The Power of Less
ทำน้อยให้ได้มาก
สาเหตุที่ทำให้ผมสนใจเล่มนี้ ก็เพราะอยากรู้แนวทางของการเลือกทำในสิ่งที่สำคัญที่สุด
โฟกัสแค่ไม่กี่อย่าง ไม่ต้องทำอะไรจับฉ่าย หัวเรื่องทำน้อยได้มาก
จึงน่าจะช่วยตอบคำถามและสนองความต้องการของผมได้
อีกทั้งยังอยากรู้ว่าเขามีวิธีการเลือกและรอคอยที่น่าสนใจอยู่ภายในเล่มบ้างหรือไม่
ก็ได้ข้อมูลหลายอย่างที่มีประโยชน์ ดังนี้...
ความเรียบง่าย
ผมเชื่อในความเรียบง่ายอย่างหมดใจ เมื่อทำชีวิตให้เรียบง่ายขึ้น ชีวิตผมก็ดีขึ้น
เมื่อลดจำนวนสิ่งรบกวน ผมก็สามารถเพลิดเพลินไปกับสิ่งที่ผมรัก เมื่อกำจัดสิ่งที่ทำให้ไขว้เขว ผมก็ทำงานได้ดีขึ้นและจดจ่อได้มากขึ้น
ความเรียบง่ายที่ผมตามหาในชีวิต ก็คือความเรียบง่ายในทุกสิ่งที่ผมทำ ผมอยากทำสิ่งต่างๆให้น้อยลง ไม่ใช่มากขึ้น
ผมอยากประสบความสำเร็จมากขึ้น จากสิ่งที่ผมเลือกที่จะทำ
ความเรียบง่าย สามารถสรุปเหลือเพียง ๒ ขั้นตอนดังนี้
๑) มองหาสิ่งสำคัญ
๒) กำจัดส่วนที่เหลือ
พูดง่ายๆคือ "จดจ่อกับสิ่งสำคัญ และลดทอนส่วนอื่นๆที่ไม่จำเป็น"
หลักการ ๖ ข้อ ในการทำน้อยให้ได้มาก
๑) สร้างข้อจำกัด
๒) เลือกแต่สิ่งสำคัญ
๓) ทำให้เรียบง่ายขึ้น
๔) จดจ่อ
๕) สร้างนิสัย
๖) เริ่มจากสิ่งเล็กๆ
เลือกสิ่งที่สร้างผลกระทบมากที่สุด
๑) ตรวจสอบงานทั้งหมดที่คุณต้องทำ แล้วตั้งคำถามกับงานแต่ละชิ้นว่า
- มันจะสร้างผลกระทบได้ยาวนานกว่าแค่สัปดาห์หรือเดือนนี้ไหม?
- มันจะเปลี่ยนตำแหน่งงานอาชีพคือชีวิตของฉันอย่างไร?
- มันจะส่งเสริมเป้าหมายระยะยาวของฉันอย่างไร?
- และเป้าหมายที่ว่านั้น มันสำคัญอย่างไร? คำถามเหล่านี้จะช่วยให้คุณฟังธงได้ว่า งานไหนที่สร้างผลกระทบในระยะยาวมากที่สุด
๒) เริ่มต้นจากเป้าหมายของคุณ
หากคุณสามารถระบุเป้าหมายที่อยากทำให้สำเร็จในปีหน้าออกมาได้ คุณก็จะวางแผนได้ว่าในแต่ละวันคุณต้องทำสิ่งใดบ้าง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
ใช้การสร้างข้อจำกัดกับทุกแง่มุมของชีวิต
จงใช้ข้อจำกัดเพื่อบีบให้เราเลือกแต่สิ่งสำคัญ
- คุณมีโครงการที่ต้องทำมากเกินไปใช่ไหม?
ลองจำกัดให้เหลือแค่ 3 โครงการดูสิ
การถามตัวเองด้วยคำถามต่อไปนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างมาก
- ฉันรู้สึกว่าด้านใดในชีวิตที่หนักหนาจนเกินรับไหว?
- ฉันอยากทำสิ่งใดให้เรียบง่ายขึ้น?
