แนะนำอีบุ๊ก "สโตอิกสำหรับอินฟลูผู้อ่อนไหว"

Image
Early Bird Promotion ลดราคาจาก 150 บาท เหลือ 98 บาท 23 - 27 พย. นี้เท่านั้น https://www.mebmarket.com/index.php?action=BookDetails&data=YToyOntzOjc6InVzZXJfaWQiO3M6ODoiMTIzNzExNDMiO3M6NzoiYm9va19pZCI7aTozMzQ0NTQ7fQ ทำไมอินฟลูเอนเซอร์จึงควรศึกษาและฝึกสโตอิกเอาไว้บ้าง? อินฟลูเอนเซอร์เป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในโลกออนไลน์ ต้องเผชิญกับความคาดหวัง ความกดดัน และการแสดงออกจากผู้ติดตามอยู่ตลอดเวลา การศึกษาและฝึกสโตอิกสามารถช่วยอินฟลูเอนเซอร์ในด้านต่อไปนี้: 1. จัดการกับความกดดันจากคำวิจารณ์       สโตอิกสอนให้เราแยกแยะสิ่งที่เราควบคุมได้ (เช่น การตอบสนอง ความคิด การกระทำ) กับสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ (เช่น ความคิดเห็นของคนอื่น การวิจารณ์)      - ตัวอย่างการนำไปใช้: เมื่อเจอคอมเมนต์ด้านลบ ให้ตั้งคำถามว่า “ฉันควบคุมสิ่งนี้ได้หรือไม่?” หากไม่ ให้ปล่อยผ่านและโฟกัสที่การปรับปรุงตัวเอง. 2. รักษาความมั่นคงทางอารมณ์       อินฟลูเอนเซอร์มักเผชิญกับความไม่แน่นอน เช่น การเปลี่ยนแปลงของอัลกอริทึม หรือจำนวนผู้ติดตามที่ขึ้น-ลง สโตอิกช่วยให้คุณมองความสำเร็จและล้มเหลวในมุมที่สมดุล      - หลักการสโตอิก: ไม่ยึดต

(สรุปหนังสือ) Talent is Overrated


Talent is Overrated มีชื่อไทยสุดอลังการว่า "ชาตินี้คงไปไม่ถึงไหนถ้าทำอะไรแค่พอผ่าน"
ผมพบว่ามันมีเนื้อหาต่อเนื่องจากหนังสือ Mindset ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา ได้เลย

ขอสรุปประเด็นให้ท่านอ่านสั้นๆก่อน เผื่อไม่มีเวลา

หลักของการสื่อสารคือ ต้องการบอกว่า "อย่าให้ราคากับ พรสวรรค์ มากไป คุณต้อง มีพรแสวงด้วย มันถึงจะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จ"
ยังไง?
เขาโฟกัสไปที่ประเด็นเรื่อง "การฝึกฝนอย่างจดจ่อ"
นี่คือกุญแจสำคัญของการเป็นเลิศ คือคุณไม่จำเป็นต้องมีพรสวรรค์ ก็ได้ ถ้าคุณมีความมุ่งมั่นในการฝึกฝนอย่างจดจ่อ คุณก็มีโอกาสประสบความสำเร็จได้แบบที่คนมีพรรสวรรค์ต้องชิดซ้าย

แต่ปัญหาเดียวก็คือว่า การฝึกฝนอย่างจดจ่อ มันโคตรทรมาน
คือคุณต้องทำในสิ่งที่อยู่เหนือระดับ confort zone นั่นคือค่อยๆก้าวเข้าสู่ learning zone ค่อยๆพัฒนาตัวเองให้มีทักษะที่ดีขึ้น แต่กระนั้นก็ไม่โหมหนักจนถึงขึ้น panic zone เพราะจะทำให้เกิดความกลัว ท้อแท้ เนื่องจากยากเกินไป

เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านว่า "เดินทางสายกลาง" นั่นแหละครับ

แต่ถ้าเดินทางสายกลางอย่างเดียว มันชิลล์ไป
ไม่งั้นใครๆก็ทำได้กันหมด

๑) คุณต้องมีการฝึกฝนซ้ำๆ เพื่อให้ทักษะมันฝังเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสัญชาติญาณ
๒) ตรวจสอบผลงาน เช็คข้อบกพร่อง ความผิดพลาด เพื่อแก้ไขให้ดีขึ้น
๓) มีเป้าหมายว่าตัวเองต้องเก่งขึ้นไปเรื่อยๆ ทีละนิดก็ยังดี
ข้อสองนี่แหละที่ใช้พลังสมองเยอะมาก และโคตรยาก ที่สำคัญคือมันใช้เวลาอย่างนานเลย เป็นสิบปีกว่าจะบรรลุผลสำเร็จ ดังนั้นแม้แต่คนที่มีพรสวรรค์ เมื่อเจอเข้าไปก็ต้องถอย (อีกอย่างนะ คนประเภทนี้ใจเสาะจะตาย คุณก็รู้ดี)
ดังนั้น มันจึงเป็นโอกาสของคนที่มีพรแสวงแล้วครับ
หาสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถ้าฉันเก่งแล้ว มันจะสร้างมูลค่าให้ฉันอย่างมหาศาล
จากนั้นก็จับตัวเองเข้าสู่โหมดของการฝึกฝนอย่างจดจ่อ
ถ้าคุณเอาจริง มุ่งมั่น ฝึกฝนอย่างจดจ่อ คุณก็เก่งกว่าคนมีพรสวรรค์แบบมวยคนละชั้นไปเลย

