เล่นหุ้นแล้วขาดทุน แสดงว่าคุณยังรู้ไม่จริง
- เสี่ยยักษ์
วิธีใช้ประโยชน์จากการขาดทุน ดีมากครับ ขอแนะนำให้ท่านลองกลั้นใจอ่าน แล้วท่านจะเข้าใจและใช้ประโยชน์จากการขาดทุนได้ การขาดทุนไม่น่ากลัวหรอกครับ ถ้าคุณรู้เท่าทัน หนำซ้ำบางทีมันอาจเป็นตัวช่วยให้คุณรักษาผลประโยชน์ของตัวเองได้ด้วยซ้ำไป
ที่มาผมเอามาจากคลิปนี้ครับ ใครเก่งอังกฤษก็เข้าไปฟังได้
หรือสามารถไปอ่านต้นฉบับได้ที่ลิงค์นี้
http://www.sidewaysmarkets.com/2018/01/how-losses-can-help-you-find-more.html
ซึ่งเนื้อหาภาษาไทยก็จะไม่เป๊ะกับต้นฉบับแบบ 100% นะครับ เพราะผมก็อดใส่สีและตีใข่ไม่ได้
มันก็เลยเบ่งบานไปซะยาวเหยียดแบบที่เห็นต่อไปนี้ นี่แหละครับ
ความจริงแล้วมนุษย์เราเนี่ยชอบแส่ไปหาเรื่องเครียดในทุกสถานการณ์เท่าที่เขาจะทำได้ คือถ้าไม่ถูกกระทำ ก็สร้างมันขึ้นมาเอง โดยการ หาเรื่องมาขบคิด ขุดอดีต สอยอนาคต เอามาสร้างความกังวลให้กับตัวเองได้อย่างไม่มีสิ้นสุด ตรงกับสุภาษิตของคนโบราณที่ว่าชอบแกว่งเท้าหาเสี้ยน
ยิ่งถ้าหากพวกเขาพาตัวเองมาเป็นนักเทรดด้วยละก็ ความเครียดคูณสองเลยครับ
ดังนั้นถ้าหากคุณไม่มีการจัดระเบียบความคิดให้ถูกต้อง ใช้กลยุทธ์ในการเผชิญปัญหาที่มีประสิทธิภาพล่ะก็ ทั้งพอร์ตทั้งชีวิตของคุณสามารถพังได้ง่ายๆเลย
มีวิธีการพัฒนาความคิดและกลยุทธ์ในการเผชิญปัญหา ๔ ข้อที่เราสามารถเอามาใช้ เพื่อเปลี่ยนความเครียดจากการขาดทุน ให้มันเป็นสปริงผลักดันส่งเสริมให้คุณทำเงินได้มากขึ้นในระยะยาว ดังนี้
๑) มีมุมมองเกี่ยวกับการขาดทุนที่ถูกต้อง
ยังไงถึงเรียกว่าถูกต้อง?
