ราคาหรือดัชนีหลักทรัพย์ที่เราเห็นได้สะท้อนถึงข้อมูลข่าวสารทั้งหมดที่นักลงทุนแต่ละคนมีที่ไม่เท่ากันแต่สุดท้ายก็มีอยู่ราคาหนึ่งที่ทั้งคนซื้อและคนขายเห็นว่าราคานี้เหมาะสมที่สุด
นักเทคนิคอลจะซื้อบนต้นทุนที่แพงกว่าแต่มันก็จะแพงกว่าไม่มากอยู่ดีในขณะที่ความเสี่ยงที่จะมาผิดทางก็น้อยกว่ากลุ่มปัจจัยพื้นฐานเพราะเข้าตอนที่ตลาดให้ความเห็นแล้วว่าหุ้นตัวนี้ดี เมื่อนักเทคนิคเชื่อว่าราคาได้สะท้อนทั้งข้อเท็จจริง,ข่าวลือ,ควาดคาดหวังของนักลงทุนส่วนใหญ่อยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญของข่าวที่เขียนตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือโบรกเกอร์เลย
สำหรับพี่ Jessie Stine, แม้ว่าเขาจะใช้ทั้งการวิเคราะห์ทางเทคนิคและพื้นฐาน, แต่เขาก็เน้นย้ำให้ตัวเองต้องดูกราฟก่อนที่จะพิจารณาตัวเลขทางการเงิน เขาบอกว่า:
"ในขณะที่นักลงทุนอีก 99% ใช้เวลาเวลาอันมีค่ารวบรวมบทความ,รายงาน และข่าวประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับหุ้นที่น่าสนใจทุกตัว,
แต่คุณสามารถรู้จิตวิทยาของมันได้ทั้งหมด-จากการดูกราฟเพียงสองวินาที
... เพราะกราฟมันฉายภาพรวมของเดือนหรือแม้ทั้งปีที่ผ่านมา
ก่อนที่ "สตอรี่" ทางพื้นฐานจะปรากฎให้เห็น
คุณควรจะตั้งหน้าตั้งตาค้นหารูปแบบกราฟที่มีประสิทธิภาพอย่างไม่รู้จักเหนื่อยเท่าที่ตลาดที่มีให้คุณได้
หลังจากที่คุณได้หุ้นที่มีกราฟขาขึ้นแล้ว
ก็ควรจะคัดเอาเฉพาะตัวที่ปัจจัยพื้นฐานที่เป็นขาขึ้นเท่านั้น"
ผมว่าอย่างแรกคือ ให้ท่านยอมรับในสิ่งที่ตลาดบอกเรา เชื่อว่าตลาดถูกเสมอ ราคาสะท้อนทุกอย่างไปหมดแล้ว ไม่ว่าข่าวจะออกมายังไงก็ตาม เช่น
- ถ้าหุ้นตัวหนึ่งมีข่าวดีออกมา แต่ราคาไม่วิ่งแรงเลย ก็แสดงว่าตลาดไม่เชื่อ-ไม่ให้น้ำหนักกับข้อมูลนั้น เราก็ไม่ควรให้ความสำคัญกับมันมาก
- ถ้าหุ้นตัวหนึ่งมีข่าวร้ายออกมา แต่ราคาไม่ลงแรงเลย ก็แสดงว่าตลาดไม่เชื่อ-ไม่ให้น้ำหนักกับข้อมูลนั้น เราก็ไม่ควรให้ความสำคัญกับมันมาก
- ถ้าจู่ๆหุ้นตัวหนึ่งราคาวิ่งแรงมากจนลิ่ง เราก็รับรู้ว่ามันน่าจะมีข่าวดีอะไรซ่อนอยู่
- ในทางตรงกันข้าม, ถ้าจู่ๆหุ้นตัวหนึ่งราคาลงแรงมากจนฟลอร์ เราก็รับรู้ว่ามันน่าจะมีข่าวร้ายอะไรซ่อนอยู่
VIDEO
อ่านถึงตรงนี้, บางคนอาจมีคำถาม อ้าว...ไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไรเลย
ครับ...ผมอยากสื่อว่า ก็ให้ท่าน แค่รับรู้มัน ว่าสิ่งนั้นมันเกิดขึ้นแล้ว เท่านั้นเอง
รับรู้ว่าเกิด แล้วไม่ต้องไป bias กับข่าวนั้นให้เกินจริง
ยกตัวอย่างกับตัวผมเองแหละง่ายๆ ในตอนที่เข้าตลาดมาใหม่ๆ เห็นข่าวดีเกี่ยวกับหุ้นตัวใดก็ต้องรีบซื้อเพราะมองว่ามันจะต้องวิ่ง ผลคือ...มันนิ่ง ซ้ำร้ายเสือกร่วงให้ขาดทุน หรือบ่อยครั้งที่เห็นหุ้นตัวนึ่งวิ่งแรงมากก็เข้าไปซื้อตาม ผลก็คือ มันร่วงสวนทันที
แต่อย่างไรก็ตาม, ในกรณีแบบกฎข้อนี้นี้ ผมก็ไม่อยากให้ท่านต้องจริงจังกับการตีความสัญญาณมากนัก คือผมมองว่า การดูอะไรย้อนหลังนั้นน่ะ มันก็พูดถูกไปหมดทุกสิ่งอย่างแหละ เพราะอะไรๆก็เฉลยให้เห็นไปแล้ว
VIDEO
ผมมองว่า ถ้าเราเล่นหุ้นแบบระแวงน่ะ มันไม่มีความสุขหรอก
เพราะอย่าลืมว่า ตลาดน่ะ เขาเก่งมากในเรื่องของสัญญาณหลอก
หน้าที่เราจะทำได้ดีสุดคือ ระวังตัวกับมัน
ระวังอย่างไร?