- นอกจากงานด้านต่างๆที่ฉันต้องทำให้สำเร็จ ฉันอยากจำกัดจำนวนข้าวของ ข้อมูลที่ได้รับ หรือภาระหน้าที่ของตัวเองด้วยหรือไม่?
การไร้ข้อจำกัดคือความอ่อนแอ
จงเรียนรู้ที่จะจดจ่อด้วยข้อจำกัด แล้วคุณจะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับตัวเองได้
ประโยชน์ของการสร้างข้อจำกัด
- ทำให้สิ่งต่างๆเรียบง่ายขึ้น
- ทำให้คุณจดจ่อ แทนที่จะทำนั่นทำนี่จนเหนื่อยล้า คุณจะจำกัดตัวเองให้อยู่กับแค่ไม่กี่เรื่องที่คุณจำเป็นต้องทุ่มเทพลังให้จริงๆ
- ช่วยให้คุณพุ่งเป้าไปที่สิ่งสำคัญ
- ช่วยให้คุณทำงานเสร็จ ถ้าเราสามารถจดจ่อกับเรื่องสำคัญเพียงไม่กี่เรื่อง เราจะทำมันจนเสร็จได้ทั้งหมด จำไม่ว่าคุณจะทำงานเสร็จมากขึ้น ด้วยการจดจ่อกับเรื่องสำคัญ
- ทำให้คุณมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แนวทางการสร้างข้อจำกัดให้กับเรื่องใดก็ตาม
๑)วิเคราะห์ระดับการใช้ในปัจจุบัน และจำกัดจำนวนครั้งให้น้อยลง โดยตั้งต้นจากจำนวนที่เหมาะสมในความคิดของคุณ
๒) ทดลองใช้ไปสัก 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงวิเคราะห์ว่าข้อจำกัดดังกล่าวใช้ได้ผลกับคุณหรือไม่?
๓) ถ้าไม่ได้ผล ให้ปรับไปสู่ระดับที่คุณคิดว่าน่าจะดีกว่า และทดลองใช้สัก 1 สัปดาห์
๔) ปรับแต่งไปเรื่อยๆ จนกระทั่งค้นพบระดับที่เหมาะสมและจนกว่ามันจะกลายเป็นนิสัย
การเลือกสิ่งสำคัญ
คุณต้องตั้งคำถามต่อไปนี้
๑) ค่านิยมของคุณคืออะไร?
ค่านิยมคือการรู้ว่าสิ่งไหนมีความสำคัญที่สุด จงนึกถึงสิ่งต่างๆที่สำคัญต่อคุณอย่างแท้จริง คุณสมบัติที่คุณอยากมี หรือหลักการที่คุณอยากนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
๒) เป้าหมายของคุณคืออะไร?
คุณอยากทำสิ่งใดในชีวิตให้สำเร็จ ไม่ว่าจะภายในปีหน้า เดือนนี้ หรือวันนี้ หากคุณรู้ว่าตัวเองกำลังพยายามทำสิ่งใดให้สำเร็จ คุณก็สามารถตัดสินใจได้ว่าการกระทำ หรือสิ่งใดก็ตามจะช่วยให้คุณบรรลุผลที่ต้องการได้หรือไม่
๓) คนรักในสิ่งใด?
นึกถึงสิ่งที่คุณรัก คนที่อยากใช้เวลาร่วมด้วย และสิ่งที่คุณมีใจรักที่จะทำ
๔) อะไรที่มีความสำคัญต่อตัวคุณ?
ให้เขียนสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตออกมาทั้งหมด จะเป็นเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว หรือเรื่องใดก็ได้ที่คุณกำลังนึกถึง
๕) อะไรที่สร้างผลกระทบมากที่สุดในระยะยาว?
๖) ความจำเป็นกับความอยากได้?
