การบริหารความเสี่ยง: ไม่ใช่แค่การตั้ง Stop Loss แบบเดาสุ่ม

Image
การบริหารความเสี่ยง: ไม่ใช่แค่การตั้ง Stop Loss แบบเดาสุ่ม แปลจาก https://x.com/NickSchmidt_/status/1870997680513544635?t=v5ED4IJCHVAJTwaAGY3IqQ&s=19 หลายคนเข้าใจผิดว่า การตั้ง Stop Loss เป็นเพียงการกำหนดเปอร์เซ็นต์ขาดทุนแบบสุ่มเพื่อป้องกันความเสียหาย แต่ความจริงแล้ว การตั้ง Stop Loss ที่ถูกต้องต้องมีเหตุผลที่สอดคล้องกับโครงสร้างและแผนการเทรดของคุณ eBook "Risk Management: การบริหารจัดการความเสี่ยงเบื้องต้นสำหรับนักเทรด" มีจำหน่ายที่แอพ Meb เท่านั้น  https://www.mebmarket.com/?action=book_details&book_id=332340 สิ่งที่นักเทรดมือใหม่ควรรู้เกี่ยวกับ Stop Loss 1. Stop Loss ควรมีเหตุผล ไม่ใช่แค่เปอร์เซ็นต ตัวอย่าง: คุณอาจใช้กฎ 7% เป็นขีดจำกัดการขาดทุน แต่ไม่ใช่ว่าแค่ซื้อหุ้นแล้วตั้ง Stop Loss ไว้ที่ 7% โดยไม่มีการพิจารณาโครงสร้างของหุ้น นั่นไม่ใช่การบริหารความเสี่ยงที่ดี 2. Stop Loss ต้องเข้ากับลักษณะของการเทรด หุ้นที่ยังแข็งแรง: บางครั้งหุ้นอาจปรับฐาน 10% แต่ยังคงแนวโน้มที่แข็งแรงและโครงสร้างไม่เสียหาย ถ้า Stop Loss ของคุณตั้งไว้ต่ำเกินไป เช่น 7% โดยไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ...

Relative Strength กับ Base (ฐานราคา) นั้น สัมพันธ์กันแบบไหน?

Relative Strength กับ Base (ฐานราคา) นั้น 

สัมพันธ์กันแบบไหน?


บทความนี้ มันเกิดจากคำถามที่ต่อเนื่องจากประโยคหนึ่งของปู่ วิลเลียม โอนีล ที่ว่า

" กุญแจสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่ว่า Relative Strength จะสูงแค่ไหนหรอกนะ
จะ 80 หรือ 90 หรือ 100 ก็ได้

แต่มันอยู่ที่ว่า......
หุ้นได้ขึ้นมาจากฐานราคาล่าสุดของมันมากน้อยเพียงใดแล้ว มากกว่า "

มันมี 2 keyword ที่ทำให้ผมสงสัยคือ
ค่า Relative Strength กับ Base 
มันคืออะไร และ สัมพันธ์กันแบบไหนกันนะ?

จึงทำการค้นคว้าจากหนังสือแกต่อ เพื่อไขความให้กระจ่าง
จนกลายเป็นบทความขนาดยาวชิ้นนี้

ก็เริ่มเลยแล้วกัน
ผมอยากจะเปิดหัวที่ Relative Strength กันก่อนนะ ว่ามันคืออะไร
แล้วจึงค่อยเข้าเรื่อง Base หรือ ฐานราคา
เพราะมันมีความเกี่ยวข้อง  หรือจะฟีเจอริ่งกันได้ยังไง

Relative Strength
แน่นอนครับ มันไม่ใช่ RSI อันเป็นอินดิเคเตอร์ที่เรารู้จักกัน
แต่ Relative Strength มันคืออะไรกันแน่นะ?

จากหนังสือ CANSLIM คัดหุ้นชั้นยอดด้วยระบบชั้นเยี่ยม
พีวิลเลียม โอนีล ผู้ให้กำเนิดค่านี้ บอกว่า
ค่า RS จะเป็นตัวเลขที่แยกว่าหุ้นตัวไหนดีกว่า ตัวไหนแย่

โดยสาธยายว่า
" การจัดอันดับ RS จะวัดผลงานของราคาหุ้นแต่ละตัวเมื่อเทียบกับตัวอื่นๆที่เหลือ  ในรอบ 52 สัปดาห์ที่ผ่านมา
หุ้นทุกตัวในตลาดจะได้รับการจัดอันดับออกมาเป็นตั้งแต่ 1 ถึง 99
คือหุ้นที่มีค่า RS ที่ 99 หมายความว่าหุ้นตัวนั้นมีผลงานที่ดีกว่าบริษัทอื่นอีก 99% ที่เหลือ
ในแง่ของราคาหุ้น RS ที่ 50 หมายความว่ามีหุ้นอีกครึ่งหนึ่งของทั้งหมด 
ทำผลงานได้ดีกว่ามัน และอีกครึ่งหนึ่งทำได้แย่กว่า "

สรุป คือ
RS 99 เจ๋ง โดดเด้งสุดๆ
RS 80-99 พี่โอนีล และลูกศิษย์ ชอบมากๆ
RS 50 กลางๆ ออกไปทางอ่อนแอ
ต่ำกว่า 50 ก็อ่อนแอ ปวกเปียกอย่างแรง

เอ๊ะๆๆๆ แต่....จริงๆแล้ว เจ้า Relative Strength นี่น่ะ มันสำคัญมากเลยเหรอ?
ฉันจำเป็นต้องรู้มั้ย?
หลายคนคงรู้สึกขัดใจ



ความจริงก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรหรอกครับ ไม่ต้องรู้ก็ได้
เพราะหนทางในการรวยหุ้น มันมีเป็นร้อยเป็นพันวิธี
แต่ถ้าใครอยากหาแนวทางสแกนหุ้นแบบใหม่ๆ ก็คุ้มค่าที่จะเรียนรู้นะครับ

ดังนั้น...ผมจึงต้องหาเหตุผลมาสนับสนุนกันแล้วล่ะ เพื่อจะชวนให้ท่านเชื่อมั่น
ขอยกเอาคำพูดของพี่ David Ryan เทรดเดอร์ชื่อดังที่เป็นไอดอลของนักลงทุนสายไฮบริดทั่วโลก
ผู้ที่ใช้ประโยชน์จากค่า Relative Strength สร้างกำไรและชื่อเสียงมาอย่างมากมาย
เขาบอกว่า......