คือ พยายามทำสิ่งแวดล้อมของคุณให้ “สามารถควบคุมได้”
เหมือนการขับรถน่ะครับ คุณต้องรู้ว่าระดับความเร็วไหนที่คุณควบคุมมันได้ โดยเฉพาะการหยุดในเคสกระทันหัน
ในทางการเทรด “สิ่งแวดล้อมที่คุณสามารถควบคุมได้” คืออะไรบ้าง?
๑) จำนวนหุ้นที่คุณดูแลได้ทั่วถึง คือไม่มากเกินไป และก็ไม่ all-in กับตัวใดตัวหนึ่ง
๒) มี Stop loss ที่คุณต้องให้ความเคารพอย่างสูงสุด
๓) มีกระสุนสำรองไว้แก้ไข หรือเลี้ยงตัวเองในยามที่ตลาด panic คุณหนีไม่ทัน
The Market Discounts Everything : ที่ใดมีควัน ที่นั่นย่อมมีไฟ
“ในขณะที่นักลงทุนอีก 99% ใช้เวลาเวลาอันมีค่ารวบรวมบทความ,รายงาน
และข่าวประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับหุ้นที่น่าสนใจทุกตัว,
แต่คุณสามารถรู้จิตวิทยาของมันได้ทั้งหมด-จากการดูกราฟเพียงสองวินาที
... เพราะกราฟมันฉายภาพรวมของเดือนหรือแม้ทั้งปีที่ผ่านมา
ก่อนที่ “สตอรี่” ทางพื้นฐานจะปรากฎให้เห็น”
Jessie Stine
สิ่งที่พี่ Stine เอ่ยไว้นี่แหละครับคือการอธิบายความหมายของคำว่า
The Market Discounts Everything หรือ “ราคาสะท้อนทุกอย่างในตลาดไปหมดแล้ว”
คือผมเห็นด้วยกับสิ่งที่พี่เค้าพูดอย่างสุดใจนะ เพราะผมเชื่อว่าคนในตลาดนั้นมีข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นตัวหนึ่งๆ
นั้นแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ตั้งแต่รู้ลึกมากคือ insider จนถึง ไม่รู้อะไรเลย คือ แมงเม่า
ด้วยความที่ตลาดหุ้นคือเกมส์ที่ถูกสร้างเพื่อกินเงินของคนอื่น คือหากใครคนหนึ่งกำไร
-ก็ต้องมีอีกคนขาดทุน ดังนั้น-คนที่มีสายป่านยาว ทั้งกำลังเงิน+ข้อมูลเชิงลึก+เข้าใจจิตวิทยาตลาด
ก็มักจะเป็นผู้ชนะและได้เงินเสมอ
ราคาหรือดัชนีหลักทรัพย์ที่เราเห็นมันปิดในแต่ละวัน มันได้สะท้อนถึงข้อมูลข่าวสารทั้งหมด
ที่มาจากนักลงทุนแต่ละคน-ซึ่งมีไม่เท่ากัน แต่สุดท้ายก็มีอยู่ราคาหนึ่งที่ทั้งคนซื้อและคนขายเห็นว่า
ราคานี้เหมาะสมที่สุด อารมณ์เดียวกับตลาดประมูล
VIDEO
ครับ...ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่เชื่อว่า “ตลาดไม่สมบูรณ์แบบ” มันมีความไม่ยุติธรรมอยู่ในนั้น
โดยเฉพาะเรื่องของข่าวสาร
ขนาดเสี่ยยักษ์ ก็ยังเคยกล่าวไว้ในหนังสือ “กูรูหุ้นพันล้าน” ว่า