ถ้าคุณระบุได้ว่าสิ่งใดจำเป็นจริงๆ หรือคุณแค่อยากได้ ถ้าระบุได้ คุณก็สามารถกำจัดหลายๆสิ่งที่คุณแค่อยากได้และไม่มีตังค์จำเป็นใดๆทิ้งไป
๗) กำจัดสิ่งที่ไม่สำคัญ
ถ้าคุณยังไม่แน่ใจว่าสิ่งใดสำคัญ บางครั้งการทำตรงกันข้ามก็มีประโยชน์ จงเริ่มจากการขีดฆ่าสิ่งที่ไม่สำคัญออกไป ทันทีที่กำจัดเรื่องที่ไม่สำคัญออกไปได้ ก็จะเหลือแต่เรื่องที่สำคัญกว่าในรายการของคุณ
๘) ขั้นตอนการปรับแต่งอย่างต่อเนื่อง
ลองตัดสิ่งไม่สำคัญบางอย่างออกไป แล้วลงมือทำสิ่งที่เหลือ จากนั้นจึงค่อยทบทวนอีกครั้งในหนึ่งหรือสองสัปดาห์ แล้วพยายามตัดสิ่งอื่นเพิ่มเติม ทำตามกระบวนการนี้ไปจนกว่าคุณจะรู้สึกว่าไม่สามารถตัดอะไรออกได้อีก
การจดจ่อกับเรื่องเดียว
จงจดจ่อว่าจะทำงานให้น้อยลงเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จงจดจ่อกับเป้าหมายเดียวเพื่อทำให้สำเร็จ จงจดจ่อกับปัจจุบันเพื่อลดความกังวลและความตึงเครียด
วิธีจดจ่อเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น
๑) จดจ่อกับเป้าหมาย
ถ้าคุณสามารถจดจ่อกับเป้าหมายหรือนิสัยอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตลอด คุณจะบรรลุเป้าหมายหรือสร้างนิสัยนั้นขึ้นได้เสมอ
๒) จดจ่อกับปัจจุบัน
มันช่วยลดความตึงเครียด ช่วยให้คุณสนุกกับชีวิตอย่างเต็มที่ และยังช่วยเพิ่มพูนประสิทธิภาพในตัวคุณด้วย
๓) จดจ่อกับงานที่อยู่ตรงหน้า
คุณเคยทุ่มเทให้กับงานอะไรสักอย่างจนลืมโลกรอบตัวไปเลยหรือไม่? คุณไม่สนใจเวลาและเอาแต่จดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำ นี่ไงล่ะครับสิ่งที่เรียกว่า "ภาวะลื่นไหล" อันเป็นองค์ประกอบสำคัญไปสู่ความสุข ถ้าคุณมีงานหลักและงานอดิเรกที่ดึงคุณเข้าสู่สภาวะลื่นไหลได้ คุณจะมีความสุขอย่างไม่ต้องสงสัย
เราไม่ได้เพลิดเพลินสุดๆเวลาที่สมองว่างเปล่า แต่เป็นเวลาที่หัวสมองจดจ่อกับเรื่องท้าทายต่างหาก เพราะฉะนั้น ให้มองหางานที่คุณหลงไหล จากนั้นก็กำจัดทุกสิ่งที่ทำให้ไขว้เขวทิ้งไป แล้วจดจ่ออย่างเต็มที่กับงานที่คุณวางไว้ตรงหน้า
๔) จดจ่อกับความคิดเชิงบวก
จงรู้ทันความคิดเชิงลบและพยายามแทนที่มันด้วยความคิดเชิงบวก
จงเรียนรู้ที่จะจดจ่อกับความคิดเชิงบวก ลองคิดว่าคุณรู้สึกดีแค่ไหน ลองคิดว่าในเมื่อคนอื่นเคยทำสำเร็จ คุณเองก็ทำได้เช่นกัน ลองคิดถึงความรู้สึกดีๆที่จะเกิดขึ้น เมื่อคุณพยายามทำสิ่งที่ทำอยู่จนสำเร็จ
สร้างนิสัยใหม่ ด้วยการพิชิตคำท้า
เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการสร้างนิสัยใหม่ขึ้นมาภายในเวลา 30 วัน
มีขั้นตอนดังนี้
๑) เลือกนิสัยที่ต้องการสร้างมาหนึ่งอย่าง เอาที่มันสร้างผลกระทบต่อชีวิตและเป้าหมายของคุณมากที่สุด
๒) เขียนแผนการขึ้นมา ระบุให้ชัดว่าเป้าหมายในแต่ละวันคืออะไร คุณจะทำเมื่อไหร่ อะไรคือสิ่งกระตุ้นของคุณ(ซึ่งมันก็คือเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงนิสัยนั้นเข้ากับสิ่ง ที่คุณทำเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว - ถ้าทำได้แล้ว คุณจะให้รางวัลตัวเองยังไง)