1) Relative Strength นั้นสำคัญยิ่งกว่า EPS เสียอีก
โดยค่า RS ที่เขาชอบมาก ต้องมีค่าอย่างน้อย 80
และถ้าเกิน 90 จะชอบมาก
หุ้นหลายตัวมีค่า RS สูงขึ้น ก่อนจะมี EPS break out ด้วยซ้ำ

2) คนส่วนใหญ่เชื่อว่า RS สูงแสดงว่าหุ้นขึ้นมากเกินไป และมันจะต้องดอยเมื่อ RS อยู่ในระดับสูง แต่เราสามารถเลี่ยงสิ่งนี้ได้โดยการศึกษา chart โดยไม่เลือกหุ้นที่วิ่งห่าง จาก Base ไปมากแล้ว
หุ้นจำนวนไม่น้อยที่มี RS ทรงตัวในระดับสูงมาก สามารถชนะตลาดได้เป็นเวลานานหลายเดือน
นอกจากนี้ ถ้า Industry RS สูง(อุตสาหกรรมนำตลาด ราคาหุ้นทั้งอุตสาหกรรมวิ่งขึ้นเป็นแผง) จะยิ่งดีขึ้นไปอีก
3) แม้เขาชอบหุ้นที่ RS สูง ๆ ยิ่งสูงยิ่งดี แต่ให้ระวังหุ้นที่ RS เริ่มลดลง แม้ว่าจะยังสูงกว่า 80

ปู่วิลเลียม โอนีล ผู้ให้กำเนิดค่านี้ ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆว่า
ตัวเลข Relative Strength 80 จะหมายความว่า หุ้นตัวนั้นมีผลงานเหนือกว่าอีก 80% ของหุ้นทั้งหมดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาในอดีต
หุ้นพวกนี้จะเป็นผู้นำตลาด ยิ่งมีค่า RS มาก......ยิ่งดี
และกุญแจสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า Relative Strength นั้นจะสูงแค่ไหน
แต่มันอยู่ที่ว่า ราคาหุ้นได้ขึ้นมาจากฐานราคาล่าสุดของมันไปมากน้อยเพียงใดมากกว่า
หากคุณซื้อหุ้นที่มีค่า Relative Strength สูงๆ แต่ว่ามันยังอยู่ในแค่ช่วงต้นของการขึ้นของราคา ออกมาจากช่วงของการสร้างฐานราคา
แต่กระนั้น, เขาก็ไม่ซื้อหุ้นที่ราคาขึ้นไปห่างจากฐานราคาเดิมไปแล้ว 10%

ถ้าค่า RS ของหุ้นตัวหนึ่งต่ำกว่า 70 แสดงว่ามันล้าหลังกว่าหุ้นตัวที่แข็งแรงกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่สามารถวิ่งขึ้นสูงๆได้นะ เพียงแต่ตอนนั้นมันดูอ่อนแอกว่าตัวเจ๋งๆ



ปู่โอนีลยังบอกสถิติว่า
ค่าเฉลี่ยของการจัดอันดับของหุ้นที่มีผลงานดีเด่นก่อนการวิ่งขึ้นครั้งใหญ่ของพวกมันคือ 87!!! 
พูดได้อีกอย่างคือ ก่อนหุ้นที่หุ้นดาวรุ่งตัวหนึ่งจะวิ่งแรงนั้น มันก็ได้แสดงความโดดเด่นของการขึ้นของตัวเอง ได้เหนือกว่าหุ้นตัวอื่นๆในตลาดเกือบ 9 ใน 10 อยู่แล้ว

ขอสรุปคำพูดแบบง่ายๆนะ ให้วัยรุ่นเข้าใจ
นึกภาพ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ตอนที่ป๋าเฟอร์กี้ ไปซื้อจากสปอร์ติ้ง ลิสบอน มาสิ
ตอนนั้นยังไม่ถึง 20 เลย แต่ฟอร์ม(หรือ skill)ก็โดดเด่นกว่าเด็กในรุ่นเดียวกันแล้ว
และจากนั้นไม่กี่ปี ก็กลายเป็นหัวใจของทีม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
แถมพอ รีล มาดริด ซื้อตัวไปก็ยิ่งเก่ง ได้อีก

มูลค่ามาจากลิสบอน 12.24 ล้านปอนด์
เป็นตัวหลักพาทีมคว้าแชมป์ลีกติดต่อกัน เป็นดาวซัลโว
มูลค่าที่รีล มาดริด ยอมแลกเพื่อให้ได้ตัวจากแมนยูฯ 80 ล้านปอนด์

ถือเป็น Big Shot ของท่านเซอร์หรือทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดเลยนะครับ
คุ้มไม่รู้ว่าจะคุ้มยังไงแล้ว  ซื้อของดีมาในราคาถูก(เมื่อเทียบกับผลงานในอนาคตนะ ตอนที่ซื้อมาจากสิสบอนน่ะก็โดนค่อนแคะกันยกใหญ่ว่าแพงเกิน แรกๆแฟนบอลก็ด่ากัน) ต่อมาก็สามารถพาทีมคว้าแชมป์(สร้างมูลค่าให้กับสโมรและตัวเอง) หนำซ้ำยังขายต่อได้ในราคาที่แพงกว่าหลายเท่า