คำว่าถูกต้องสำหรับหัวข้อนี้ก็คือว่า คุณต้องเข้าใจว่าการขาดทุนนั้นมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการเทรดของคุณ ไม่มีใครเทรดแล้วได้กำไรตลอดเวลา กำไรทุกครั้งที่เข้าเทรด
ทุกคนต้องเผชิญกับการขาดทุนทั้งนั้น ไม่ว่าคนนั้นจะมีพอร์ตเป็นหมื่นล้าน เป็นแสนล้านก็ตาม ประสบความสำเร็จหรือเป็นแค่เม่ามือใหม่ก็ตาม
ทุกคนล้วนขาดทุนครับ
ดังนั้นจำไว้เลยว่า "การขาดทุน เป็นสิ่งที่เทรดเดอร์เลี่ยงไม่ได้"
ฉะนั้นเมื่อเราพบตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ดี คือซื้อไปแล้วขาดทุน คุณต้องตัดใจและยอมตัดขาดทุนไปอย่างรวดเร็ว รีบขายเอาเงินสดออกมาเพื่อที่จะให้มีเงินก้อนส่วนใหญ่เอาไว้ซื้อหุ้นที่อยู่ในจังหวะหรือมีแนวโน้มที่จะวิ่งขึ้นต่อทำกำไรให้เราได้ทันที
การตัดขาดทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการรักษาเงินต้นของเรา
นี่เป็นกฎสำคัญข้อแรกของเทรดเดอร์มืออาชีพที่ประสบความสำเร็จครับ
เราจึงควรคิดว่าการขาดทุนนั้น มันเป็นเครื่องมือในการเก็บรักษาเงินทุนของเรา แทนที่จะมองว่ามันเป็นการสูญเสีย จึงเป็นสิ่งที่ดีมากถ้าเราตระหนักรู้ว่าการขาดทุนมันเป็นสัญญาณเตือนให้เรารีบขายหุ้นตัวนั้นออก เพื่อที่จะเก็บเงินเอาไว้ โดยให้การสูญเสียนั้นทำร้ายเราน้อยที่สุด
แต่การขาดทุนนั้นมันจะกลายเป็นปัญหาให้กับพวกเราทันที ถ้าหากเราไม่รีบจัดการตั้งแต่นั้นเนิ่นๆ คนส่วนใหญ่ที่ไม่รีบตัดขาดทุน เพราะเขาไม่มี mindset แบบที่ว่านี้ คือเขากลัวว่ามันจะทำให้เขารู้สึกเสียหน้า หรือทำให้เงินเขาหายไป แต่ยิ่งเขาต่อสู้มากเท่าไหร่เขาก็ยิ่งแพ้มากเท่านั้น
เพราะว่าอะไร?
เพราะว่าตลาดมันไม่รู้หรอกว่าคุณกำลังขาดทุนอยู่!!
มันไม่เคยสนใจคุณ คุณเป็นใครเหรอ?
มันรู้แค่ว่ามันทำตามแรงส่งของ demand และ Supply ใครพลังมากกว่ามันก็ไปตามนั้น
ในเมื่อตอนนั้นมันมีความต้องการขายอย่างต่อเนื่อง มันก็ต้องลงเป็นธรรมดา
ถ้าหากเราไม่รู้เรื่องนี้ เราฝืนสู้ในสิ่งที่เราสู้ไม่ได้ ก็ไม่ต้องเดาผลกันหรอก มันก็ต้องจบลงด้วยคำว่า "แพ้" และ "การขาดทุนยับเยิน" นั่นเอง
จำไว้เลยว่าสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ก็คือ "การรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง" นั่นก็คือ "การขายเมื่อราคามันร่วงทำให้เราเสียหาย" นี่คือ "โอกาสและอำนาจที่ยิ่งใหญ่หนึ่งเดียวของคุณ"
เราไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้ตลาดมันฟื้นตัวกลับขึ้นไปทำให้คุณกำไรได้เลย แม้ว่าคุณจะเอาความโกรธนี้ไประบายหาพวกเรียกร้องหาความรับผิดชอบจากเจ้ามือที่เว็บ Pantip ก็ตาม มันก็ไม่ช่วยอะไรคุณได้
"คุณคือค่าเฉลี่ยของคน ๕ คนที่คุณใช้เวลาด้วยมากที่สุด" คิดดูก็แล้วกันว่าใครมาอ่านโพสต์ของคุณแน่ๆ
๒) มีเป้าหมายรายวัน