๓) ประกาศเป้าหมายให้คนอื่นรับรู้
๔) รายงานความคืบหน้ารายวัน มันจะช่วยกระตุ้นให้คุณอยากแสดงนิสัยนั้นออกมาทุกวัน
๕) ฉลองให้กับนิสัยใหม่ของคุณ
เริ่มต้นทีละน้อย
ส่วนใหญ่แล้วคนเรามักจะกระตือรือร้นที่จะเปลี่ยนแปลง เรามักเริ่มต้นด้วยความหึกเหิมสุดๆ แต่ปัญหาก็คือความกระตือรือร้นจะเหือดหายไปภายในหนึ่งหรือสองสัปดาห์ และเป้าหมายของคุณก็พังไม่เป็นท่า
ทางออกก็คือให้เริ่มต้นทีละน้อย
จงนำไปใช้กับทุกอย่างที่คุณทำ จงใช้กับเป้าหมาย การเปลี่ยนแปลงนิสัย และการเปลี่ยนแปลงใดๆก็ตามในชีวิตของคุณ จงเริ่มต้นด้วยเป้าหมายที่ง่ายที่สุด แม้จะรู้ว่าตัวเองสามารถทำได้มากกว่านั้น
ทำไมการเริ่มต้นทีละน้อยจึงใช้ได้ผล?
๑) ช่วยจำกัดขอบเขตความสนใจของคุณ
หากคุณเริ่มต้นทีละน้อย คุณจะสามารถจำกัดขอบเขตความสนใจ ส่งผลให้คนมีอำนาจควบคุมมากขึ้น
๒) ช่วยเพิ่มพลังและความกระตือรือร้นของคุณในระยะยาว
การเริ่มต้นด้วยการทำให้น้อยกว่าที่ตัวคุณทำได้จริง จะช่วยเพิ่มพลังและความกระตือรือร้นในตัวคุณได้
๓) รับมือได้ง่ายกว่า
ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยก็คือ ยิ่งง่ายเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น โดยเฉพาะในตอนเริ่มต้น ถ้าคุณเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนแปลงที่ยาก จนไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง คุณย่อมมีแนวโน้มสูงมากที่จะล้มเหลว
๔) เป็นหลักประกันว่าคุณจะประสบความสำเร็จ
จงเลือกเป้าหมายเล็กๆที่คุณมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จแน่นอน
จริงอยู่ที่ความสำเร็จเพียงเล็กน้อยย่อมไม่น่าพอใจเท่ากับความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ แต่มันจะเป็นเช่นนั้นในแค่ระยะสั้น ถ้าคุณเริ่มต้นด้วยความสำเร็จเล็กๆ มันจะเป็นรากฐานของความสำเร็จเล็กๆที่ตามมาอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดคุณจะมีกลุ่มก้อนของความสำเร็จเล็กๆที่รวมกันเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ซึ่งนั่นก็ดีกว่าความล้มเหลวอันยิ่งใหญ่เป็นไหนๆ
๕) การเปลี่ยนแปลงทีละน้อยให้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนกว่า
ลองนึกถึงการลดน้ำหนักดูก็ได้ครับ ถ้าคุณเอาจริงเอาจังได้ลดน้ำหนักได้ 18 กิโลภายในเวลา 2 เดือน คุณคงรู้สึกอิ่มเอมใจมาก แต่น้ำหนักที่ลดได้นั้นจะหวนคืนกลับมา และอาจมากกว่าเดิมด้วยซ้ํา
ในทางกลับกัน, การเปลี่ยนแปลงทีละน้อย อาจทําให้คุณลดน้ำหนักได้แค่ 0.5 - 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ แต่ส่วนใหญ่น้ำหนักที่ลดลงจะไม่ย้อนกลับมาอีก
จงเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง เพราะคุณจะยึดมั่นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้มากกว่าการพยายามโหมเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในคราวเดียว
ภาวะลื่นไหล
มันเป็นภาวะจิตใจที่ก่อตัวขึ้นเมื่อคุณหมกมุ่นอยู่กับงานจนไม่สนใจเวลาและโลกรอบตัว เราทุกคนต่างเคยผ่านภาวะนี้กันมาแล้ว เคล็ดลับก็คือจงเรียนรู้ที่จะดึงตัวเองให้เข้าสู่ภาวะลื่นไหลอยู่เสมอ
วิธีเข้าสู่ภาวะเลือดไหลมีดังนี้
๑) เลิกงานที่คุณชอบ
๒) เลือกงานที่ท้าทายแต่พอดี
๓) กำจัดสิ่งที่ทำให้วอกแวก
๔) หมกมุ่นอยู่กับงาน
ว่าด้วยแรงจูงใจ
ในการบรรลุเป้าหมายใดๆก็ตาม หนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือการค้นหาแรงจูงใจกับเป้าหมายเหล่านั้น หากคุณยึดมั่นอยู่กับเป้าหมายได้นานพอ คุณก็จะไปถึงจุดหมายที่วางไว้ขอแค่อดทนและมีแรงจูงใจเท่านั้น
แรงจูงใจคือหัวใจสำคัญ แต่การค้นหาแรงจูงใจให้ได้วันแล้ววันเล่านั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป
แรงจูงใจคือสิ่งที่ผลักดันคุณไปสู่เป้าหมาย มันเป็นสิ่งที่ทำให้คุณก้าวต่อไปเมื่ออะไรๆเริ่มยากลำบาก มันคือเหตุผลที่ทำให้คุณตื่นแต่เช้าออกกำลังกายหรือทำงานจนดึกดื่นเพื่อให้โครงการสำเร็จลุล่วง
แรงจูงใจคือความรู้สึกที่ว่าคุณอยากจะทำบางอย่าง เช่น อาจมีบางวันที่คุณไม่อยากตื่นเช้าและในช่วงเวลานั้นความคิดเดียวในห้องคุณว่าคือคุณอยากนอนต่อ แต่ถ้าคุณมีเหตุผลที่ทำให้อยากตื่นแต่เช้า มีบางอย่างที่คุณอยากทำจริงๆ คุณก็จะลุกจากเตียงด้วยความกระตือรือร้น
แรงจูงใจที่ดีที่สุดคือความปรารถนาต่ออะไรสักอย่าง คุณจะรู้สึกตื่นเต้นและหลงใหลไปกับสิ่งนั้น เพราะถ้าคุณอยากทำอะไรบางอย่างนี้จริงๆ คุณจะทุ่มเทความพยายามไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
๘ วิธีสร้างแรงจูงใจให้ตัวเองตั้งแต่จุดเริ่มต้น
๑) เริ่มต้นทีละน้อย
ให้เริ่มต้นด้วยเป้าหมายเล็กๆ ที่ง่ายดายจนน่าขัน แล้วค่อยๆเติบโตจากจุดนั้น
๒) เป้าหมายหนึ่งเดียว
คุณต้องเลือกเป้าหมายเพียงหนึ่งอย่างสำหรับตอนนี้ แล้วจดจ่อกับมันให้เต็มที่
๓) ตรวจสอบแรงจูงใจ
ทำความเข้าใจเหตุผลของคุณเองใช้เวลาไตร่ตรองเรื่องนี้....แล้วเขียนออกมา
๔) ต้องการอย่างสุดหัวใจ
แค่คิดว่าการทำบางสิ่งบางอย่างสำเร็จคงเป็นเรื่องดีนั้น....ยังไม่เพียงพอ แต่มันต้องเป็นสิ่งที่คุณหลงใหลทำให้คุณรู้สึกตื่นเต้นสุดขีดและโหยหาอย่างสุดหัวใจ จงทำให้แน่ใจว่าเป้าหมายของคุณตรงตามเกณฑ์เหล่านี้ มิฉะนั้นคุณจะไม่สามารถยึดมั่นอยู่กับมันได้มากนัก
๕) ประกาศให้คนอื่นรับรู้
๖) รู้สึกตื่นเต้น
ความตื่นเต้นเกิดจากการได้รับแรงบันดาลใจจากคนอื่น ให้นึกภาพว่าจะเป็นอย่างไรถ้าทำสำเร็จ จินตนาการให้เห็นถึงประโยชน์ของเป้าหมายดังกล่าว แล้วคุณจะรู้สึกตื่นเต้นไปกับเป้าหมายนั้น ที่เหลือก็แค่คอยประคับประคองพลังดังกล่าวเพื่อผลักดันตัวเองไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง
๗) สร้างความคาดหวัง
ถ้าคุณค้นพบแรงบันดาลใจและต้องการไปให้ถึงจุดหมาย อย่าเริ่มต้นทันที!!