แบบนี้น่าจะเห็นภาพกันชัดขึ้นนะ
หุ้นดาวรุ่งน่ะ ถ้าคุณเห็นมันในจังหวะต้นเทรนด์ และได้ซื้อมในจังหวะที่ใช่
มันก็สามารถสร้างผลกำไรให้คุณอย่างงาม เป็น Big Shot ให้คุณได้เลย

ดังนั้น อย่าไปยุ่งกับหุ้นที่ RS 40, 50 หรือ 60 อยู่เลย
จงมองหาผู้นำอย่างแท้จริง หลีกเลี่ยงผู้ตาม

หน้าที่ของเราคือ หาหุ้นโรนัลโด้ ตัวต่อไป ให้เจอ

ในบ้านเรา มีคนทำตารางให้เราดูทุกอาทิตย์ คือเพจ SEHJU Research Center
พี่เค้าจะอัพตารางให้ดูทุกวันจันทร์ หน้าตาจะเป็นอย่างนี้
ผมมองว่าเป็นตารางที่ทรงคุณค่าเอามากๆ แต่ว่าไม่มีค่อยมีใครเอามาขยายความต่อยอดใช้ประโยชน์กัน

จึงขอใช้พื้นที่นี้ ชวนท่านเอาข้อมูลนี้มาใช้กัน

แล้วบร๊ะลานุภาพของหุ้นที่มีค่า Relative Strength สูงๆล่ะ มันหน้าตาเป็นยังไง
ที่ว่าว่ามันเป็นค่าทีแสดงความแข็งแรงของหุ้นเมื่อทียบกับตลาด
ยิ่งค่ามากเท่าไหร่ ยิ่งแข็งแรงกว่าตลาด
แข็งแรง แบบไหน ยังไง?

ความจริงมันก็อธิบายกันยากนะ
แต่ถ้าดูรูปก็น่าจะเข้าใจได้ง่าย

เอายังงี้....ยิ่งค่าสูง ยิ่งวิ่งแรง คือมัน "ซิ่ง" ทำกำไรให้เราได้ในระยะเวลาอันสั้น
ยิ่งค่า 90 ขึ้นไปนะ มันเป็น "หุ้นซิ่ง" ไปแล้ว
เข้าใจนะ ยิ่งไกล้ร้อย ยิ่งซิ่งโหด


แต่ก็นั่นแหละ คนส่วนใหญ่มักจะเชื่อว่า หุ้นที่วิ่งแรง เดี๋ยวก็จะเจอจังหวะดักขายใส่หนัก
และมีโอกาสเป็นยอดดอย สูงมาก น่ากลัว ไม่ควรเข้า

คือ ยิ่งสูง ยิ่งเสี่ยง เราไปซื้อดักรอหุ้นที่ยังอยู่ก้นเหวดีกว่า ปลอดภัยดี

ทั้งที่ความจริงแล้ว, พี่ วิลเลียม โอนีล ผู้เป็นเจ้าของแนวคิดนี้ ก็ขอย้ำให้อ่านอีกครั้งว่า
กุญแจสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่ว่า Relative Strength จะสูงแค่ไหนหรอกนะ
จะ 80 หรือ 90 หรือ 100 ก็ได้

แต่มันอยู่ที่ว่า......
หุ้นได้ขึ้นมาจากฐานราคาล่าสุดของมันมากน้อยเพียงใดแล้ว มากกว่า

หุ้นบางตัวมีค่า RS สูงมากกว่า 90 ด้วยซ้ำ แต่ว่าราคาของมันยังอยู่แค่ในช่วงต้นของการขึ้นของราคาออกมาจากช่วงของการสร้างฐานราคา ก็มี

หุ้นตัวที่ทำเงินจำนวนมากอย่างแท้จริง โดยทั่วไปก่อนที่มันจะวิ่งแรงๆนั้น ค่า RS จะอยู่ 90 หรือมากกว่าด้วยซ้ำ โดยที่ยังอยู่ในฐานราคากรอบแรก หรือกรอบที่สองของมัน

โดยทั่วไปแล้ว เขาจะไม่ซื้อหุ้นที่มีค่า Relative Strength ที่สูง
ถ้าหากมัน breakout ขึ้นไปมากกว่า 10% จาก "ฐานราคา" เดิมของมันแล้ว

ครับ.....
หน้าที่ของเรา(อีกแล้ว)
คือต้องเอาหุ้นที่ค่า 80-99 ไปเช็คกราฟต่อ ดูว่ามันสร้างฐานในรูปแบบไหน

เพราะปู่โอนีลย้ำเสมอว่า
.....ก่อนที่จะซื้อหุ้นที่ค่า RS 90 ขอให้มั่นใจที่สุดว่ามันกำลังจะทะลุขึ้นมาจากฐานราคาหรือการบีบอัดตัวที่น่าเชื่อถือ และจงมั่นใจด้วยว่าคุณได้ซื้อที่จุดเข้าซื้อที่แท้จริงหรือ pivot point ของมัน



Pivot point คือ คือระดับเหมาะสมที่หุ้นปรับฐานเสร็จแล้ววิ่งขึ้นต่อไป หลังจากที่ได้มีการสร้างฐานราคาแล้ว หรือที่เรียกว่า"เรียกนักลงทุนลงมือ" มักจะเป็นจุดซื้อสะสมหรือจุดทำกำไร จุด Pivot point มีผลให้หุ้นผ่าด่านทำจุดสูงสุดใหม่หรือต่ำกว่าจุดสูงสุดเดิม จุด Pivot point ที่เหมาะสมมักจะไม่ค่อยล้มเหลว ถ้าหากมีการวิ่งขึ้นจากการปรับฐานที่สมบูรณ์แบบ
รายละเอียดเพิ่มเติม แนะให้ไปอ่านเพจ Brotherhood Trader นะครับเขาทำได้ดีมาก
1) Pivot Point https://www.facebook.com/brotrade/posts/743892472440600
2) Pocket Pivot Buy Point https://www.facebook.com/brotrade/photos/a.315449165284935.1073741828.315136848649500/676378839191964/?type=3


และเตือนอีกครั้งว่า ถ้าเข้าไม่ทัน เห็นมันวิ่งห่างจากจุดเข้าซื้อที่ใช่มาแล้ว 5-10% อย่าไปไล่ราคา
คือถ้ามันวิ่งไปไกลเกิน 5% ก็ให้คิดหนักก่อนซื้อแล้วนะ

จำภาพที่ผมเคยโพสต์ไว้ในบทความ "วิธีการเทรดของ Dan Zanger" มั้ยครับ?