“เทคนิเคิลไม่เคยหลอก ปฏิวัติเนี่ยะนะ เทคนิคเคิลก็ยังรู้เลย แต่ก็รู้แค่เล็กๆ เพราะว่าอะไรนะรึ
เพราะว่าผมจะปฏิวัติ ผมก็ต้องไปบอกญาติ บอกเพื่อนบอกแฟน เพราะก่อนหน้านี้ก็มีคนโทรมาบอกว่า
มันจะไม่ดีนะ แต่บอกก่อนล่วงหน้าตั้งสิบวัน เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้เทคนิคอล
เทคนิคอลช่วยกำหนดการซื้อให้เราได้“
ซึ่งประโยคนี้ก็ช่วยตอกย้ำเข้าไปอีกว่า “ราคาสะท้อนทุกอย่างในตลาดไปหมดแล้ว”
โดยการเคลื่อนไหวของราคาในแต่ละวัน มันได้ส่งสัญญาณต่างๆให้เราเห็นไปหมดเปลือกไปแล้ว
แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเห็น หรือบางคนก็เห็นแต่ก็ไม่ใส่ใจ ก็มีเยอะ
มันจึงมีคำว่า “รู้งี้” ขึ้นมาไงครับ
คือเกือบทุกครั้งที่เราอดหลุดคำว่า “รู้งี้” ขึ้นมาไม่ได้ เมื่อเห็น “ผลสรุป” ที่ “ร้ายแรง”
หรือ “ดีเลิศ” เกิดกับหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง โดยเฉพาะจากการดูกราฟย้อนหลังไปไม่กี่คาบเวลา
ใช่ครับ...เรามักพบว่าตลาดส่งสัญญาณพิเศษให้เราเห็นไปหลายครั้งแล้ว เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ให้
ความสำคัญกับมัน
การที่ “ราคาสะท้อนทุกอย่างในตลาดไปหมดแล้ว” มันจะเป็นไกด์ให้เราเชื่อว่าราคาได้สะท้อน
ทั้งข้อเท็จจริง,ข่าวลือ,ควาดคาดหวังของนักลงทุนส่วนใหญ่อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญ
ของข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์เลย
เราจะเอาแนวคิดนี้ไปใช้ได้ยังไง?
ต้องแยกประเด็นให้ออกเป็น ๒ ส่วนที่เกี่ยวพันกัน คือ “ข่าว” กับ “ราคา”
คือถ้ามี “ข่าว” ออกมา ก็ให้เช็ค “ราคา” ว่าตลาดตอบรับกับข่าวนั้นยังไง
ถ้าตลาดตอบสนอง คุณก็วางแผนหาประโยชน์จากมัน ถ้าเห็นว่าเป็นโอกาส
ในทางตรงกันข้าม คุณก็กำหนดจุดหนีและยึดมั่นกับมัน ถ้าหากมันมีโอกาสทำให้คุณเสียหาย
ให้เชื่อ “ราคา” มากกว่า “ข่าว” นั่นเอง
อย่าลืมนะ เราเป็นนักเก็งกำไรที่ทำเงินจากการเปลี่ยนแปลงของ “ราคา” มิใช่ “ข่าว”
ที่ใดมี “ควัน” ที่นั่น ย่อมมี “ไฟ”
ควัน คือ “การเคลื่อนไหวของราคา”
ไฟ ก็คือ “ข่าว”
บ่อยครั้งที่ “ควัน” ถูกปล่อยออกมานานแล้ว แต่เราเพิ่งเจอ “ไฟ”