- จบสรุป -

ต่อไปเป็นการบันทึกรายละเอียด

ตอนแรกที่ผมเปิดอ่าน Talent is Overrated ผ่านๆ ก็รู้สึกว่าไม่น่าสนใจ รู้สึกว่าจับประเด็นไม่ถูกว่าเขาต้องการจะสื่ออะไร มันคล้ายๆกับว่าเขาเอางานวิจัยมาตัดแปะแบบหนังสือเล่มอื่นๆหรือเปล่า
ซึ่งสารภาพตรงๆว่าอ่านยากเกินไปสำหรับผม

แต่ก็ไปสะดุดกับไปหลายประโยคที่น่าสนใจในเล่ม เลยพยายามหาจุดที่จะเริ่มต้นในการอ่านให้จริงจัง ผมจึงเริ่มจากตอนที่ผมสนใจที่สุด
นั่นก็คือบทสุดท้าย
พอได้อ่านแล้วก็รู้สึกได้ทันทีว่าประเด็นแบบนี้น่าสนใจมากจึงไล่อ่านจากหลังกลับไปข้างหน้า

ที่น่าสนใจก็คือมันทำให้ผมนึกถึงทักเทรดไอดอลของผม นั่นคือพี่มาร์ค พี่แดน
อยากรู้ว่าอะไรเป็นตัวผลักดันให้เด็กวัยรุ่นสองคนที่เรียนแม้แต่ไม่จบมัธยม มีความพยายามหาความรู้ มุ่งมั่นในเรื่องการเทรดจนกลายเป็นมหาเศรษฐีได้

เปิดเล่มเขาตั้งคำถามว่าคืออยากรู้ว่าอะไรทำให้ใครคนนึงมีความสามารถโดดเด่นมากกว่าคนอื่น?
ซึ่งเขาได้คำตอบนำอยู่ ๒ อย่างคือ
ความขยัน กับ พรสวรรค์
ภายในเล่มจะมีเปรียบเทียบสองสิ่งนี้ไปมา
แต่น้ำหนัก ผมว่า เขาเห็นด้วยในเรื่องของความขยันมากกว่า

กฎ 10 ปี
ไม่มีนักหมากรุกคนไหนก้าวขึ้นสู่ระดับสุดยอดได้จนกว่าจะผ่านการเรียนรู้มาอย่างน้อย 10 ปี
แถมบางคนอาจต้องใช้เวลานานกว่านั้นมาก
กฎ 10 ปีเป็นจริงกับคนเก่งในทุกองค์การ ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การประพันธ์เพลง กีฬาว่ายน้ำ การอ่านฟิล์มเอกซเรย์ กีฬาเทนนิส หรือวรรณคดี
ไม่มีใครเป็นเลิศได้โดยไม่ผ่านการขัดเกลามาอย่างน้อย 10 ปี
ม่เว้นกระทั่งคนที่ได้รับยกย่องว่ามีพรสวรรค์มากที่สุด

ความแตกต่างระหว่างคนเก่งกาจกับคนทั่วไป จะสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นชั่วชีวิต ที่จะพัฒนาฝีมือในอะไรบางอย่างสิ่งนั้นคือ "การฝึกฝนอย่างจดจ่อ"

ผู้คนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดมักจะเป็นคนที่ทุ่มเทมากที่สุด

การฝึกฝนอย่างจดจ่อ เป็นหัวใจสำคัญของความเป็นเลิศ
มันเป็นกิจกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อขัดเกลาฝีมือโดยเฉพาะ
โดยส่วนใหญ่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้ฝึกสอนในการออกแบบ

การฝึกฝนอย่างจดจ่อ สามารถ....
๑) ทำซ้ำได้บ่อยๆ
๒) มีข้อมูลป้อนกลับทันที
และ ๓) ต้องใช้พลังสมองเยอะมาก
นอกจากนี้ ๔) การฝึกฝนอย่างจดจ่อยังไม่สนุกด้วย

ทำไมการฝึกฝนโดยปราศจากความช่วยเหลือของผู้ฝึกสอนถึงเป็นเรื่องที่ยากมาก
ไม่ว่าจะเป็นในทักษะด้านใด....อย่างน้อยก็ช่วงเริ่มต้น?
เพราะถ้าไม่มีการประเมินผลงานอย่างชัดเจนและเป็นกลางแล้ว
 เราคงไม่อาจเลือกกิจกรรมที่ดีที่สุดสำหรับการฝึกฝนได้
น้อยคนนักที่สามารถประเมินตัวเองได้อย่างชัดเจนและเส้นตรง

การเลือกองค์ประกอบที่จะฝึกฝนถือเป็นทักษะสำคัญอย่างหนึ่ง
ให้ท่านวงกลมซ้อนกัน 3 วง
แล้วเขียนในวงกลมในสุดว่า "เขตแดนแห่งความสบายใจ" (Comfort Zone)
ส่วนวงมาเป็น "เขตแดนแห่งการเรียนรู้" (Learning Zone)
และวงนอกสุดคือ "เขตแดนอันน่าหวาดหวั่น" (Panic Zone)


เราจะเก่งขึ้นได้ด้วยการเลือกกิจกรรมในเขตแดนแห่งการเรียนรู้ขึ้นมาฝึก เพราะทักษะและความสามารถที่อยู่ไกลเกินเอื้อมของเราจะไปซุกตัวอยู่บริเวณนี้
แต่กิจกรรมในเขตแดนแห่งความสบายใจจะไม่มีวันทำให้เราก้าวหน้าเลย เพราะเราทำสิ่งนั้นได้สบายๆ อยู่แล้ว
ขณะที่กิจกรรมในเขตแดนอันน่าหวาดหวั่นก็ยากเกินไป จนเราไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นอย่างไรด้วยซ้ำ