Mindset ข้อต่อไป คือการใช้เป้าหมายรายวันเป็นตัวควบคุมพฤติกรรมของเราเทรดได้จำนวนมากตั้งเป้าหมายรายวันที่เจาะจง โดยเฉพาะจำนวนเงินขั้นต่ำ ตัวอย่างเช่นฉันต้องการเป้าหมายรายวันทำเงินให้ได้วันละ 500 บาทและฉันต้องบังคับให้ตัวเองทำการเทรดตลอดจนกว่าจะถึงเป้านั้น แต่ตอนนี้ใกล้ปิดตลาดแล้วฉันยังทำกำไรได้ไม่กี่ร้อยเอง หรือบางวันโชคร้ายขาดทุนแบบโชกเลือดเสียอีก
นี่เป็นปัญหาของนักเทรดส่วนใหญ่ที่คิดเองเออเอง คุณรู้ได้อย่างไรว่าตลาดจะให้โอกาสกับเรามากพอ แล้ววันนี้จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณทำไม่ได้ คุณจะรู้สึกล้มเหลวไหมในวันนั้น แล้วถ้าเกิดคุณปล่อยโอกาสที่จะทำเงินให้มันหลุดมือไปได้ คุณจะรู้สึกหัวเสียกับมันมากแค่ไหน
พูดง่ายๆคือเป้าหมายประเภทนี้มันเป็นมุมมองที่สั้นและแคบมาก แถมมันยังอันตรายอีกด้วย
กลยุทธ์ที่ดีและมีประสิทธิภาพมากในการตั้งเป้าหมายรายวันก็คือ มุ่งเน้นไปที่การบันทึกการซื้อขายของคุณ พยายามรีวิวความผิดพลาด ระบุโอกาส มันเป็นเรื่องที่ดีในการปรับปรุงและปรับใช้กลยุทธ์ให้เรามีประสิทธิภาพการเทรดที่ดีขึ้นในอนาคต สิ่งนี้แหละที่ควรเป็นเป้าหมายรายวันแทน
ยกตัวอย่าง เช่น
- เป้าหมายของคุณในวันนี้คือเฝ้าดูหุ้นที่มีพฤติกรรมเสี่ยง และบังคับตัวเองให้ทำตามระบบตามแผนของการตัดขาดทุน เมื่อราคามีการละเมิดระดับ stop loss ของแผนคุณ
- หรือสร้างความมั่นใจกับตัวเองว่าได้ใช้หลักเกณฑ์ในการคัดกรองสำหรับการเข้าซื้อทั้งหมดก่อนที่จะเทรดจริง
ตัวอย่างเหล่านี้มันเป็นเป้าหมายรายวันที่คุณสามารถควบคุมมันได้ เพราะคุณไม่สามารถบังคับให้ตลาดวิ่งไปตามความต้องการของคนได้หรอก อย่าทำในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์
การวางเป้าหมายที่ทำได้จริงเหล่านี้ มันจะเป็นรากฐานให้คุณเป็นนักเทรดที่ดีขึ้นในระยะยาว แถมมันยังสร้างนิสัยที่เหมาะสมกับการเป็นเทรดเดอร์ที่ประสบความสำเร็จอีกด้วย
๓) มีงานอดิเรก
ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งของ mindset ที่ถูกต้อง คือการมีกิจกรรมอื่นๆ ที่คุณชอบทำ นอกเหนือจากการเทรด เช่น มีงานอดิเรก
เราทุกคนล้วนต้องการประสบความสำเร็จจากการเทรด ส่วนใหญ่จึงยินดีที่จะใช้เวลาเฝ้าหน้าจอ แต่ถามจริงๆเถอะ ว่าเราจะสามารถทำแบบนี้ได้ตลอดทั้งวัน ทำซ้ำๆทุกวันทั้งเดือนได้หรือไม่ มันต้องมีล้า มีเบื่อบ้างแหละ ดังนั้นมันจึงจำเป็นที่คุณจะต้องหาอะไรทำนอกเหนือจากการเทรด อะไรก็ได้ที่ทำให้คุณมีความสุข
การที่คุณมีงานอดิเรกทำ มันมีประโยชน์มากเลย เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่คุณชอบ คุณสามารถทุ่มเทเวลาใช้เวลากับมันได้อย่างไม่รู้จักเบื่อ และที่สำคัญก็คือ "คุณได้ทำตามใจตัวคุณเอง" ตรงนี้แหละที่มันช่วยดึงเอา "อีโก้" ที่เป็นตัวอันตรายสำหรับการเทรด ย้ายมันไปอยู่ไว้ในที่ที่มันควรจะอยู่ คืออยู่ในโลกของงานอดิเรกของคุณ
