยาว) เราจะไม่เห็นจุดที่เป็นตัวแทนของ PS, SC และ ST ได้ชัดเจนเท่าเฟส A แต่มันก็จะออกไปในแนวทางคล้ายกัน โดยจะสะสมเพื่อรอขายมากกว่า
ส่วนใน เฟส B-E กรอบการสะสมจะคล้ายกับ A เพียงแต่มักจะใช้เวลาสั้นกว่าและการแกว่งของราคาแคบกว่า
Phase B เป็นช่วงที่เรียกว่า Building a Cause คือ สร้างเหตุ(สะสมหุ้นราคาถูกให้มากที่สุด) เพื่อให้เกิดผล(ขาขึ้นรอบใหม่)
ในเฟสนี้, จะเป็นพื้นที่ของเหล่าสถาบันหรือรายใหญ่เงินหนา ที่จะเข้ามาสะสมหุ้นราคาถูกกันเพื่อจะเก็บไว้รอขายในช่วงขาขึ้น เพราะเป็นช่วงที่เขาชิงแย่งของถูกกันมันจึงมักจะใช้เวลานานอย่างเห็นได้ชัด(บางตัวก็เป็นปีหรือมากกว่านั้น) ความพิเศษของช่วงนี้ก็คือเป็นโซนของภาวะ “ลับ ลวง พราง” คือมีทั้งเบรคหลอก เขย่าให้หลุดแนวรับ(โลว์เดิม)แล้วเด้งกลับเป็นประจำ หรือไม่ก็แช่ไม่เล่นแบบไม่สนใจตลาด ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ด้วยเหตุผลเดียวก็คือ “ฉันจะเอาของถูกจากมือแกให้มากที่สุด” ด้วยการทำให้กลัว โลภ และอึดอัด จนต้องคายของออกมา
บางคนอาจมองว่าเจ้ามือต้องเล่นทุกวันทุกจังหวะ ซึ่งบางทีก็ไม่จำเป็นหรอก อยู่เฉยๆก็มีคนขายหุ้นให้ทุกวัน เพราะแค่ตลาดแดงหน่อยขี้คร้านรายย่อยก็แย่งกันขายหนีตายกันเอง หรือตลาดเขียวหุ้นไม่วิ่งรายย่อยขี้เบื่อก็ขายออกแบบรำคาญก็มีประจำ ส่วนเจ้ามือก็นั่งยิ้มรอรับหุ้นราคาถูกอย่างเดียวก็มี
ช่วงแรกๆของ Phase B นี้, ราคาจะสวิงแรงมาก วิ่งขึ้นลงในกรอบกว้าง ด้วยวอลุ่มซื้อขายที่สูง เพราะสถาบันหรือรายใหญ่ต้องการเขย่าเพื่อเก็บหุ้นที่กระจายอยู่ในมือรายย่อยใจฝ่อไปไว้ในคลังให้มากที่สุด
กระนั้น,เมื่อราคาสวิงลง-วอลุ่มก็ลดลงด้วย ต่อมาเมื่อพบว่าความต้องการขาย (supply) เริ่มร่อยหรอ(ราคาลงวอลุ่มลด-ไม่มีใครขาย) ก็พร้อมที่จะข้ามไป Phase C
Phase C เป็นช่วงของการทดสอบแรงขายอย่างหักหาญแล้วล่ะ เพื่อที่จะรับซื้อหุ้นที่ยังมีความอยากขายเหลืออยู่ในตลาด (supply testing) คนที่ทดสอบก็คือรายใหญ่/สถาบัน หรือใครก็ตามที่เป็น Smart money ที่ท้าทายแบบนี้ก็เพื่อทำให้แน่ใจครั้งสุดท้ายว่าหุ้นพร้อมขึ้น
พูดง่ายๆคือ ก่อนหน้านั้น แช่ก็แล้ว กดหุ้นให้ลงจนหลุดทะลุโลว์เดิมลง (spring) ก็ไม่ค่อยมีใครอยากขายเลย วอลุ่มน้อยมาก
Spring ถือเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบที่สำคัญ หน้าตาของมันก็คือ-ราคาถูกกดลงไปจนหลุดแนวรับหรือโลว์เดิมและก็จะเด้งกลับขึ้นมาวิ่งในกรอบสะสมได้อีกในระยะเวลาสั้นๆ มันเป็นตัวอย่างของกับดักหมี-เพราะการที่หุ้นโดนขายลงไปจนหลุดแนวรับหรือโลว์เดิมนั้น มันเป็นสัญญาณของขาลงชัดเจน
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว, อาการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของขาขึ้นต่างหาก มันเป็นกับดักครั้งสุดท้ายที่จะเขย่าคนที่อยากขายให้คายหุ้นออกก่อนเอาจริงนั่นเอง
ไม่เพียงแต่แนวรับทีจะถูกทดสอบ แต่แนวต้านก็โดนเช่นกัน เขาจะไล่ราคาจนทะลุแนวต้านขึ้นไปอย่างสวยงาม แต่จากนั้นอีกไม่กี่วันก็โดนทุบให้ราคาลงมาอยู่ในกรอบเหมือนเดิม(ที่หลายคนเรียกว่าเบรคหลอกนั่นแหละ)