พี่แดนของผมก็ใช้แนวทางนี้เหมือนกัน คือซื้อตอนที่มัน Breakout ไกล้ Base ให้มากที่สุด
ห่างมากไป .... ไม่เล่น ถือว่าไม่มีวาสนาต่อกัน

ครับ ค่า RS สูงไม่ใช่เรื่องใหญ่
ประเด็นคือ มันห่างจาก Base หรือ ฐานราคา ไปมากแค่ไหน
ถ้าห่างไม่มาก เสี่ยงน้อยกว่า พอเล่นได้


ดังนั้น ถ้าเราไม่อยากเสี่ยงมาก ก็ต้องทำการบ้าน หาหุ้นที่มีค่า RS สูงๆ เหล่านั้น ไปเปิดกราฟดู
เพื่อเช็คดูว่า ตัวไหน ยังอยู่ไกล้ฐาน ไม่เกิน 5% บ้าง

แล้ว...."Base หรือ ฐานราคา" มันคืออะไร?
ผมคิดว่า มันมีชื่อเรียกหลายหลากมากนะ ปรับฐาน ย่อ พักฐาน ฯลฯ

มันคือช่วงที่ราคาหุ้นปรับตัวลงชั่วคราว หยุดพักช่วงสั้นๆ เพื่อพักเหนื่อยกับช่วงขาขึ้นที่เพิ่งผ่าน
เตรียมสะสมกำลังเพื่อให้พร้อมขึ้นสูงต่อไปอีก

พี่ วิลเลียม โอนีล ให้คำจำกัดความ "ฐานราคา" ไว้ดังนี้
"ฐานราคา" คือบริเวณที่เกิดการปรับฐานของราคา(ราคาย่อตัวลง) และเกิดการบีบตัวของราคา(แกว่งแคบลง) โดยฐานราคาจะเกิดขึ้นหลังจากที่มีการขึ้นของราคาในก่อนหน้านั้น
ส่วนใหญ่ของฐานราคาจะเกิดจากการปรับฐานโดยรวม

สรุปไทยเป็นไทย ฐานราคา คือให้ดูรูปข้างล่างครับ ตรงที่ผมวงว่า พักเหนื่อย หรือ BASE นั่นแหละครับ


ถ้ามองในมุมของ Demand กับ Supply ช่วงสร้างฐานราคา ก็เป็นเวลาของ Supply ออกแสดงตัวก่อน คือมีการขายกดให้ราคาลงจากไฮ และ Demand ก็ไม่ได้ออกตัวมาไล่ซื้ออะไรนัก ปล่อยให้มีการขายหุ้นออกได้อย่างสบายใจ จนกระทั่งหุ้นหมดไปเอง Demand จะคอยรับหุ้นที่ถูกปล่อยออกมาจนหมด

ใครทำให้เกิดการสร้างฐานราคา?
สภาวะตลาดปกติ น่าจะเริ่มจากรายย่อย นักเก็งกำไรระยะสั้น ขายหุ้นออกเพื่อเก็บกำไรเอาไว้
เพราะเห็นว่า
- ราคาขึ้นมาเยอะแล้ว ได้กำไรแล้วก็ขายออก
- ราคาขึ้นด้วยความอ่อนแอ คือบวกเล็กน้อย วอลุ่มลดลง สื่อว่าแรงซื้อไม่ค่อยมีมาก
- ราคาวิ่งมาถึงเป้า เช่น ระดับฟีโบนาชี, ตัวเลขกลมๆ แนวต้าน ฯลฯ
- อินดิเคเตอร์ต่างๆ เกิด divergence, ภาวะ Overbought
ฯลฯ

แต่ถ้าช่วงที่ SET หรือตลาด มีการปรับฐานหนักๆ เป็นขาลง ไม่จำเป็นต้องรายย่อยหรอกครับ
รายใหญ่ก็ขายทำกำไรกันเหนียว หรือไม่ก็ขายหนีตาย ไม่ต่างกัน

80-90% ของฐานราคา จะถูกสร้างขึ้นมาในระหว่างการปรับฐานของดัชนี หรือตลาดหมี

ปู่โอนีลยังบอกต่ออีกว่า
วิธีการวิเคราะห์ฐานราคาที่ใช่ก็คือ คุณต้องดูให้ออกว่าการเคลื่อนไหวของราคาและวอลุ่มนั้น มันปกติหรือผิดปกติ มันบ่งบอกถึงความแข็งแรง หรือว่าอ่อนแอ

คือคุณต้องมองให้ออกว่าแบบไหนมันลงจริง(จบรอบ) หรือแค่พักฐาน(ย่อเพื่อไปต่อ)



อันดับแรกให้ดูความลึกของการย่อ
ราคาหุ้นที่พักฐาน หรือย่อเพื่อไปต่อน่ะ มันต้องย่อไม่ลึก
ปกติจะลงแค่ 12-15% จากจุดสูงสุด และ 33% ก็เป็นด่านสุดท้ายที่ยอมได้
เหตุผลที่พี่โอนีลยอมให้ลงได้แค่ 33% ก็มาจากการเก็บข้อมูลของแกแหละครับ
คือถ้าลงแค่นี้ โอกาสที่จะเด้งกลับขึ้นไปทำนิวไฮได้ ในระยะเวลาอันสั้น
pattern ประเภท cup with handle, flat base, dubbed a square box, ascending base ก็จะย่อระดับนี้กัน