คุณอาจจะขับรถเที่ยว, เล่นเกม, ดูหนัง, อ่านหนังสือ, เขียนหนังสือ, ถ่ายรูป, ปั่นจักรยาน หรืออะไรก็ได้ที่มันทำให้คุณใช้เวลาที่นานพอ จนทำให้คุณลืมความเครียด ความกดดัน ที่เกิดจากการเทรดไปจนหมดสิ้น
งานอดิเรกเหมือนถอดปลั๊กคอมพิวเตอร์ หรือดับเครื่องยนต์ไม่ให้มันร้อนจนเกินไป เหมือนการชาร์จแบตให้กับตัวเอง หรือเป็นการรีเฟรชจิตใจตัวเองให้สลายการสะสมของความเครียดออกไปให้หมด นึกภาพตอนที่คอมพิวเตอร์ของคุณมันหน่วงไว้ครับ เปิดโปรแกรมไหนก็ค้าง อืดไปซะทุกอย่าง สิ่งที่คุณต้องทำเมื่อเจอเหตุการณ์นั้นคือต้องรีสตาร์ทมันใหม่ เวลาบูตเครื่อง มันได้วิ่งลื่นขึ้น มีความกระชุ่มกระชวย งานอดิเรกก็เหมือนการบูตเครื่องใหม่นั่นเองครับ เมื่อจิตคุณปลอดโปร่ง มันจะทำให้การเทรดครั้งใหม่ของคุณมีประสิทธิภาพดีเหมือนเดิม และพร้อมรับมือกับชุดความเครียดระลอกใหม่ ที่จะเกิดขึ้นในการเทรดครั้งต่อไป
๔) มีวิธีการรับมือกับความเครียดที่ถูกต้อง
แนวทางรับมือกับความเครียดที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน บางทีมันก็ไม่เหมาะสำหรับการเทรดไปเสียทีเดียว เพราะโลกของการใช้ชีวิตนั้นความเครียดเกิดจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยภายนอก แต่สำหรับการเทรดนั้นมันเกิดจากภายในล้วนๆ ซึ่งมักจะเกิดจากความผิดพลาดของตัวคุณเอง ไม่ว่าคุณจะยอมรับมันหรือเปล่า ว่าเป็นต้นเหตุ แต่ถ้าคุณอยากจะเอาชนะมันได้ คุณก็ต้องพยายามทำความเข้าใจกับมันให้ได้ โดยมีแนวทางการรับมือกับความเครียด ดังนี้
๔.๑) เผชิญหน้า
๔.๒) มองข้าม หรือ หลีกเลี่ยง
๔.๓) ตำหนิตัวเอง
๔.๔) ย้อนกลับไปและตรวจสอบความผิดพลาด
๔.๑ เผชิญหน้า
การเผชิญหน้ากับปัญหา หรือ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน คือเมื่อคุณรู้ตัวว่าขาดทุน ก็พยายามที่จะเอาคืนทันที พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะให้ตัวเองได้กลับมามากกว่าเดิมเท่าตัว!
เรียกว่าต้องการเอาคืนทั้งต้นทั้งดอก!
ฟังดูเท่มากใช่มั้ยครับ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในโลกของการเทรด มันคือการเดินเข้าสู่หายนะดีๆนี่เอง
โอเค การเอาคืนแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน อาจใช้ได้ยอดเยี่ยมสำหรับในโลกที่ต้องใช้กำลัง ธุรกิจบางประเภท แต่ในโลกของการเทรดแล้ว คุณไม่สามารถเอาชนะตลาดได้!
ตลาดไม่เคยสนใจเลยครับว่าคุณขาดทุนและกำลังเอาคืน
ถ้าจะพูดให้แรงกว่านี้ก็คือ "คุณไม่มีตัวตนสำหรับตลาดหรอก"
ยิ่งคุณสู้ ตลาดยิ่งชอบ ขออุปมาง่ายๆนะ ยิ่งคุณพยายามต่อยตลาดหนักเท่าไหร่ รัวถี่แค่ไหน คนที่เจ็บก็คือตัวคุณเอง ใช่ครับคุณกำลังตั้งหน้าตั้งตาทำร้ายตัวเองอย่างไม่รู้ตัว!