การระบุเขตแดนแห่งการเรียนรู้ออกมา และบังคับตัวเองให้อยู่ในบริเวณนั้นต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าฝีมือจะพัฒนาขึ้น คือหลักการสำคัญที่สุดของการฝึกฝนอย่างจดจ่อ
ซึ่งต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่งานง่ายๆเลย

การทำซ้ำได้
คือความแตกต่างที่สำคัญที่สุดระหว่างการฝึกฝนทักษะอย่างจดจ่อ
กับการลงสนามจริงที่มีทุกอย่างเป็นเดิมพัน
คุณอาจเกิดคำถามว่าพวกเราส่วนใหญ่ก็ฝึกฝนโดยทำกิจกรรมบางอย่างซ้ำๆเช่นกัน
แล้วทำไมมันถึงไม่ค่อยได้ผล?
ทั้งนี้เนื่องจากมีความแตกต่าง ๒ ข้อระหว่างการฝึกฝนอย่างจดจ่อกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำอยู่เขาได้คือ
๑) การเลือกกิจกรรมที่มีความยากพอสมควรในเขตแดนแห่งการเรียนรู้
๒) ปริมาณการฝึกฝน คนเก่งๆล้วนฝึกฝนซ้ำไปซ้ำมาเรากับคนโง่

มีข้อมูลป้อนกลับอย่างต่อเนื่อง
คุณอาจขัดเกลาเทคนิคต่างๆอย่างสุดความสามารถแต่ถ้าคุณมองไม่เห็นผลลัพธ์จากการฝึกฝน สองสิ่งที่ตามมาคือ
ฝีมือของคุณจะไม่พัฒนา
และคุณจะเลือกใส่ใจไปในที่สุด
ในกรณีนี้ข้อมูลป้อนกลับจากครูโค้ชหรือพี่เลี้ยงจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย

ต้องอาศัยพลังสมองสูงมาก
สิ่งสำคัญที่สุดในการฝึกฝนอย่างจดจ่อคือการจดจ่อและสมาธิ
การจับตาดูอยู่ตลอดว่าองค์ประกอบหลักของทักษะใดยังไม่น่าพอใจ
และพยายามปรับปรุงมันสุดความสามารถนั้น เป็นภาระที่หนักมากสำหรับสมอง

เป็นกิจกรรมที่ไม่สนุก
เพราะเราต้องมองหาสิ่งที่ยังทำได้ไม่ดีอยู่เสมอ จากนั้นก็ขบคิดว่ากิจกรรมใดที่จะช่วยให้เราเก่งขึ้น ไม่ว่ามันจะยากลำบากและทรมานมากเพียงไหนก็ตาม นอกจากนี้หลังจากการฝึกฝนแต่ละครั้ง เราก็บังคับตัวเองให้ประเมินว่ามีอะไรที่เรายังทำได้ไม่ดีบ้าง หรือไม่ก็ขอให้คนอื่นช่วยบอก เพื่อจะได้ทำสิ่งนั้นซ้ำอีกครั้ง และทำต่อไปเรื่อยๆจนกระทั่งหมดแรง
นี่คือเหตุผลว่าการฝึกฝนอย่างจดจ่อเป็นกิจกรรมที่ไม่สนุกเลย

ดังนั้นทำใจยอมรับเถอะว่า คุณจะไม่ได้พบกับความสนุกขณะที่พยายามปรับปรุงฝีมือของตัวเอง
มันต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้วครับ
ถ้ากิจกรรมที่ขัดเกลาผู้คนให้เป็นเลิศเป็นเรื่องง่ายและสนุก
ใครๆก็คงทำกันและมีแต่คนเก่งเต็มไปหมดแล้ว
อันที่จริงนี่ถือว่าเป็นข่าวดีเสียด้วยซ้ำ เพราะคุณจะยิ่งได้เปรียบที่ยินดีทำในสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ยอมทำ

ไม่ว่าการฝึกฝนที่ถูกออกแบบมาดีแค่ไหนตัวแปรสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือความทุ่มเทของผู้ฝึกเอง

ในเมื่อมันเป็นกิจกรรมได้ยากลำบากไม่สนุก และต้องใช้เวลาหลายพันชั่วโมงตลอดหลายปี กว่าจะเป็นเลิศได้ แล้วทำไมคนบางคนถึงอุทิศตนเพื่อฝึกฝนอย่างจดจ่อ ขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่ยอมทำ
ในเมื่อเห็นเห็นกันอยู่ว่านี่คือหนทางสู่ความเป็นเลิศ แล้วทำไมถึงมีคนเลือกเดินตามเส้นทางนี้น้อยนัก?

บรรดาผู้ที่บรรลุความเป็นเลิศ จะไม่ปล่อยให้ทักษะของตัวเองไปถึงขั้นที่เป็นอัตโนมัติโดยเด็ดขาด
นี่แหละครับผลลัพธ์ของการฝึกฝนอย่างจดจ่อ
นั่นคือความสามารถที่จะหลีกเลี่ยงการทําทักษะโดยอัตโนมัติ
การฝึกฝนหมายถึงการพยายามทำในสิ่งที่เรายังทำได้ไม่ดี ดังนั้นพฤติกรรมอัตโนมัติจึงไม่มีทางเกิดขึ้นเลย
การหมั่นฝึกฝนเพื่อหลีกเลี่ยงการทำอะไรโดยอัตโนมัติทำให้คนจริงๆมีพัฒนาการอยู่เสมอ

ผลลัพธ์ที่สำคัญที่สุดของการฝึกฝน คือมันช่วยให้ผู้ฝึกก้าวข้ามหรือรู้วิธีหลบหลีกขีดจำกัดบางอย่าง
การฝึกฝนทำให้พวกเขารับรู้ มีความรู้และจดจำได้มากกว่าคนส่วนใหญ่
จนกระทั่งในที่สุดการฝึกฝนอย่างเข้มข้นเป็นเวลาหลายปีก็ทำให้ร่างกายและสมองของพวกเขาเปลี่ยนสภาพไปจริงๆ