ซึ่งการกระทำของ smart money แบบนี้มักจะสร้างความหงุดหงิดแก่รายย่อยมาก คือซื้อตอบเบรคแล้วโดนกดให้ไปขายตอนที่หลุดโลว์ นับเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวดมาก จึงทำให้คนไม่ทันเกมส์เกิดความเกลียดหุ้นและสาปส่งเจ้ามือกันใหญ โดยหารู้ไม่ว่านี่เป็นหนึ่งในขึ้นตอนเขย่าคนใจฝ่ออกจากตลาดครั้งท้ายๆแล้ว
ในทางทฤษฎีของ Wyckoff แล้ว, การเขย่าหรือ spring นี้จะเป็นการทดสอบแรงขาย ซึ่งหากสำเร็จ คือไม่มีการ panic ขายตาม ก็หมายความว่าการทดสอบนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะแสดงให้เห็นว่าถึงเวลาที่เหมาะสมแล้ว
การเกิดวอลุ่มน้อยๆในตอนเขย่าหรือ spring จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าหุ้นตัวนั้นพร้อมขึ้นแล้ว และถือว่าเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะเข้าซื้อเพื่อกินคำโตรอบใหญๆ
ส่วนการปรากฎตัวของ SOS จะเกิดขึ้นหลังจาก spring ภายในเวลาที่ต่อเนื่องกัน แต่ถ้าการทดสอบ supply ยังไม่สำเร็จ คือยังมีแรงขายสะสมอยู่อีกมาก ก็จะไม่เกิด spring นั่นหมายความว่า Phase C ยังทำไม่ได้
Phase D ถ้าเราวิเคราะห์ถูก, สิ่งที่จะเกิดขึ้นเพื่อแสดงออกว่าความต้องการซื้อเหนือกว่าความต้องการขาย-ก็คือการเกิดแท่งเขียวยาวและวอลุ่มก็ต้องสูงด้วย(SOS)
และจากนั้นเมื่อราคาวิ่งแรง(เหตุ)ก็ต้องมีแรงขายทำกำไร(ผล)ทำให้เกิดการขายทำกำไร ราคาก็ย่อ(เกิดเป็น LPS)ที่มีลักษณะแท่งราคาสั้นๆและวอลุ่มน้อยๆ(ลดลง)
ถ้ายังไม่เห็นลักษณะราคารูปแบบนี้แล้วก็ให้อยู่เฉยๆ อย่าเข้าไปเล่น แต่ให้เฝ้าดูอย่างไกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจจริงๆว่าราคามันเคลื่อนไหวขึ้นอย่างแข็งแรงตามลักษณะของขั้นตอน Markup อย่างแท้จริง เมื่อมั่นใจว่าใช่-ก็ให้ซื้อเพิ่มได้
การที่จะเป็น Markup อย่างแท้จริงก็คือราคาต้องทะลุผ่าน TR (แนวต้านของกรอบสะสม) ขึ้นไปได้ด้วยวอลุ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยมากๆ (50% ขึ้นไป ยิ่งมากยิ่งดี) และที่สำคัญหลังจากที่ราคาวิ่งแรงๆก็จะถูกขายทำกำไรตามธรรมชาติของมัน ซึ่งช่วงนี้ก็สำคัญคือมันย่อลงไม่ลึก(สามารถหลุดแนวต้านเดิมได้)และวอลุ่มต้องลดลงจากตอนที่ breakout อย่างชัดเจน ถ้าเป็นตามนี้คุณก็จะได้จุดซื้อที่ดีคือตอนที่มันเด้งขึ้นจากการย่อแล้วสามารถทะลุแนวต้านของกรอบสะสมเดิมขึ้นไปได้อีกครั้งนั่นเอง
Phase E คือตอนที่ราคา breakout วิ่งผ่าน TR ขึ้นมาได้แล้ว มันเป็นช่วงที่ความต้องการซื้อเอาชนะความต้องการขายได้อย่างขาดลอย และการไล่ราคาก็จะได้รับการรู้เห็นจากทุกๆคนแล้ว การย่อ,การเขย่า จะเกิดขึ้นแต่ใช้ระยะเวลาสั้นๆก็สามารถดีดขึ้นไปทำนิวไฮได้ การพักตัวในช่วงนี้มีเพื่อทำการสะสมครั้งใหม่และก็ขายทำกำไรออกบางส่วนจากรายใหญ่
VIDEO
ข้อมูลเพิ่มเติม
การสะสมในมุมมองของ bid offer
https://www.facebook.com/zyoit/posts/732853686841890
รายละเอียดจุดสำคัญของขั้นตอนการสะสมหุ้นตามทฤษฎี Wyckoff
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=873435226117068
สูตรสแกนหา Markup Phase
Wyckoff Method ภาษาอังกฤษ
http://www.readtheticker.com/Pages/IndLibrary.aspx?65tf=84_richard-wyckoff-method
(แนะนำเพิ่มเติม ของฟรี)
หากต้องการศึกษาวิธีเล่นหุ้น แนะนำให้ไปอ่านบทความฟรี คลิปฟรีที่นี่ก่อนก็ได้