ถ้าลึกลงกว่านี้ โอกาสในการเด้งเพื่อไปต่อจะน้อยลงครับ
ส่วนใหญ่จะลงต่อ บางส่วนดีหน่อยก็จะ sideway และก็มีน้อยมากที่เด้งขึ้น

ต่อมาคือ จำนวนครั้งที่มันร่วง หรือปรับฐาน
สงสัยมั้ยครับว่า Cup with handle ต่างจาก Double bottom หรือ Triple bottom ยังไง
ต่างตรงที่จำนวนครั้งของการย่อครับ
Cup with handle คือราคาร่วงลงครั้งเดียว
Double bottom ปรับฐานหรือร่วงลง 2 ครั้ง
พี่โอนีลบอกว่า หุ้นที่ราคาปรับฐานครั้งหรือสองครั้งแล้วเด้งขึ้น(เพื่อไปทำนิวไฮ)ได้นี่น่ะ มันแข็งแรงและมีความน่าเชื่อถือมากกว่า Triple bottom ที่ร่วงลง 3 ครั้ง อันแสดงว่ามันอ่อนแอเกินไปแล้ว

ระยะเวลาในการสร้างฐานก็ต้องดูด้วย
เพราะการ breakout ของราคาที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างถูกต้อง คือหัวใจของการเริ่มต้นแรลลี่
(ตามตำราบอกว่า) ฐานราคาที่น่าเชื่อถือ ต้องมีช่วงการบีบตัวของราคา หรือการสร้างฐาน ในระยะเวลาตั้งแต่ 7 หรือ 8 สัปดาห์ จนถึง 15 เดือน



ต่อมาให้ดูวอลุ่มครับ
เกือบทั้งหมดของฐานราคาที่เหมาะสมจะมีวอลุ่มลดลงอย่างชัดเจนเป็นเวลา 1 หรือ 2 สัปดาห์ ในบริเวณต่ำสุดของรูปแบบฐานราคา และในบริเวณต่ำสุดหรือช่วง 2-3 สัปดาห์ของบริเวณหูจับ(สำหรับ pattern ที่มี) ซึ่งมันหมายความว่าแรงขายเริ่มที่จะหมดแรงและมีหุ้นปริมาณน้อยมากที่ถูกนำเข้ามาขายในตลาดหุ้น
หุ้นที่แข็งแรง ที่อยู่ในช่วงสะสมหุ้น มักจะแสดงอาการแบบนี้ออกมาเสมอ
การผสมผสานกันระหว่างการบีบอัดของราคา (ราคาปิดรายวันหรือรายสัปดาห์ที่ไกล้กันมากๆ) และปริมาณการซื้อขายที่ลดลง คือกุญแจสำคัญ

สุดท้ายคือค่า RS ครับ
ขณะที่ราคากำลังจะ breakout จากฐานราคานั้นน่ะ
ค่า RS จะต้องทำนิวไฮด้วยครับ

ถึงตอนนี้ ผมมีข้อสังเกตุชวนให้ตรวจสอบย้อนหลังกัน
คือว่า....ยิ่งอยู่ในช่วงที่ตลาดหรือ SET ปรับฐานนี้น่ะ ค่า RS จะมีนัยยะ มีออร่าเป็นพิเศษ
ช่วงนั้นน่ะ ถ้าหุ้นตัวใด ปรากฎค่า RS สูงๆ ในระดับ 80 90 ได้ จะถือเป็นของมีค่าขึ้นมาทันที

นึกภาพนะครับ
ช่วงที่ SET ร่วง ตลาดดูเป็นสภาวะหมี กราฟของมันเป็นยังไง
ครับ.....ปักหัวลง ทำนิวโลว์ แล้ว นิวโลว์อีก
แสดงว่า...หุ้นที่ RS สูงๆนั้น มันไม่ยอมลงตาม SET หรือย่อ ก็แบบเสียมิได้

ใครที่นึกภาพไม่ออก ดูตัวอย่าง SET เทียบกับน้อง MALEE เลย



อีกตัว TASCO ในอดีตที่สวนตลาดแบบไม่สนโลก
ในช่วงเวลาเดียวกัน SET ลงแบบโงหัวไม่ขึ้นไร้อนาคต แต่ TASCO วิ่ง 6 เด้ง

ผมชอบอุปมาสภาพตอนที่ SET เป็นขาลงเหมือนตอนที่กรุงศรีฯ แตก
ไพร่พล คนชนชั้นปกครองถ้าไม่โดนกวาดต้อน ก็หนีหัวซุกหัวซุน ไม่มีใครอยากต่อสู้เพื่อปกป้องเมือง
และในตอนนี้เอง ก็จะมีพระเอกก้าวออกมาปักหลักสู้

จำได้มั้ยครับ
ครั้งแรก คือ สมเด็จพระนเรศวร มหาราช
รอบที่สอง ก็จะเป็น สมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราช
ทั้งสองท่าน ไม่ตื่นตระหนก ผวาหนีตาย ยืนหยัดสะสมกำลัง เพื่อต่อสู้และกู้เมือง
จนในที่สุดก็ได้ประกาศเอกราช

เปรียบกับ SET ก็ไม่ต่างกันนะครับ
อีตอนที่ดัชนีลงโหด เม่าร่ำให้รองขอชีวิต เลือดท่วมพอร์ต กันทั่วเมือง
เราอย่าไปร่วมดราม่ากับเขาครับ เสียเวลาชีวิต
มองหาหุ้น "ผู้กอบกู้" หรือหุ้นชนะตลาดเอาไว้ครับ
ดูง่ายๆ ก็จากค่า RS นี่แหละ

