หลังจากโพสต์ที่แล้ว ผมได้เอ่ยถึง RSI 30 Failure Swing : Winning & Losing Trade แม้ได้รับความสนใจจากสมาชิกไม่มากนัก แต่ผมก็รู้สึกติดลม ก็เลยอยากจะวิจารณ์กระบี่ ต่ออีกสักสองสามกระบวนท่า ก็ขอเอาเฉพาะตัวที่ผมเคยใช้แล้วเห็นจุดบอดเท่านั้นนะ ก็มีไม่เยอะหรอกเพราะผมใช้ไม่กี่ท่าจริงๆ เอาแต่ที่เบสิคเท่านั้น และต้องออกตัวเสียงดังบอกท่านอีกครั้งว่า อินดิเคเตอร์ทุกตัวไม่แม่น 100% หรอกครับ อย่าไปคาดหวังกับมันมาก มันก็เป็นของมันอย่านั้นมานานแล้ว เรียกว่าเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป เราไม่สามารถบังคับให้มันไม่ดับไปได้หรอก มันฝืนธรรมชาติ หน้าที่เราคือใช้ประโยชน์ในช่วงทีมันเกิดขึ้นและตั้งอยู่ แล้วขายออกตอนที่มันดับไป แค่นั้นพอ
แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ สรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนไม่แน่นอน สัญญาณที่เราเคยรับรู้มาว่าเป็น buy signal เพราะหนังสือบอกเรา มันก็จะแม่นแค่บางครั้งเท่านั้น ซึ่งหนังสือมักจะยกเอามาให้เราเห็นแค่ส่วนน้อยเท่านั้น ที่เหลือส่วนใหญ่คือล้มเหลว
ดังนั้น อย่าคาดหวังกับสัญญาณซื้อมาก เราต้องเข้าเทรดด้วยจิตที่ตระหนักถึงความเสี่ยงเสมอ ก่อนซื้อวางจุดหนีไว้ก่อน ถ้าโอกาสเสียหายกับโอกาสได้กำไรไม่คุ้ม ก็อย่าเสี่ยงเลยครับ ไม่มีใครเทรดชนะทุกตาหรอก ธรรมชาติมีสมดุลของมันเสมอ
วันนี้ขอยกอีกไอเดียที่ผมเคยเชื่อในอดีต คือ Golden cross ครับ
กระซิบบอกท่านเลยว่า บทความนี้ผมเคยเอาไปเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ "หุ้นซิ่ง สวิงเทรด" เพราะมันมีเนื้อหาเกี่ยวกับเส้นค่าเฉลี่ยพอดี แต่ด้วยความที่ผมคิดว่าหน้ามันเยอะเกินไปแล้ว จึงตัดออกไป
ไหนๆก็มำมันมาแล้ว ก็เลยเอามาให้อ่านกันเล่นๆดีกว่านะ
Golden Cross
มีศัพท์คำหนึ่งเกี่ยวกับค่าเฉลี่ยที่คนส่วนใหญ่บอกว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนแนวโน้มเป็นขาขึ้น คือคำว่า golden cross มันเป็นชื่อเรียกลักษณะการตัดกันของเส้นค่าเฉลี่ยระยะกลางกับระยะยาวขึ้นไปครับ โดยทั่วไปตามหลักสากล เขาจะใช้เส้น 50 วัน ตัดเส้น 200 วัน ขึ้น ก็จะเรียกว่า golden cross ถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณยืนยันที่เขาว่ากันว่าราคาได้เปลี่ยนแนวโน้มจากขาลง หรือจากสภาวะไร้แนวโน้มหรือขาลง เป็นขาขึ้นครับ
นี่คือหน้าตาของ golden cross ครับ คือเป็นลักษณะการตัดกันของเส้นค่าเฉลี่ยระยะกลาง (EMA50) กับเส้นค่าเฉลี่ยระยะยาว(EMA200) โดย EMA50 วิ่งจากข้างล่าง ตัด EMA200 (ที่อยู่ข้างบน) ขึ้นไปได้ พร้อมกันนั้นราคาก็วิ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง
อะไรทำให้เกิด golden cross?