ผู้เล่นชั้นยอดรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปได้เร็วกว่าผู้เล่นทั่วไป เพราะพวกเขามองเห็นมากกว่า
นักพิมพ์ดีดมือทองเอาชนะขีดจำกัดด้วยการมองดูข้อความที่ต้องพิมพ์ล่วงหน้าไปไกลกว่าคนทั่วไป จึงสามารถลากนิ้วไปถึงแป้นที่ต้องเคาะเป็นลำดับถัดไปก่อนเวลาเล็กน้อย
บางครั้งคนเก่งๆมองเห็นอะไรได้มากกว่าเพราะพวกเขาเข้าใจสิ่งที่เห็นได้ดีกว่าและไวกว่า

เมื่อรู้ว่ามีสิ่งใดรออยู่ข้างหน้า พวกเขาก็สามารถเตรียมตัวตั้งรับและทำผลงานได้ดีกว่า
พวกเขาอาจมองล่วงหน้าไปเพียง 1 วินาที แต่มันก็นานพอที่จะสร้างความแตกต่างได้แล้ว
แน่นอนว่าพวกคนในวงการอื่นอาจต้องมองล่วงหน้าไปไกลมากกว่านี้มากเพื่อสร้างความได้เปรียบ

ส่วนใหญ่แล้วพลังของการมองไปให้ไกล เกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนมุมมองเพื่อให้เห็นอะไรได้กว้างหรือไกลกว่าเดิม

การฝึกฝนอย่างจดจ่อ ทำให้ผู้ฝึกมีความรู้ที่มากกว่าและเหนือชั้นกว่า
เพื่อพัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่องผู้ฝึกต้องขนขวายหาความรู้เพิ่มเติมเพราะเวลาผ่านไปพวกเขาก็จะมีความสามารถในการคิดเชื่อมโยงความรู้เหล่านั้นและนำไปใช้ประโยชน์

คนเก่งๆเข้าใจทักษะของตนอย่างลึกซึ้งกว่าคนทั่วไปจึงมีโครงสร้างช่วยจำที่ดีกว่า
หมอเก่งๆสามารถจดจำข้อมูลเกี่ยวกับคนไข้แต่ละรายได้มากกว่าเพราะพวกเขาต้องใช้ข้อมูลนั้นประกอบการวินิจฉัยโรคด้วยแนวทางที่ซับซ้อนกว่าหมอทั่วไป
โปรแกรมเมอร์มือฉมังจดจำโครงสร้างทั้งหมดของโปรแกรมได้ดีกว่าพวกมือใหม่เพราะพวกเขาเข้าใจว่ามันมีหน้าที่อะไรและทำงานอย่างไร

สมองส่วนที่ควบคุมการทำความเข้าใจเรื่องพื้นที่และทิศทางจะขยายขนาดขึ้น
โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่าเยื่อไมอีลินซึ่งหุ้มรอบใยประสาทและช่วยให้เซลล์ประสาททำงานได้ดีขึ้น
การฝึกฝนจะช่วยเพิ่มปริมาณของเยื่อดังกล่าว

การค้นหาจุดบกพร่องและทำการแก้ไขให้ถูกต้องคือขั้นตอนสำคัญของการฝึกฝนอย่างจดจ่อ

ตั้งเป้าหมาย
คุณต้องรู้ตัวเองไม่อยากทำอะไร
สิ่งสำคัญในที่นี้คือการรู้นะครับ
ในโลกที่คนจำนวนมากมุ่งมั่นจะเป็นเลิศอะไรสักอย่างให้ได้นั้น ไม่มีสักคนที่บรรลุเป้าหมายโดยไม่ทุ่มสุดตัว ด้วยเหตุนี้คุณจึงต้องรู้ให้แน่ชัดว่าปรารถนาจะเป็นเลิศในทักษะใด
ไม่ใช่แค่รู้หรือคิดว่าอาจจะทำเท่านั้น

เมื่อกำหนดเป้าหมายแล้ว
ขั้นตอนต่อไปคือการวางแผนวัดต้องทำอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
ซึ่งบรรดาผู้มีผลงานยอดเยี่ยมก็จะวางแผนอย่างเจาะจงโดยมุ่งเน้นเทคนิคที่จะใช้
พวกเขาเห็นภาพชัดเจนไม่ใช่แค่รางๆว่าต้องทำอะไรอย่างไรถึงจะบรรลุเป้าหมายได้

หลังเสร็จงาน
การฝึกฝนย่อมไร้ค่าหากปราศจากข้อมูลป้อนกลับที่เป็นประโยชน์
ในทำนองเดียวกันการฝึกฝนในการทำงานย่อมไม่เกิดประโยชน์ใดๆหากเราไม่ประเมินผลลัพธ์หลังจากทุกอย่างเสร็จสิ้น
นี่เป็นการประเมินที่เราต้องทำด้วยตัวเอง เพราะการฝึกฝนเกิดขึ้นภายในหัวล้วนๆ
จึงมีแต่เราเท่านั้นที่รู้ว่าตัวเองกำลังพยายามทำอะไรและตัดสินได้ว่าผลลัพธ์เป็นอย่างไร