ตัวอย่างการต่อสู้เพื่อที่จะเอาชนะตลาดสไตล์นี้ คือการถัวเฉลี่ยขาลง ยิ่งราคาลงไปทำนิวโลว์ คุณยิ่งสู้ หาเงินก้อนใหม่มาซื้อเพิ่ม ยิ่งซื้อยิ่งลง
ถามหน่อยเถอะครับพ่อคุณพิมพ์แบงค์เองได้เหรอ?
คุณสามารถถัวได้ไม่กี่ไม้หรอก ยิ่งใจร้อนก็ยิ่งรีบถัวที่ยอดดอย สักพักเงินคุณหมด คุณยอมแพ้ โน่นราคาร่วงลงไปกองที่ตีนเขา สรุปคือคุณแพ้ แพ้ตั้งแต่ช่วงต้นเทรนด์ของขาลง!
ดังนั้น แนวคิดนี้ไม่แนะนำครับ ถ้าโลกนี้คุณไม่เคยยอมใคร ขอไว้คนหนึ่งเถอะ ยอมให้กับตลาด รีบยอมแพ้ตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วชีวิตการเทรดของคุณก็จะอยู่รอดครับ
๔.๒) มองข้าม หรือ หลีกเลี่ยง
วิธีที่สองในการจัดการกับความเครียดที่เกิดจากการขาดทุนก็คือหลอกตัวเองว่ามันไม่เคยเกิดขึ้น และก้าวต่อไป เอาเงินไปเทรดตัวใหม่ไม่สนใจว่าตัวเองเสียอะไรไป ลืมมันไปอย่างง่ายดาย
แนวคิดนี้อาจใช้ได้ดีสำหรับการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับคนอื่น มันเป็นวิธีการจัดการกับมนุษย์ที่น่ารังเกียจ ก็คือเราไม่ให้ความาสนใจกับเขา และในที่สุดมันก็จะไม่มาตอแยคุณอีก
ครับมันใช้งานได้จริง...สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน
แต่อย่างไรก็ตามความคิดในเรื่องของการละเลยความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการเทรดนั้น มันจะไม่หายไปเหมือนกับการสังคม เพราะว่าปัญหานั้นมันก็จะยังคงอยู่ แถมยังพยายามหาโอกาสมาหลอกหลอนคุณให้ต้องขาดทุนซ้ำๆได้อีกในเรื่องเดิม ตราบใดที่คุณยังไม่กลับมาให้ความสำคัญกับมัน เพื่อเริ่มต้นค้นหาและแก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านั้น
แม้ว่าคุณจะมีวินัยในการตัดขาดทุนอย่างยอดเยี่ยมก็ตาม แต่ถ้าหากคุณยังทำผิดซ้ำๆเรื่องเดิมครั้งแล้วครั้งเล่า การขาดทุนที่เล็กน้อยเหล่านั้นมันก็จะสะสมทบทวี และในที่สุดมันก็จะกัดกร่อนเงินต้นของคุณให้หายไปได้อย่างมีนัยยะเช่นกัน
๔.๓) หาเพื่อนมาช่วยระบาย
วิธีการรับมือกับความเครียดข้อต่อไปคือ แสวงหาการสนับสนุนทางสังคม กล่าวคือเมื่อมีสิ่งต่างๆไม่เป็นไปตามใจที่คุณต้องการ ก็คือขาดทนนั่นแหละ คุณเครียดมาก จึงเรียกเพื่อนของคุณมาฟังในสิ่งที่คุณอยากระบาย ว่ามันเกิดเพราะอะไร คุณไม่ผิดนะ ตลาดผิด โบรกเกอร์ผิด วีไอผิด รายใหญ่ผิด หนังสือพิมพ์หุ้นผิด เพื่อนคุณก็แสนดีเหลือเกินพยักหน้าห่อหมกร่วมกันปิดหน้าชี้ตัวการเจ้าปัญหาเหมือนกับคุณเลย คุณก็เกิดความสมใจ เลิกเครียด รู้สึกดีขึ้น พรุ่งนี้คุณก็มีความสุขใจที่จะได้ทำผิดเรื่องเดิมต่อ จากนั้นก็โทรหาเพื่อนให้มาฟังคุณอีกรอบ เพื่อนคุณก็เห็นคล้อยตาม มึงไม่ผิด สู้ๆเพื่อน วนลูปไปเรื่อยๆ