ต้นตอคือ “ราคาวิ่งขึ้นแรง” ครับ(1) จน breakout ข้ามจุดสูงสุดเก่าในรอบสองเดือนกว่า(A)ไปทำจุดสูงสุดใหม่ได้ แล้วจากนั้นก็วิ่งขึ้นไปทำนิวไฮได้ได้ต่อเนื่อง เพราะเส้นค่าเฉลี่ยเป็นผลที่เกิดจากการคำนวนของราคาปิดย้อนหลังไปตามระยะที่ต้องการ เมื่อราคาวิ่งขึ้นแรง ก็จะพาให้เส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้นกว่า (EMA50 ที่วิ่งตามราคาได้ไว) ตัดเส้นยาวกว่า(EMA200 ที่วิ่งตามราคาช้าเพราะเป็นค่าเฉลี่ยที่ยาวกว่า) ขึ้นไปได้ จึงทำให้เกิด golden cross ครับ
Dead Cross
ส่วน Dead cross ก็เป็นในลักษณะตรงกันข้าม ก็คือเส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้นกว่า(ในที่นี้คือ EMA50) ตัดเส้นระยะยาวกว่า(EMA200) ลงไป ซึ่งมันเป็นสัญญาณยืนยันการเปลี่ยนแนวโน้มจากขาขึ้นหรือสภาวะไร้แนวโน้มเป็นขาลง
นี่คือหน้าตาของ dead cross ที่เกิดกับหุ้น KOOL ระหว่างเดือน May - Jun ลักษณะของมันคือ ตอนแรก EMA50 วิ่งอยู่เหนือ EMA200 ต่อมามันก็ดิ่งลงไปตัดเส้น EMA200 ลงไป สุดท้าย EMA50 ก็วิ่งอยู่ข้างล่าง EMA200 ดังรูปครับ
ความหมายของ dead cross คือมันเป็นอีกสัญญาณที่บอกว่าราคาได้เปลี่ยนแนวโน้มเป็นขาลงอย่างชัดเจนแล้ว ต่อไปราคามีโอกาสลงต่อได้อีก
อะไรทำให้เกิด dead cross?
ก็ต้องบอกว่าการเคลื่อนไหวของราคาที่วิ่งลงทำจุดต่ำสุดใหม่ได้อย่างต่อเนื่องนั่นแหละครับที่เป็นต้นตอหลัก เมื่อราคาปิดยิ่งวันก็ยิ่งลดลงจนหลุดต่ำกว่า EMA200 ก็ทำให้เส้นค่าเฉลี่ยที่เป็นผลพวงจากการคำนวนราคาปิดของแต่ละวันย้อนหลัง ก็จะดิ่งลงตามครับ และในที่สุด EMA50 ก็ตัด EMA200 ลงตามราคา และถ้าราคายังลงต่อได้อีกก็จะนำให้ทั้งสองเส้นดิ่งลงตามไปได้เรื่อยๆ
หลังจาก dead cross อารมณ์ตลาดก็เข้าสู่โซนแห่งความกลัวที่หนักข้อมากขึ้น เพราะเป็นสัญญาณยืนยันให้คนอีกกลุ่มตัดสินใจขายหุ้นออก ทำให้ราคาลงแรงได้อีก
ข้อสังเกตเกี่ยวกับ golden & dead cross
ความเห็นส่วนตัวของผมนะ มันไม่ค่อยเวิร์คสักเท่าไหร่ ถ้าจะใช้เป็น buy หรือ sell signal
๑) เพราะมันเป็นตัวบอกสัญญาณตัวสุดท้ายที่ยืนยันการเปลี่ยนเทรนด์ครับ บ่อยครั้งที่เราพบว่า ราคาวิ่งไปไกลแล้วเส้นเพิ่งตัดกันให้เห็นเป็น golden cross พอเข้าซื้อตามก็กลายเป็นเข้าไปซื้อที่ดอย เพราะราคาวิ่งขึ้นมาถึงจุด overbougth เช่นกันกับสัญญาณขาย ที่กว่าจะเกิด dead cross ราคาก็ลงลึกเกินไปแล้ว