คนเก่งๆมีวิธีตัดสินตัวเองที่แตกต่างจากคนทั่วไปโดยจะประเมินอย่างเฉพาะเจาะจงมากกว่า
เช่นเดียวกับตอนที่กำหนดเป้าหมายและวางแผน คนทั่วไปพอใจกับการบอกตัวเองว่าทำได้ดีมาก พอใช้หรือต้องปรับปรุง แต่คนเก่งๆ ตัดสินโดยใช้เกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่พวกเขาพยายามทำ
บางครั้งพวกเขาเปรียบเทียบผลงานของตัวเองกับผลงานที่ดีที่สุดที่เคยทำมา
บางครั้งก็เปรียบเทียบกับผลงานของคู่แข่งที่กำลังฟาดฟันกันอยู่หรือคู่แข่งที่คาดว่าจะได้เจอในอนาคต
บางครั้งก็เปรียบเทียบกับผลงานที่ดีที่สุดในวงการ
ไม่ว่าจะเกณฑ์จะเป็นอะไร สิ่งสำคัญที่สุดคือมันต้องดึงผู้ฝึกออกจากขอบเขตความสามารถในปัจจุบัน

ถ้าคุณผลักดันตัวเองอย่างเหมาะสมและประเมินตัวเองอย่างเข้มงวด
คุณจะเล็งเห็นว่าทำอะไรผิดพลาดบ้าง
สิ่งสำคัญในการประเมินตัวเองคือระบุว่าความผิดพลาดนั้นเกิดจากอะไร

คนทั่วไปเชื่อว่าความผิดพลาดของพวกเขาเกิดจากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม
เช่น คู่แข่งผมโชคดี, งานมันยากเกินไป หรือฉันไม่มีพรสวรรค์ในด้านนี้
ตรงกันข้ามคนเก่งเชื่อว่าความผิดพลาดเกิดจากตัวเขาเอง
พวกเขาขบคิดเองว่าต้องทำอย่างไรบ้างจึงจะบรรลุเป้าหมาย
ดังนั้นเมื่อมีบางอย่างผิดพลาด พวกเขาก็คาดได้ว่าองค์ประกอบใดที่ไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ตามที่ตั้งใจ
เขาจะไม่โทษความผิดพลาดของตน ว่าเป็นเพราะดินฟ้าอากาศ, สภาพสนาม, โชคชะตา
แต่พวกเขาจะหาคำตอบจากกลยุทธ์ที่ตัวเองใช้

เนื่องจากคนเก่งๆมีกระบวนการทำงานที่ต่างจากคนอื่นมากมาตั้งแต่ต้น
พวกเขาจึงพอมองออกว่าควรปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง
ซึ่งหมายความว่าครั้งต่อไปพวกเขาจะทำได้ดีกว่าเดิม
จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่พวกเขายินดีเผชิญหน้ากับประสบการณ์นั้นอีกครั้ง แทนที่จะหาทางหลีกเลี่ยง โดยมีเป้าหมายและกลยุทธ์ที่เฉพาะเจาะจงชุดใหม่ เพราะประสบการณ์ครั้งก่อนได้พิสูจน์แล้วว่าเป้าหมายและกลยุทธ์ใดใช้ได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้พวกเขายังมีแนวโน้มที่จะเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองมากกว่า เพราะการวิเคราะห์ผลงานอย่างละเอียดของพวกเขา ช่วยให้คำตอบได้มากกว่าการวิเคราะห์ที่สะเปะสะปะและคลุมเครือของคนทั่วไป
ความเชื่อมั่นดังกล่าวเป็นเชื้อเพลิงกระตุ้นให้พวกเขามีแรงจูงใจที่จะพยายามพัฒนาตัวเองต่อ

คนเก่งๆสามารถดึงความจำระยะยาวมาใช้ในแบบที่คนธรรมดาไม่อาจทำได้
เพราะสิ่งที่พวกเขามีไม่ใช่ความจำที่เป็นเลิศ
แต่เป็นความรอบรู้ในทักษะของตนต่างหาก
การจัดการความรู้เหล่านั้นให้อยู่ในรูปแบบของแบบจำลองทางความคิดนี้เอง ที่ทำให้มันมีพลังขึ้นมา
แบบจำลองความคิดไม่เพียงช่วยให้จำอะไรได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้พวกเขาเรียนรู้และทำความเข้าใจข้อมูลใหม่ๆได้ดีกว่าคนทั่วไปด้วย

สุดยอดนักสร้างสรรค์ คือผู้ที่ทุ่มเทให้กับสิ่งที่ตนเลือกอย่างเต็มตัวและต่อเนื่อง
พวกเขาอุทิศชีวิตเพื่อศึกษาจนมีความรู้มหาศาล และผลักดันตัวเองให้ก้าวไปอยู่ในระดับแนวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

นักสเก็ตทั่วไปจะมัวฝึกซ้อมท่ากระโดดที่ทำได้อยู่แล้ว
ขณะที่นักสเก็ตชั้นนำให้เวลากับท่ากระโดดที่ยังทำไม่สำเร็จ
ซึ่งในวันหนึ่งจะช่วยให้คว้าเหรียญโอลิมปิกมาได้
และต้องล้มหัวทิ่มหัวตำนับครั้งไม่ถ้วนกว่าจะเคลื่อนไหวได้อย่างช่ำชอง



บนเส้นทางสู่เหรียญทองของ ชิซูกะ อาราคาวะ
ก้นของเธอต้องกระแทกกับพื้นน้ำแข็งอันไร้ความปราณีมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นครั้ง
แต่ผลลัพธ์ก็คุ้มค่าเพราะมันคือเกียรติยศระดับโอลิมปิกและเป็นที่ยกย่องชื่นชมของคนทั้งประเทศ
แถมเธอยังทำให้คำว่า "อินา บาวเออร์" กลายเป็นคำพูดติดปากของชาวญี่ปุ่นในชั่วข้ามคืน