ตัวไหนที่แข็งกว่าดัชนี
เมื่อ SET กลับตัว(เปรียบเสมือนเพิ่งสตาร์ทเครื่อง)
หุ้นที่ค่า RS สูงๆ ก็พร้อมเข้าเกียร์ 3 เกียร์ 4 ซิ่งนำลิ่วไปเป็นสิบๆกิโลแล้ว

นี่คือ ข้อเปรียบเทียบแบบมวยวัดของผมนะ เกี่ยวกับ ค่า RS กับ ตลาดหมี



ก่อนจบตอนนี้ ปู่โอนีล ก็ให้ข้อคิดที่น่าสนใจไว้ว่า
มันไม่เพียงพอที่จะแค่ซื้อหุ้นที่มีค่า RS สูงที่สุดในรายชื่อของหุ้นที่มีผลงานดีที่สุด คุณควรที่จะซื้อหุ้นที่ดีกว่าตลาดโดยรวม ที่เพิ่งจะเริ่มต้นการทะลุขึ้นมาจากฐานราคาที่น่าเชื่อถือ
เวลาจะขาย คือตอนที่หุ้นวิ่งขึ้นไปอย่างรวดเร็วและสูงกว่าฐานราคาของมันไปอย่างมาก อีกทั้งยังแสดงค่า RS ที่สูงอย่างสุดขั้ว


ต่อกับอีกประเด็นที่ค้างกันอยู่คือ การสร้างฐานราคา
สำหรับสูตรของพี่โอนีล ที่บอกไว้ในหนังสือ CANSLIM คัดหุ้นชั้นยอดด้วยระบบชั้นเยี่ยม ถ้าใครได้แกะกราฟที่แกยัดไว้ในหนังสือเกือบร้อยหน้านั้นน่ะ จะมีจุดหนึ่งที่แกระบุจุดซื้อแทบทุกครั้งคือ
ตอน "ตลาดปรับฐาน" ดูรูปนะ

ทุกครั้งที่ตลาดหรือดัชนีปรับฐานนั้น หุ้นเกือบทั้งหมดจะย่อหรือร่วงตามครับ
หน้าที่เราคืออย่า panic ตามตลาดครับ เตรียมซื้อหุ้นแกร่งที่สร้างฐานราคาตามสูตร
ในที่นี้ ผมจะอ้างฐานราคาตามแนวทางของพี่วิลเลียม โอนีล เป็นหลักนะครับ

แล้วฐานราคา ที่พี่เค้าว่านี้น่ะ มีรูปร่างหน้าตาเป็นยังไงบ้าง?

เริ่มต้นเราไปค้นที่ต้นตอกันเลย
ก็ค้นจากกูเกิ้ลนี่แหละ ก็ไปเจอเว็บ williamoneil.com ที่มีหน้า Pattern Recognition
หรือในหนังสือ CANSLIM คัดหุ้นชั้นยอดด้วยระบบชั้นเยี่ยม ก็ได้เช่นกัน
ซึ่งเท่าที่รวบรวมมา พบว่าฐานราคามี 7 แบบ คือ
Cup, Cup with Handle, Saucer, Saucer with Handle, Ascending, Flat, and Consolidation
จึงทำหน้าที่ค้นหาเอารูปมาแปะต่อ
Cup


Cup and Handle

ขอมัดรวมทั้งคู่นะ เพราะแบบแรกหายาก ส่วนใหญ่จะเจอรูปแบบ 2 กัน





Saucer


Saucer with Handle







Ascending แบบนี้จะดูง่ายและเห็นบ่อยในบ้านเรา



Flat Base


Dubbed a square box (แทงทะลุกล่องสี่เหลี่ยม)


Double Bottom




สำหรับตัวอย่างกราฟหุ้นในบ้านเรา แนะนำให้ไปอ่านเพิ่มในเพจ Brotherhood Trader ครับ ทำไว้ดีมาก
เขาทำไว้ 3 ชุด หัวข้อ รูปแบบราคาที่น่าเชื่อถือ
๑) ตอนที่ 1 : Cup with Handle Pattern
๒) ตอนที่ 2 : Double - Bottom และ Flat Base
๓) ตอนที่ 3(END) : Square Box , Hight Tight Flag , Base on Base , Ascending Base


ยังไม่หมด....
ต้องรวม Pattern ของ Mark Minervini ด้วยนะ
Volatility contraction pattern หรือ VCP

สำหรับแนวทางการประยุกต์ใช้ VCP กับหุ้นบ้านเรา ผมแนะนำให้ไปดูเพจ Brotherhood Trader นะครับ
แอดมิน คือคุณ Agapol Chamnanpanich (เอกพล ชำนาญพานิชย์) เขาแน่นและเก่งมากๆ
ซึ่งภาพกราฟ ผมก็ขโมยเค้ามานะ อยากดูเต็มๆก็ติดตามเพจเขาเลย แจ่มมากๆ

อีกแบบหนึ่งคือ cup completion cheat (3-C)


ก็นับว่าเยอะพอสมควรเลยทีเดียว
สารภาพว่าถึงตอนนี้ ผมก็ยังจำไม่หมดเลยครับ เพราะลายตาไปหมด
ก็ค่อยๆ จำ และนำไปใช้กันเรื่อยๆแหละครับ ถึงจะเข้าหัว

เพื่อความงุนงงกันมากขึ้น
ผมจะเสริม pattern อีกชุด ให้ท่านได้มึนมากขึ้น
คือจากรูปแบบราคา ที่ท่านเห็นข้างบนนั้นน่ะ ถ้าดูภาพรวมๆที่เหมือนกัน คือ
มันเป็นการย่อเพื่อไปต่อ หรือ Continuation Patterns กันทั้งหมด
ซึ่งจะช่วยให้เราหรือใครบางคนที่คุ้นเคยกับรูปแบบราคาดังกล่าว เห็นภาพมากขึ้น