ใครเห็น “ควัน” หรือ “การเคลื่อนไหวของราคาที่เป็นนัยยะ” ก่อน - คนนั้นได้สิทธิ์จองของถูกก่อนใคร
จำบทที่ผมเขียนในหนังสือ “หุ้นขาขึ้นรอบใหญ่ ” ที่ว่าด้วย Smart Money ได้มั้ยครับ
คนที่ปล่อยสัญญาณควันออกมา คือคนกลุ่มนี้เอง
Smart Money คือคนที่มีข้อมูลเชิงลึก มีเงินจำนวนมาก มากกว่าใครในตลาด
ดังนั้นการเคลื่อนไหวของพวกเขา ย่อมปล่อย “ควัน” ออกมาให้เห็นเสมอ
หน้าที่เราคือ ตาม “ควัน” ให้เจอ แล้วเกาะติดไป เดี๋ยวก็เจอ “ไฟ”
เดี๋ยววิธีหา “ควัน” ตามหลักทฤษฎีดาว เป็นยังไง
ผมจะสาธยายให้อ่านในบทต่อๆไปครับ
VIDEO
ความโลภ และ ความกลัว ตามหลักการของทฤษฎีดาวนั้น
ผมคิดว่าเขาตั้งใจจะสื่อให้เห็นเป็นภาพของวัฎจักรราคา
เอาง่ายๆคือ เมื่อมีความโลภ คนเราจะซื้อๆ และซื้อ ทำให้ราคาวิ่งขึ้น
ในทางตรงกันข้าม, เมื่อเกิดความกลัว - พวกเขาจะขาย ขาย และขาย ทำให้ราคาวิ่งลง
นี่คือภาพใหญ่
มาดูภาพตามกราฟบ้าง
ภาพนี้ผมเอามาจากอินเตอร์เน็ทนะ แล้วลากเส้นนอนพาดระหว่างกลางของทรงระฆังคว่ำ แบ่งให้เห็นส่วนของ Fear (หรือ กลัว) กับ Greed (หรือ โลภ) ให้เห็นชัดขึ้น
ที่ทำแบบนี้เพราะอยากให้ท่านเห็นอารมณ์ของนักลงทุนที่อยู่ในแต่ละโซน
ดูบริเวณข้างล่างที่เป็นเส้นทึบสีแดงก่อน จะมีคำว่า
Disdain แปลว่า ดูถูก ดูหมิ่น หรือ สบประมาท คือราคาหุ้นมันไม่ยอมไปไหนไง คนถือก็หมดใจ ราคาก็ลงมาหนักแล้ว ไม่ยอมเด้งเสียที ซึมออกข้างให้อึดอัดซะอย่างนั้น ผลคือ คนที่ยังถืออยู่ เกิดความรังเกียจหุ้นตัวนี้ หรือแม้แต่นักเก็งกำไรก็มองว่าไม่มีแนวโน้ม ไม่น่าเล่น จึงเป็นที่มาของการดูถูก
Caution คำแปลเขาบอกว่า คำเตือน หรือผมขอตีความว่า "เอ๊ะ" คือหุ้นที่เราบอกว่ามันเน่าๆห่วยๆ อยู่ๆเกิดมีการยกไฮยกโลว์ขึ้น ทำกำไรให้อย่างคาดไม่ถึง
ใต้คำนั้น จะมี Skepticism ตัวเล็กแปะอยู่ แปลว่าความฉงนสนเท่ห์ อธิบายแบบชาวบ้านๆคือ ราคาขึ้นแบบ งงๆน่ะ คนทั่วไป ตาสีตาสา นักเก็งกำไรรายย่อยไม่รู้สาเหตุ เช่น มีหุ้นบางตัววิ่งทำ 52 week high ได้แบบหลุดรอดสายตานักวิเคราะห์ ผู้ซึ่งควรจะมีข้อมูลหุ้นอยู่ทั้งตลาด แต่พวกเขาไม่สามารถบอกต่อสาธารณะได้เลยว่าเหตุผลกลใดมันจึงวิ่งมาได้ไกลขนาดนั้น
อะไรที่เป็นสาเหตุให้เกิด Disdain กับ Caution ?