ถ้าความเป็นเลิศเกิดจากการล้มก้นจ้ำเบ้ากว่า 20,000 ครั้ง
คำถามหนึ่งย่อมผุดขึ้นมาเป็นธรรมดา
ทำไมคนหนึ่งถึงยอมอดทนกับอะไรแบบนั้น?
เพื่อรางวัลในอนาคตที่อยู่ห่างไกลออกไปหลายปี
นี่เป็นคำถามที่ล้ำลึกที่สุดในการทำความเข้าใจเรื่องความเป็นเลิศ
เพราะมันเกี่ยวกับสิ่งที่แต่ละคนตัดสินใจจะทำในชีวิตและแรงปรารถนาที่ผลักดันให้พวกเขาทำเช่นนั้น

คำถามสำคัญเกี่ยวกับแรงจูงใจในการไขว่คว้าความเป็นเลิศ คือ มันมีที่มาจากภายในหรือภายนอก?
ผู้คนเคี่ยวเข็ญตัวเองเพราะพวกเขามีแรงผลักดันในตัวให้ทำเช่นนั้น หรือมีวิธีที่จะกระตุ้นให้พวกเขาทำสิ่งที่จำเป็นต้องทำได้?

แรงจูงใจในงานสร้างสรรค์มีความน่าสนใจเป็นพิเศษด้วยเหตุผล 2 ข้อ
ข้อแรก ในหลายสาขาอาชีพความคิดสร้างสรรค์เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเลิศในระดับสูง
ผู้คนต่อยอดจากความก้าวหน้าในปัจจุบันและสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา
ข้อสอง การสร้างสรรค์ต้องอาศัยสมาธิและความแน่วแน่ในการฝึกฝน เช่นเดียวกับความสามารถหรืออื่นๆ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่รักษาเอาไว้เป็นระยะเวลานานๆได้ง่ายนัก

นักสร้างสรรค์ใจจดจ่อกับงานที่ทำด้วยการตั้งคำถามว่า "ฉันจะแก้ปัญหานี้อย่างไร?"
ไม่ใช่จดจ่อกับตัวเองด้วยการตั้งคำถามว่า "ฉันจะได้ประโยชน์อะไรจากการแก้ปัญหานี้?"

กลไกหนึ่งที่อาจเชื่อมโยงแรงจูงใจภายในเข้ากับการฝึกฝนอย่างจดจ่อนั่นคือ "ภาวะลื่นไหล"
มันคือชั่วขณะที่คนเราดำดิ่งไปกับการทำอะไรบางอย่าง  จนรู้สึกเหมือนเวลาเดินช้าลง เกิดความเพลิดเพลินมากขึ้น และไม่ต้องใช้ความพยายามในการทำงานเลย
อาการ "เคลิบเคลิ้ม" เช่นนี้เกิดขึ้นเมื่องานมีความท้าทายในระดับที่สอดคล้องกับทักษะของเรา
ถ้างานง่ายเกินไปประสบการณ์ที่ได้รับก็จะน่าเบื่อ
ถ้ายากเกินไปเราก็อาจรู้สึกท้อแท้ในการพัฒนาตัวเอง เราต้องการแสวงหาภารกิจที่ท้าทายมากขึ้น และยกระดับทักษะให้ทัดเทียมกับความท้าทายเพื่อรักษาภาวะลื่นไหลเอาไว้

หากว่ากันตามหลักการแล้ว การฝึกฝนอย่างจดจ่อไม่ใช่ประสบการณ์ที่น่าเพลิดเพลิน
ซึ่งก็สมเหตุสมผลดี เพราะนี่คือการพยายามทำในสิ่งที่เรายังทำไม่ได้และต้องล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า
แต่จากงานวิจัยที่ทำการศึกษาคนเก่งๆกลับพบว่าผู้เล่นชั้นนำในวงการเหล่านั้นบอกว่าการฝึกฝนเป็นประสบการณ์ที่ค่อนข้างเพลิดเพลินเลยทีเดียว

สำหรับนักคณิตศาสตร์ส่วนใหญ่ ความปลื้มปิติที่ได้ค้นพบวิธีการใหม่ๆในการแก้โจทย์ มีความสำคัญยิ่งกว่าการทำคะแนนสอบได้เยอะ เรียนได้เกรดดีหรือได้รับการยอมรับจากครูซะอีก

แรงจูงใจหลากหลายรูปแบบที่ผลักดันคนเก่ง ล้วนแต่เป็นแรงจูงใจจากภายใน
ไม่ว่าจะเป็นความต้องการความสำเร็จ การมีอำนาจเหนือผู้อื่น หรือแม้กระทั่งทำสิ่งดีๆให้กับโลก
แทบไม่มีแรงจูงใจจากภายนอกเลย
ซึ่งก็สมเหตุสมผลดี
ลองดูบรรดาผู้บริหารและผู้ประกอบการที่โดดเด่นสิครับ แม้พวกเขาจะร่ำรวยจนอยู่ได้อย่างสบายไปชั่วชีวิต อีกทั้งมีชื่อเสียงเกินกว่าที่ใครจะคาดฝันแล้ว
พวกเขาก็ยังทำงานและพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นเรื่อยๆ
หลักฐานทั้งหมดนี้สอดคล้องกับความเชื่ออันแพร่หลายที่ว่า "แรงจูงใจภายในมีอานุภาพมากที่สุด"

หลักฐานมากมายแสดงให้เห็นว่า แรงผลักดันที่ทำให้คนเราอดทนต่อความยากลำบากเพื่อพัฒนาตนเองนั้นมาจากภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยผู้ใหญ่
คำถามต่อไปก็คือความปรารถนาแรงกล้าเช่นนั้นมีที่มาจากไหนสิ่งใดเป็นตัวกำหนดว่าใครมีหรือไม่มีแรงจูงใจ?
คำตอบก็คือ "ความกระหายที่จะเก่ง"
มันหมายถึงแรงปรารถนาอันท่วมท้นของเด็กๆที่ต้องการทุ่มเทให้กับทักษะบางอย่างตั้งแต่อายุยังน้อยมาก
พวกเขามักจะเกิดมาพร้อมกับความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะทุ่มเทให้กับทักษะบางอย่าง
เมื่อพิจารณาตามหลักการสู่ความเป็นเลิศพวกเขาประสบความสำเร็จเพราะได้ผ่านการฝึกฝนมามากมาย

ทำไมบางคนถึงฝึกฝนทุ่มเททุกวันได้นานหลายปีหรืออาจถึงหลายสิบปี
จนประสบความสำเร็จระดับโลกได้ในที่สุด?