มีหลายคนที่รู้สึกตื่นเต้นและอยากเริ่มวันนี้เลย แต่นั่นจะเป็นความผิดพลาด!! ขอให้กำหนดวันไว้ล่วงหน้า อาจเป็นอีกหนึ่งหรือสองสัปดาห์ หรือแม้แต่ 1 เดือนข้างหน้า กำหนดให้มันเป็นวันเริ่มต้นของคุณ ทำเครื่องหมายไว้บนปฏิทินไปให้ตัวเองให้ตื่นเต้นไปกับกำหนดการนั้น ให้มันเป็นวันสำคัญที่สุดของชีวิต เมื่อคุณยืดเวลาที่จะเริ่มต้นออกไป มันเท่ากับว่าคุณกำลังสร้างความคาดหวังขึ้นมา ผลที่ตามมาก็คือคุณจะจดจ่ออยู่กับเป้าหมายมากขึ้น และมีพลังที่จะก้าวสู่เป้าหมายมากขึ้นด้วย
๘) พิมพ์เป้าหมายออกมาแปะไว้
๒๐ วิธีรักษาแรงจูงใจไม่ให้ล้มเลิกกลางคัน
๑) รู้จักยับยั้งชั่งใจ
อย่าเพิ่งเริ่มต้นด้วยการทุ่มเทสุดตัว การรู้จักยับยั้งชั่งใจก็คือไม่ปล่อยให้ตัวเองทำทุกอย่างที่ต้องการ ให้ทำเพียง 50 ถึง 75 เปอร์เซ็นต์ของที่อยากทำเท่านั้น แล้ววางแผนที่จะเริ่มประดับอย่างค่อยเป็นค่อยไป
๒) ขอแค่เริ่มทำ
แทนที่จะคิดว่ามันยากและต้องใช้เวลานานแค่ไหน ให้หันมาบอกตัวเองให้เริ่มต้นทำก็พอ จากนั้นทุกอย่างก็จะลื่นไหลไปเองโดยธรรมชาติเมื่อคุณได้เริ่มทำคุณจะพบว่ามันไม่ได้ยากอย่างที่คิดเลย
๓) คอยรายงานผล
หากคุณประกาศให้คนอื่นรับรู้ผ่านทางเว็บบอร์ด บล็อก หรืออีเมล หรือบอกเป็นการส่วนตัว ต้องรายงานผลกับคนกลุ่มนั้นเป็นประจำทุกวัน หรือเป็นระยะๆ และยึดมั่นอยู่กับมัน
การรายงานผลอย่างสม่ำเสมอช่วยให้คุณอยากทำให้ออกมาดี เพราะคุณคงไม่อยากรายงานผลให้คนอื่นๆรู้ว่าตัวเองล้มเหลวไม่เป็นท่าหรอกนะ
๔) กำจัดความคิดเชิงลบและแทนที่ด้วยความคิดเชิงบวก
๕) นึกถึงประโยชน์ที่ได้รับ
ปัญหาใหญ่ของคนส่วนใหญ่ก็คือการเอาแต่คิดว่าการทำอะไรสักอย่างนั้นยากแค่ไหน การตื่นเช้านี้ยากจัง แค่คิดก็ท้อแล้ว
แต่แทนที่จะคิดว่ามันยากแค่ไหน ให้หันไปคิดว่าคุณจะได้อะไรจากมันดีกว่า
๖) ตื่นเต้นไปกับมันอีกครั้ง
ลองกลับไปคิดดูว่าทำไมตอนแรกที่คุณลงมือทำถึงได้รู้สึกตื่นเต้นกับมันจัง แล้วให้ดึงความรู้สึกนั้นกลับมาอีกที ทำไมคุณถึงอยากบรรลุเป้าหมายนั้น คุณหลงใหลอะไรเกี่ยวกับมัน พยายามสร้างความรู้สึกเหล่านั้นขึ้นมาใหม่ กลับมาจดจ่ออีกครั้ง เติมพลังในตัวเองให้เต็ม
๗) อ่านเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมาย
เมื่อหมดแรงจูงใจ ให้คุณกลับไปอ่านบันทึกที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายของคุณ มันจะสร้างแรงกระตุ้นให้เรารู้สึกกระชุ่มกระชวยขึ้นมา