ผมเคยรวบรวม 7 Price pattern ที่น่าเชื่อถือที่สุด เอาไว้นะ
ลองดูซ้ำกันอีก โฟกัสที่มันจะขึ้นไว้นะครับ



เรียงลำดับจากความน่าเชื่อถือต่ำลงไปสูง
น่าเชื่อถือมากสุดจะมีโอกาส breakout ไปมากกว่า
7. Bull Flag Pattern (67.13% Success) and Bear Flag Patterness)
6. Ascending Triangle Pattern (72.77%) and Descending Triangle Pattern (72.93%)
5. Ascending Channel Pattern (73.03%) and Descending Channel Pattern (72.88%)
4. Double Top Pattern (75.01%) and Double Bottom Pattern (78.55%)
3. Triple Top Pattern (77.59%) and Triple Bottom Pattern (79.33%)
2. Bullish Rectangle Pattern (78.23%) and Bearish Rectangle Pattern (79.51%)
1. Head and Shoulders Pattern (83.04%) and Inverted Head and Shoulders Pattern (83.44%)






ยัง...ยังไม่หมด
7 COMMON BREAKOUT PATTERNS ที่ผมเคยแปลเอาไว้ก็สามารถใช้ได้
เพราะมันเป็น Continuation Pattern เหมือนกัน
โดยการพิจารณาในแต่ละรูปแบบ ต้องประกอบด้วย price action, volume, moving average (15, 20, 50, 100, 200 วัน) และการพัฒนารูปแบบด้วยตัวมันเอง จุดเข้าซื้อจะถูก mark เมื่อทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบ
1) Parabolic Breakout and Symmetrical Triangle:
สองแพทเทิร์นนี้เป็น intra-day spike ที่ผมอยากได้อย่างสุดซึ้ง จากประสบการณ์ผมพบว่าพวกมันให้ผลตอบแทนมากและรวดเร็วจริงๆ มีอย่างน้อยสองแพททิร์นในนี้คือ continuation หรือ consolidation pattern ที่สมบูรณ์ด้วยตัวมันเอง ส่วนใหญ่จะเป็น flat bases, flags, และสามเหลี่ยมแบบต่างๆ
ในระหว่างวันมักถูกไล่ราคาให้วิ่งห่างจากเส้นค่าเฉลี่ยมากๆ(When the pattern goes parabolic intra-day) มักจะมีการขายทำกำไรออกมาอย่างรุนแรง-บางครั้งทุบราคาลดลงได้ถึง 50% จากการเคลื่อนของมันทั้งหมดเลยทีเดียว คนที่ขายออกส่วนใหญ่เป็นรายย่อย(weak hands)ที่ตกใจขาย(sell in panic) บอกได้เลยว่าพวกเขาพลาดไปแล้วล่ะ

หลังจากที่ราคาถูกลากขึ้นไปสูงมากๆ ก็เกิดการขายเพื่อรวบรวมกำไร อีกทั้งเขย่าพวกใจฝ่อออกไปจากเกมส์ ดึงดูด dip buyers-(หมายถึงพวกที่ชอบซื้อหุ้นตอนพักตัว) และสะสมกำลังเพื่อจะวิ่งต่อ ซึ่งในช่วงสุดท้ายของรอบ consolidation ก็จะเกิดการ breakout คือจุดเข้าซื้อครั้งที่สอง

วอลุ่มต้องเบาบางและลดลงก่อนที่ราคาจะพุ่ง(spike) หมายความว่าตอนที่ราคาพุ่งวอลุ่มต้องพุ่งสูงด้วย นอกจากนี้เส้นค่าเฉลี่ยที่กล่าวไว้ข้างต้นจะเป็นตัวบอกว่าได้เวลาเข้าซื้อแล้ว เส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้นที่ผมชอบคือ 15 กับ 20วัน ส่วนระยะกลางคือ 50 กับ 100วัน ส่วนเส้น 200วัน ใช้สำหรับระยะยาว
เมื่อคุณเห็น symmetrical triangle ก่อตัวขึ้นหลังจากการ spike ครั้งแรก มันเกือบจะการันตีได้เลยว่าหุ้นจะ breakout อีกครั้ง (น้อยครั้งมากที่มันไม่ไปต่อ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องคัทลอส)

2) Bull Flag:
Bull flag จะเกิดในเวลาสั้นๆ แค่วันเดียวหรือหลายสัปดาห์ จุดเข้าซื้อคือการใช้เส้นค่าเฉลี่ยที่เหมาะสม บางครั้งผมชอบเข้าซื้อที่ธง(flag)เลย เพราะกลัวว่าจะเข้าตอน breakout ไม่ทัน อย่างไรก็ตาม เส้นค่าเฉลี่ยที่ไกล้เคียงที่สุดคือ 15 หรือ 20 วัน

3) Ascending Triangle:
ascending triangle เป็นรูปแบบกระทิงที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือสูง มันเป็นความอ่อนแรงของการขายขณะที่ผู้ซื้อได้ควบคุมสถานการณ์ได้หมดแล้ว(ผู้ขายอยู่กับที่แต่ผู้ซื้อรุกไล่เก็บหุ้นจนได้หุ้นหมด) คุณอาจจะซื้อตอน breakout หรือเข้าเก็บตอนที่ pattern มันบีบตัวแน่นสุดๆ


4) Failed Descending Triangle: ดูเหมือนว่ามันเป็นการย่อเพื่อลง แต่มีคนพยายามยันราคาไม่ยอมให้ลง พอย่อลงไปชนแนวรับก็จะเด้งตลอด แต่ก็เด้งไม่แรง ทรงเหมือนจะลงต่อมากๆ
แต่พอราคาแกว่งแคบลง จนราคาเสถียร จึงถูกดันไล่ราคาให้ซิ่งขึ้นไปแรงเฉยเลย