สิ่งใดผลักดันให้คุณอดทนทำงานหนักเพื่อก้าวขึ้นเป็น CEO นักการเงิน นักเปียโน ทนายความ ฯลฯ  และมีสิ่งที่ทำเช่นนั้นได้จริงๆหรือ?
ก่อนอื่นคนต้องถามตัวเองว่า
สิ่งที่คุณต้องการอย่างแท้จริงคืออะไร?
แล้วคุณมีความเชื่ออย่างไร?

สิ่งที่คุณต้องการอย่างแท้จริงจากก้นบึ้งของหัวใจ มีความสำคัญ
เพราะการฝึกฝนอย่างจดจ่อเป็นภารกิจที่หนักหนา
และการเป็นเลิศก็เป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต
คุณต้องอุทิศเวลาหลายปีให้กับเป้าหมาย
ซึ่งมีเพียงคนที่ปรารถนาจะบรรลุเป้าหมายอย่างแรงกล้าจริงๆเท่านั้นที่จะไปถึง

คุณคงเคยเห็นตัวอย่างว่าบุคคลที่ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดๆต้องยอมเสียสละอะไรบ้าง
คนประเภทนี้มักจะหมกมุ่นกับงานของตัวเองมาก
จนการเข้าสังคมหรืองานอดิเรกแทบไม่มีความสำคัญสำหรับพวกเขา
นั่นอาจฟังดูเป็นการอุทิศตัวเองและการมีเป้าหมายแน่วแน่จนน่าชื่นชม

คุณต้องถามตัวเองว่า
๑) สิ่งใดมีค่ามากพอที่จะทำให้คุณยอมฝ่าฟันเรื่องเหล่านี้
๒) สิ่งใดทำให้คนเกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าจนยอมทุ่มเทให้กับภารกิจอันดับหนาสาหัสและไม่มีวันจบสิ้น ซึ่งต้องยอมสละความสัมพันธ์และความสนใจด้านอื่นๆ เพื่อที่วันหนึ่งจะได้มันมาครอบครอง
บรรดาผู้ประสบความสำเร็จล้วนต้องสูญเสียอะไรไปหลายอย่างกว่าจะมายืนอยู่ในจุดนี้ได้

อีกคำถามที่ลึกซึ้งกว่าก็คือ
คุณมีความเชื่ออย่างไร?
คุณเชื่อหรือไม่ว่าตัวเองมีทางเลือกในเรื่องของความเป็นเลิศ?
คุณเชื่อไหมว่าถ้าทุ่มเทฝึกฝนตามแนวทางที่ออกแบบมาอย่างดีวันละหลายชั่วโมงติดต่อกันในหลายปีความสามารถของคุณจะพัฒนาอย่างน่าทึ่งไปจนถึงระดับสูงสุดในที่สุด?
ถ้าคุณเชื่อเช่นนั้นก็มีโอกาสที่คุณจะขัดเกลาตัวเองและบรรลุความเป็นเลิศ

สุดท้ายแล้ว ปัจจัยชี้ขาดความสำเร็จก็คือ "ความเชื่อ" นั่นเอง
ทุกคนที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ล้วนพบเจออุปสรรคเลวร้ายระหว่างทาง
โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆทั้งสิ้น
ถ้าคุณเชื่อว่าการฝึกฝนที่ถูกต้องเหมาะสม
จะช่วยให้คุณเอาชนะอุปสรรคได้คุณก็มีโอกาสที่จะเก่งขึ้น

-------------------------------------

ขอเสริมถึงไอดอลของผมสักนิด



เนื่องจากอ่านไปก็ทำให้นึกถึงบางประโยคในหนังสือ
เทรดแบบเซียนหุ้น ให้ได้กำไรขั้นเทพ
ผมคิดว่าแกคือคนหนึ่งที่บรรลุจนถึงขั้นนี้แล้ว
ทั้งนี้เพราะผมจับประโยคบางอย่างที่มันเป็นไปในทำนองเดียวกันกับหนังสือเล่มนี้เลย

- โดยทั่วไปแล้วนักลงทุนธรรมดาจะได้กำไรแค่ระดับปานกลางและไม่สม่ำเสมอซึ่งก็ถือว่าดีที่สุดแล้วเหตุผลที่ไม่ประสบความสำเร็จ ก็เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ยอมศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้ว่าอะไรใช้ได้ผลในตลาดหุ้นจริงๆและอะไรช่วยทำให้ได้กําไรขั้นเทพ