สรุปคือปัญหาที่เป็นต้นต่อให้คุณต้องขาดทุนมันยังคงอยู่แต่คนที่ลำบากก็คือพอร์ตและเพื่อนของคุณเอง เชื่อได้เลยว่าทั้งคู่ต่างพยายามที่จะปลีกตัวให้ห่างจากคุณมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เงินในพอร์ตก็จะเริ่มลดน้อยถอยลง ลดศักยภาพในการทำเงินของคุณไปเรื่อยๆ ส่วนเพื่อนที่แสนดีก็จะเริ่มตีตัวออกห่าง โทรไปไม่รับสาย นัดกันก็ไม่อยากมาเสียดื้อๆ เพราะเขารู้ว่าคุณเริ่มเป็นคนที่ใช้ไม่ได้แล้ว
Life doesn't better by chance, it gets better by change" ชีวิตคุณไม่ได้เปลี่ยนเพราะโอกาสหรอก แต่ถ้าหากคุณอยากได้รับโอกาส คุณต้องกล้าเปลี่ยนตัวเอง
ดังนั้นถ้าหากคุณต้องการผลการเทรดที่แตกต่างนั่นคือดีขึ้นคุณก็ต้องเปลี่ยนจากการบ่นเป็นการกลับมาวิเคราะห์ความผิดพลาดของตัวเอง
๔.๔) ตำหนิตัวเอง
อีกกลยุทธ์ที่พบบ่อยที่สุดก็คือการตำหนิตัวเอง
เมื่อเราทำผิดจนต้องขาดทุนเราจะโกรธตัวเอง โทษตัวเองหรือintegrator หรือ สายตาที่มีตา แต่หามีแววไม่ของตนเอง
มึงมันโง่ มึงมันคนปัญญาอ่อน บลา บลา บลา สุดแต่จะสรรหามาด่าตนเอง
แต่เชื่อผมเถอะว่าวิธีการนี้มันก็ไม่ดีไปกว่าสามแนวทางที่ผ่านมาเลย พูดง่ายๆคือแค่ด่าตัวเองมันไม่พอคุณต้องกล้าหาเผชิญหน้าสาเหตุของมันด้วย
๔.๕) ย้อนกลับไปเพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ความผิดพลาด
วิธีนี้ดีสุด คือยอมรับสภาพว่าตัวเองเป็นคนผิด จากนั้นก็ใช้เวลากลับไปสืบค้นย้อนหลังรวบรวมข้อมูลและตรวจสอบว่าทำไมคุณถึงขาดทุน มันเกิดขึ้นได้อย่างไร และหาวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
แม้ว่านี่เป็นกลยุทธ์ที่ดี แต่คนทั่วไปทำได้ยากมาก
แต่เชื่อเถอะว่าหากคุณต้องการจะไปต่อ ได้ดีในสาขาอาชีพนี้ คุณต้องทำให้ได้ เพราะมันจะทำให้เรามีรับผิดชอบและดำเนินการทันที แม้ว่าตอนที่คุณขาดทุน คุณมีความต้องการที่จะตำหนิหรือหลีกเลี่ยง แต่คุณก็รู้ดีว่ามันไม่มีประโยชน์
ดังนั้นจงกล้าเผชิญหน้ากับมัน และตั้งใจขุดคุ้ยค้นหาสาเหตุของความผิดพลาดนั้น เพื่อที่จะปรับปรุงให้คุณเป็นคนที่ดีกว่าเดิม นี่แหละมันเป็นจุดเริ่มต้นของการเทรดที่มีประสิทธิภาพในครั้งต่อไป และเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับนักเทรดหน้าใหม่ผู้มีอนาคตไกลเช่นคุณ
แบบไหนดีที่สุด?