5) Rounded Bottom:
รูปแบบนี้ใช้เวลาเป็นเดือน หรือปี ในการก่อตัว เริ่มจากขาลงก่อน แล้วค่อย sideway ในช่วงกลาง เมื่อทางด้านขวาของ "จานรอง" พัฒนาก็จะเห็นได้ชัดว่าหุ้น/ตลาดต้องการที่จะขึ้นไป ควรจะมีวอลุ่มเพิ่มขึ้นมากในตอน breakout
ขณะที่ฐานกำลังก่อรูปร่าง เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่หลักควรวิ่งมาทันแท่งราคาหุ้น จากนั้นก็จะช้อนแท่งราคาให้ยกตัวสูงขึ้น ทำตัวเหมือน "ฐานยิงจรวดขีปนาวุธ" ส่งให้หุ้น breakout ได้ต่อไป

6) Flat Base:
Flat base เป็นรูปแบบ flag ขยายตัวตรงกลางด้วยปริมาณการซื้อขายต่ำ นี่เป็นรูปแบบหนึ่งก่อนการ breakout ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ราคาหุ้นสามารถวิ่งเป็นสองเท่าได้ในหนึ่งวันหรือสัปดาห์ แต่ไม่ควรจะมีหลักฐานของการbreakdown มาก่อน คุณควรจะเข้าซื้อทันทีเมื่อคุณพบแพทเทิร์นนี้ เมื่อเกิด breakout ขึ้น ราคาจะวิ่งไปสูงชนิดที่คุณไม่เคยเห็นมันทำได้มาก่อน

7) Measured Move:
The measured move pattern เป็นหนึ่งในรูปแบบที่สวยงามและคาดเดาได้ง่ายมาก มันจะเริ่มเด้งจากเส้นค่าเฉลี่ยที่เป็นแนวรับของมันโดยตลอด ตอนที่ออกข้างวอลุ่มควรลดลง และต้องเพิ่มเมื่อเกิดการ breakout

ก็น่าจะพอหอมปากหอมคอกันแล้วนะ
ผมมีข้อสังเกตุง่ายๆจากหนังสือของพี่โอนีลนะ
คือถ้าตลาดลงแรงหนักๆ นานๆ เป็นตลาดหมี น่ะ
หุ้นจะย่อสร้างฐานก็จะเป็นรูปแบบ Cup with handle กันเป็นส่วนใหญ่
ถ้าดัชนีพักฐานแบบเบาๆในขาขึ้น หรือสภาวะตลาดปกติ pattern แบบอื่นๆก็จะเห็นกันได้หมด



สรุป
สรุปสุดท้ายก่อนจบ ว่าบทความนี้ต้องการจะสื่ออะไร เขียนซะยืดยาว
คือตามสูตรของพี่โอนีลน่ะ
เขาชอบซื้อหุ้นตอนที่ตลาดหรือดัชนีเริ่มกลับตัวจากขาลง
ตัวช่วยที่เขาใช้ก็มี 2 ตัวใหญ่ๆนี่แหละ คือ
1) ค่า RS ที่สูงกว่าตัวอื่นๆ
และ 2) ไปเช็คว่า มันได้สร้างฐานราคาที่สมบูรณ์ตามหลักการของแกหรือไม่
แล้วจุดซื้อคือ ตอนที่ราคาเพิ่ง breakout จากฐานราคานั่นเอง โดยต้องไม่ห่างเกิน 5% นะ เกินกว่านี้เสี่ยง

เพราะถ้าราคาอยู่ที่มากกว่า 5% - 10% จากจุดเข้าซื้อที่แท้จริงที่ฐานราคา หุ้นตัวนั้นควรจะถูกหลีกเลี่ยง เพราะการซื้อมันที่ระดับราคานั้นจะมีโอกาสสูงมากที่จะโดนเขย่าออกไปในการปรับฐานราคาตามปกติในครั้งต่อไป หรือจากการย่อตัวของราคาอย่างรวดเร็ว

คุณไม่สามารถซื้อหุ้นที่ดีที่สุดที่เวลาใดก็ได้ เพราะมันจะมีเวลาที่ถูกต้องสำหรับการซื้อ
และมันก็จะให้โอกาสซื้อที่ถูกต้องนั้นหลายครั้ง แต่ไม่ใช่ทุกวัน



(แนะนำเพิ่มเติม ของฟรี)
หากต้องการศึกษาวิธีเล่นหุ้น แนะนำให้ไปอ่านบทความฟรี คลิปฟรีที่นี่ก่อนก็ได้
เรียนเล่นหุ้น เรียนเทรด forex จิตวิทยาการเทรด มือใหม่เล่นหุ้น
คลิกลิ้งนี้ครับ https://www.zyo71.com/p/index.html เป็นสารบัญเว็บนี้ครับ







และ eBook มีขายที่เว็บ https://www.mebmarket.com/index.php?action=search_book&type=author_name&search=เซียว%20จับอิดนึ้ง&exact_keyword=1&page_no=1
แยกส่วนกันนะครับ ขายคนละเจ้า
ebook หนังสือสอนเล่นหุ้น

7 บทความยอดนิยมในรอบ 30 วันที่ผ่านมา

คำคมเกี่ยวกับเคล็ดวิชาจากหนังเรื่อง กังฟูแพนด้า

(มือใหม่เล่นหุ้น) Wyckoff Logic ของดีที่เม่ามือใหม่เอาไปใช้ได้ง่ายๆ

รวมแนวทางการนับคลื่นจากเซียน Elliott Wave

VCP (Volatility Contraction Pattern) และรูปแบบที่คล้ายกัน

ชมฟรี! คอร์สหุ้น ออนไลน์ 170 คลิป จัดเต็ม ไม่มีกั๊ก Free Full Trading Course by Zyo

แชร์วิธีการหารายได้จากการช่วยขาย ebook ที่ mebmarket.com

อธิบาย Wyckoff Accumulation Phase แบบละเอียดยิบ