- นักเทรดหุ้นเก่งๆมีคุณสมบัติบางอย่างเหมือนกันและเป็นคุณสมบัติที่นำไปสู่ความสำเร็จ
ถ้าไม่มีคุณสมบัติเหล่านี้ คุณคงเทรดหุ้นไม่ได้เงิน
ในแต่ละการแข่งขันจะมีเพียงไม่กี่คน ที่มีลักษณะพิเศษและความชำนาญที่จำเป็นสำหรับการแข่งขันนั้นๆ
คุณสมบัติที่ว่า คืออะไร?
๑) ระบบความคิด (mindset)
๒) วินัยทางอารมณ์
๓) วิธีการเทรดที่มีประสิทธิภาพ
๔) ทุ่มเท แรงปรารถนาไปสู่ความสำเร็จ จำเป็นในการสร้างกำไรขั้นเทพ
๕) กลยุทธ์ไปสู่ชัยชนะ
การสร้างกำไรขั้นเทพ ต่างจากกำไรดีพอใช้ คือมันเปลี่ยนชีวิต

- ในช่วงที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ต้องไม่สนใจต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของคนอื่น เพราะคนพวกนั้นยังไม่เคยทำอะไรได้ อย่าให้ใครมาโน้มน้าวว่าคุณทำไม่ได้ อย่าไปใส่ใจกับคำพูดที่ทำให้ท้อใจ
อึดแบบไม่มีเงื่อนไข มุ่งมั่นต่อเป้าหมายอย่างแน่วแน่ ไม่หวั่นไหว เมื่อมุ่งมั่นต่อสิ่งใดก็ตาม คุณจะไม่เลือกสิ่งอื่นใดเลยนอกจากความสำเร็จ เอาเวลานั้นไปเสริมสร้างอำนาจในการศึกษาและเอาไปใช้งานจริง

- การฝึกฝนที่ถูกต้องก็คือทุ่มเทเวลาไปในการวิเคราะห์ผลงานของตัวเองอย่างจริงจัง
เพื่อค้นหาว่าวิธีการผิดตรงไหนและแก้ไขมันให้ถูกต้อง

- นักเทรดหุ้นเก่งๆจะตื่นเต้นที่จะหาหุ้นดาวรุ่งตัวต่อไป แทบรอไม่ไหวที่จะไปทำงานเพื่อค้นหาหุ้นดาวเด่นตัวต่อไป ตลาดหุ้นท้าทายเขา เขาหลงไหลในเกมการเทรด ต้องการที่จะเป็นนักเทรดหุ้นที่เก่งที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

- ความหลงไหลสร้างไม่ได้ ต้องมาจากข้างในตัวคุณ อยู่สูงกว่าตัวเงิน รู้สึกสนุกกับมันจริงๆ และทำได้ดีเยี่ยม ลืมเรื่องเงินแล้วมุ่งมั่นที่จะเป็นนักเทรดหุ้นเก่งที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เดี๋ยวเงินก็จะตามมาเอง

- คนที่สนุกกับการลงทุนและศิลปะการเก็งกำไรสามารถจะเรียนรู้เทคนิคและวินัยที่จำเป็นที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในตลาดหุ้นได้ขอให้มุ่งความสนใจไปที่การเป็นนักเทรดหุ้นที่เก่งที่สุดแล้วเงินก็จะตามมาเองสิ่งสำคัญคือให้ความหลงใหลขับเคลื่อนนำพาคุณไป

- ลงมือทำเดี๋ยวนี้ แค่หลงไหลไม่พอ ต้องลงมือทำ ทำในสิ่งที่คุณหลงใหลคุณสนุกและทุ่มเทให้มันแต่ละเช้าเมื่อตื่นขึ้นมาได้ทำในสิ่งที่คุณรักคุณจะไม่รู้สึกว่าต้องทำงานเลยสักวัน

- ไม่มีสิ่งใดแทนที่ประสบการณ์จริงได้ คุณต้องสร้างเองตลอดเวลา ต้องลองผิดลองถูก ความยากลำบากแสนสาหัสในช่วงการเรียนรู้ แต่เมื่อสั่งสมประสบการณ์ได้แล้ว มันจะติดตัวคุณตลอดไป มันเป็นเครื่องมือยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับความสำเร็จในการเทรดหุ้น

- มุ่งเป้าไปที่สไตล์ใดสายหนึ่งโดยเฉพาะ ทำให้ต้องยอมเสียสไตล์อื่นไป
เมื่อใดทีุ่ณนิยามสไตล์และจุดหมายตัวเองได้
ก็จะยึดตามแผนการและบรรลุผลสำเร็จได้ง่ายขึ้น
ในทันทีที่คุณยอมสละคุณก็จะได้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นรางวัล

ขณะที่คุณผจญกับการลองผิดลองถูก
และความยากลำบากแสนสาหัสในช่วงการเรียนรู้
ขอให้ระลึกไว้ว่า
เมื่อสั่งสมประสบการณ์ได้แล้ว
ทักษะการเทรดหุ้นอันช่ำชองนี้จะติดอยู่กับตัวท่านตลอดไป
ไม่มีใครฉกฉวยเอาไปได้
สิ่งที่คุณเรียนรู้ และประสบการณ์ตรงที่สั่งสมมานั้น
เป็นเครื่องมือยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับความสำเร็จในชีวิตและในการเทรดหุ้น

7 บทความยอดนิยมในรอบ 30 วันที่ผ่านมา

VCP (Volatility Contraction Pattern) และรูปแบบที่คล้ายกัน

(มือใหม่เล่นหุ้น) Wyckoff Logic ของดีที่เม่ามือใหม่เอาไปใช้ได้ง่ายๆ

คำคมเกี่ยวกับเคล็ดวิชาจากหนังเรื่อง กังฟูแพนด้า

รวมแนวทางการนับคลื่นจากเซียน Elliott Wave

อธิบาย Wyckoff Accumulation Phase แบบละเอียดยิบ

ชมฟรี! คอร์สหุ้น ออนไลน์ 170 คลิป จัดเต็ม ไม่มีกั๊ก Free Full Trading Course by Zyo

สรุปหนังสือ Trade Like a Casino