๒) อีกอย่างถ้าราคาอยู่ในช่วงไร้แนวโน้ม หรือ sideway จะมีการเกิด golden cross หรือ dead cross บ่อยมาก ทำให้การตัดกันในแต่ละครั้งจะกลายเป็นสัญญาณหลอกทันที กลายเป็นซื้อช้า ผิดจังหวะเช่นกัน
แต่กระนั้น บางคนก็เสนอไอเดียว่า ถ้าเราใช้เส้นสั้นกว่านี้เป็นสัญญาณได้มั้ย เอา 10 วัน ตัดกับ 50 วัน น่าจะไวขึ้น ลองดูกันครับว่าผลจะเป็นยังไง
ด้วยความที่เป็นเส้นระยะสั้น มันจึงมีการตัดกันหลายครั้งให้คุณต้องซื้อๆขายๆบ่อยในช่วงที่ราคา sideway ในกรอบ ซึ่งคุณก็ต้องยอมเล่นสั้นไปก่อน คือยอมขายตอนที่ราคาติดแนวต้านหรือหลุด EMA10 ลงไป หรือช้าสุดก็คือราคาหลุด EMA50 ซึ่งยิ่งขายช้า กำไรของคุณก็ยิ่งลดลงไปเรื่อยๆครับ ดังนั้นถ้าจะให้ได้กำไรแบบยาวๆ ก็ต้องลุ้นให้ราคา breakout กรอบการสะสมขึ้นไปได้ หรือไม่ก็รอซื้อตอนที่ราคาทะลุไฮเดิมขึ้นไปได้แล้ว
สำหรับเคสของ MALEE ที่ราคาอยู่ในแนวโน้มขาลง หากราคามีการสวิงขึ้นลงแรงเป็นลูกคลื่นใหญ่ ก็จะเกิดการตัดกันของเส้นค่าเฉลี่ยทั้งสองได้เช่นกันครับ หากเราเอามาใช้เป็นจุดซื้อขายก็เสียเงินทั้งสองครั้งเลย เพราะแท่งราคามันวิ่งนำเส้นค่าเฉลี่ยไปไกลมาก กว่าที่จะเกิดสัญญาณเราก็เสียหายไปเยอะแล้ว
เราซื้อ/ขายที่ราคาซึ่งเกิดหลังการ cross
อีกประเด็นที่สำคัญมากก็คือ เราไม่ได้ซื้อที่เส้นตัดกัน แต่เราซื้อที่แท่งราคา นึกออกมั้ย ดูโซนซื้อขาย 1 ของหุ้น MALEE รูปบนนะครับ ตอนที่เส้นค่าเฉลี่ยตัด golden cross นั้น คุณจะได้ซื้อที่ราคาประมาณ 53-55 บาท แต่พอ dead cross คุณได้ขายที่ 50 บาท หรือต่ำกว่านั้น ขาดทุนสิครับ ต่อมาอีกจุดซื้อขาย 2 ทุนซื้อที่ประมาณ 42-43 บาท ขายตอน dead cross ที่ 40 บาทหรือต่ำกว่านั้น ก็ขาดทุนได้อีกครับ นี่แหละคือด้านมืดของ golden และ dead cross ที่ท่านต้องระวังไว้ให้มากๆครับ
ดังนั้น บทความนี้ผมเขียนเพื่อบอกท่านว่าอย่าพึ่งพาการตัดกันของเส้นค่าเฉลี่ยเพื่อใช้เป็นสัญญาณซื้อขายเลย ดูว่ามันเป็นตัวยืนยันการเปลี่ยนแนวโน้มที่ล่าช้าอีกตัวก็พอ อยากให้เน้นไปใช้มันเพื่อดูการเคลื่อนไหวของราคาดีกว่า โดยเฉพาะการเป็นแนวรับ หรือเป็นกรอบการวิ่งของราคา และระบุแนวโน้มเท่านั้นพอครับ
-------------------------------------------
----------------------
----------------------
สนับสนุนโดย
หนังสือหุ้นเทคนิคอลที่ปล่อยของแบบไม่มีกั๊ก
หุ้นขาขึ้นรอบใหญ่(2017) และ หุ้นซิ่ง สวิงเทรด(2018)
หุ้นขาขึ้นรอบใหญ่ แนวทางการใช้เส้นค่าเฉลี่ยเทรด ด้วย กราฟวีค
หุ้นซิ่ง สวิงเทรด(2018) แนวทางการใช้เส้นค่าเฉลี่ยเทรด ด้วย กราฟรายวัน