๘) ค้นหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์
๙) อ่านเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจ
๑๐) ต่อยอดจากความสำเร็จของคุณ
ทุกย่างก้าวเล็กๆตลอดการเดินทางถือเป็นความสำเร็จทั้งสิ้น แม้แต่การเริ่มลงมือทำก็ฉลองได้แล้ว ต้องฉลองให้กับความสำเร็จเล็กๆน้อย รับเอาความรู้สึกนั้นแล้วนำมาต่อยอดด้วยก้าวเล็กๆลำดับถัดไป
๑๑) ผ่านจุดตกต่ำไปให้ได้
แรงจูงใจจะไม่คงระดับเดิมตลอดเวลา มันมาแล้วก็ไปหมุนเวียนไปอยู่อย่างนั้น ไม่ต่างจากกระแสน้ำที่มีขึ้นมีลง แต่จงตระหนักไว้ว่าแม้มันจะจากไป แต่จะไม่เป็นเช่นนั้นตลอดกาล สักวันหนึ่งมันจะกลับมา
ต้องยืนยันและรอคอยให้แรงจูงใจหวนคืนมา ในขณะเดียวกันก็ให้หยิบหนังสือที่เกี่ยวกับเป้าหมายของคุณมาอ่าน
๑๒) ขอความช่วยเหลือ
๑๓) บันทึกความก้าวหน้า
๑๔) หมั่นให้รางวัลกับตัวเอง
๑๕) มุ่งสู่เป้าหมายขนาดย่อม
๑๖) หาครูฝึกหรือลงคอร์สเรียนในชั้นเรียน
๑๗) อย่าข้ามไป 2 วันติดกัน
๑๘) นึกภาพในใจ
ขอให้นึกภาพวันแห่งความสำเร็จอย่างละเอียด หลับตาและคิดว่าผลลัพธ์ที่แท้จริงของความสำเร็จมีหน้าตาอย่างไร ให้ความรู้สึกอย่างไร มีกลิ่นรสหรือเสียงเป็นเช่นใด คุณจะอยู่ที่ไหนตอนที่ประสบความสำเร็จ คุณจะดูเป็นอย่างไรและใส่ชุดอะไรอยู่ นึกภาพให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้
กุญแจสำคัญก็คือ จงทำเช่นนี้ทุกวัน อย่างน้อยประมาณวันละ 2-3 นาที เพราะนี่เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้แรงจูงใจคงอยู่ไปอย่างยาวนาน
๑๙) คอยระวังแรงกระตุ้นให้ล้มเลิก
เอาชนะมันให้ได้ เราทุกคนมีแรงกระตุ้นให้หยุดกลางคัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว
วิธีรับมือที่ทรงพลังที่สุดก็คือพยายามรู้เท่าทันแรงกระตุ้นเหล่านั้น
๒๐) มองหาความพอใจอีกครั้ง
ไม่มีใครยืนหยัดอยู่กับบางเรื่องได้นานถ้าหากเขาคิดว่ามันไม่น่าพอใจ และกว่าจะได้ผลตอบแทนก็ต่อเมื่อต้องทุกข์ทรมานอยู่นานหลายเดือน เราควรรู้สึกสนุกพอใจและรื่นเริงไปกับมันได้ทุกวัน ขอให้ค้นหาสิ่งต่างๆที่ทำให้คนรู้สึกพอใจ เช่นความมีชีวิตชีวาของการวิ่งในยามเช้า ความพึงพอใจที่ได้รายงานผลให้คนอื่นรับรู้ว่าคุณทำสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่ง และรสชาติแสนอร่อยของอาหารเพื่อสุขภาพ
แนะนำบทความรวมคลิป = คอร์สหุ้นออนไลน์
ชมฟรีครับ ที่ช่องยูทูปของ zyo
***********