แน่นอนว่ากลยุทธข้อสุดท้ายคือแนวทางที่ดีที่สุด หรือถ้าหากคุณสามารถหาใครสักคนมาสนับสนุนคนได้มันก็จะดีขึ้นนิดหน่อย
แต่ทางที่ดีก็คือคุณนั่นแหละที่จะต้องรับผิดชอบสิ่งที่ตัวคุณทำ เรียนผูกได้ ก็ต้องเรียนแก้ให้ได้
จงจำไว้ว่าโลกของการเทรด มันเป็นโลกของคนที่มีความเป็นผู้ใหญ่ในตัวเท่านั้น คุณต้องรู้จักรับผิดชอบตัวเอง คุณต้องเรียนรู้จากความผิดพลาด คุณต้องหมั่นพัฒนาตัวเอง ไม่มีใครช่วยคุณได้เลย
ถ้าคุณไม่ทำเช่นนั้น ในที่สุดเงินของคุณก็จะต้องหายไป เพราะความเป็นเด็กไม่รู้จักโตของคุณ
สรุป
สรุปอีกครั้งก็คือการรับมือกับความเครียดที่เกิดจากการขาดทุนนั้น มันต้องใช้ทั้ง mindset และกลยุทธ์
Mindset ที่ถูกต้องก็คือคุณต้องเข้าใจว่าคุณไม่สามารถเทรดได้โดยที่ไม่มีการขาดทุนเลย คุณต้องมองมันเป็นธุรกิจ โดยเริ่มต้นจากการรีบตัดขาดทุนให้ไวที่สุด
ต่อมาคือการใช้เป้าหมายรายวันเพื่อควบคุมอารมณ์ของเราคือแม้ว่าวันนั้นเราจะขาดทุนเราก็ยังรู้สึกดีต่อการเทรดของเรา เพราะว่ามันจะเป็นข้อมูลของการปรับปรุงตัวเอง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะทำให้เราเป็นนักเทรดที่ดีขึ้นในระยะยาว
และสุดท้ายก็คือการมีงานอดิเรกที่อยู่นอกเหนือจากการเทรด มันเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขโดยที่ไม่ต้องคิดถึงตลาดหุ้น มันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการมีชีวิตในโลกนี้อย่างสมดุลของเรา
นอกจาก mindset ที่ถูกต้อง คุณจะต้องมีกลยุทธ์ที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนให้คุณก้าวไปข้างหน้า
โดยกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดก็คือ การย้อนกลับเพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ความผิดพลาด ซึ่งอาจจะมีการสนับสนุนทางสังคมร่วมด้วยก็ได้
ตัวอย่างเช่น....
ถ้าคุณเพิ่งตัดขาดทุน คุณก็ต้องเริ่มที่ยอมรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง ตลาดไม่ผิด แต่ฉันผิดเอง เมื่อได้กำไรฉันยังยอมรับ ตอนผิดฉันก็สมควรที่จะยืดอกรับมันได้เช่นกัน
จากนั้น ฉันจะถอยหลังกลับไปหาความผิดพลาดนั้น เผชิญหน้ากับมันอย่างกล้าหาญ แล้วเริ่มต้นทำการสืบสวน วิเคราะห์ทันที เมื่อได้สาเหตุแล้วฉันจะพยายามแก้ไขและหาแนวทางปรับปรุงและป้องกันโดยเร็วที่สุด เพื่อที่ครั้งหน้าฉันจะต้องไม่ผิดซ้ำอีก
ถ้าทำตามนี้ได้ ชีวิตการเทรดของคุณก็โล่งขึ้นทันตาเห็นเลยครับ เชื่อผม
((โฆษณา))
เล่นหุ้นขาดทุน อย่าเพิ่งขาดใจ
ยังมีคนโดนหนักกว่าคุณอีก
นี่คือความรู้ที่เขาได้จากการขาดทุน
ความรู้หุ้น มูลค่า 1 ล้านบาท
ลองหาอ่านดู เผื่อท่านจะได้เห็นทางออก
มีขายเป็น eBook แล้วที่ mebmarket.com