เจ้าของทฤษฎีก็บอกว่า Accumulation ไงล่ะ
คุ้นๆมั้ยคำนี้ Accumulation คือการสะสม ซึ่งโดยนัยยะของมัน ก็คือการเขย่าเพื่อเอาของถูกจากมือคนที่หมดใจ
ใครทำล่ะ? ก็ต้องเป็น Smart Money พวกรายใหญ่ คนทำราคา ที่มีความเก๋าเกมส์ รู้ว่าอนาคตมันจะมีข่าวดีอะไรเกิดขึ้น และคนทั้งตลาดต้องฮือฮามาไล่ซื้อหุ้นต่อจากเขาแน่นอน
ดังนั้นเพื่อให้ได้ของถูกเข้ามาอยู่ในมือพวกเขาเยอะๆ ก็ต้องทำให้คนที่ถือหุ้นเกิดอาการ Disdain หรือหมดใจ ไม่อยากถือหุ้นตัวนี้อีก ขายดีกว่า หุ้นเน่าๆ ราคาไม่ไปไหน ถือมาหลายเดือนแล้ว-ยังซึมกระทือ ตัวอื่นเค้าวิ่งเอ๊าวิ่งเอา เรามาทำอะไรอยู่เนี่ย เสียเวลาชีวิต เอาเงินไปเล่นตัวอื่นดีกว่า
ซึ่งคนที่อธิบายสิ่งแวดล้อมของการสะสมได้ดี ก็ต้องเป็น Wyckoff ของผมนั่นเองครับ
หน้าตาของมันก็จะเป็นดังรูปบน คือ หลังจากที่ราคาลงหนักจนเกิด SC หรือ Selling Climax ก็มีการรีบาวนด์หรือเด้งขึ้น ซึ่งหลังจากการเด้ง ราคาก็ลงต่อ แต่ก็ลงไม่หนัก บางทีหยุดลงที่จุดต่ำสุดเดิมหรือ SC แต่ก็อาจจะลงไปหลุดต่ำกว่าก็ได้ แต่ไม่มาก จากนั้นราคาก็เด้งกลับขึ้นไปอยู่หนือระดับ SC ได้ กระนั้นมันก็ไม่ดีดแรงไปทำนิวไฮได้อย่างมั่นคง เจอตบกลับให้ลงไปอยู่ในกรอบอีก เจออีแบบนี้ นักเก็งกำไรที่ชอบ follow buy ก็ disdain แล้วครับ ยิ่งพวกติดดอยเนี่ย พอเด้งก็ลุ้นให้ราคากลับไปถึงทุน จะได้ขายเท่าทุนแล้วปิดตูดหนีไปซะ-จะได้หมดเวรหมดกรรมไปเสียที ก็ทำไม่ได้ เพราะเจอมือที่มองไม่เห็นจอดรถบัสขวางไม่ให้ผ่าน พอเห็นแบบนี้เชื่อว่ามีหลายคนที่อาการหมดใจปรี๊ดก็ถึงขีดสุด ตัดจบด้วยการขายหุ้นออกพร้อมกับสาปส่งเจ้ามือ ด่าผู้บริหาร หรือใครก็ได้ที่ทำให้ตัวเองต้องติดหุ้นตัวนี้
เมื่อใครๆก็ทยอยขาย คนทำราคาก็ไม่ต้องไล่ราคาอีก นั่งกระดิกตรีนตั้งรับซื้อหุ้นราคาถูกๆที่มีคนรอคิวขายให้ทุกวัน ทุกวัน จนกระทั่ง ไม่มีใครอยากขาย
เมื่อไม่มีคนอยากขายให้แล้ว เจ้ามืออยากได้หุ้นต้องทำไง?
ก็เพิ่มราคาเพื่อยั่วน้ำลายคนใจแข็งไง รวมถึงคนที่แอบซื้อได้ที่ราคาต่ำ ก็ช่วยดูดหุ้นมาปล่อยให้ด้วย เจ้าก็ได้หุ้นเพิ่มในทุนที่สูงขึ้นเล็กน้อย และพอระดับราคานั้นคนไม่ยอมขาย ก็ให้ราคาเพิ่มอีกช่อง อีกช่อง ขึ้นไปอย่างใจเย็น ซึ่งการวิ่งขึ้นแบบเรื่อยๆแบบนี้เองที่ผมคิดว่ามันคือ Caution ที่ระดับการขึ้นของราคาได้ส่งสัญญาณให้นักเก็งกำไรสนใจ ผ่านการสแกนด้วยอินดิเคเตอร์ต่างๆ เช่น ราคา breakout กรอบสะสมในรอบหลายเดือน-ปี ขึ้นไปได้ หรือ MACD หรือ RSI ส่งสัญญาณซื้ออะไรเทือกนี้
พูดง่ายๆคือช่วงนี้ นักเก็งกำไรเห็นแล้วล่ะว่าตัวนี้สัญญาณดี แต่ก็ไม่รู้ว่ามันมีอะไรที่เป็นเบื้องหลัง
ซึ่งบางคนที่มีความยืดหยุ่นในการเลือกหุ้นก็จะอาศัยช่วงนี้เข้าซื้อเก็บเพราะเชื่อว่า "มันน่าจะมีอะไรในอนาคต" ก็เป็นได้ ขอเกาะไปก่อน ทรงสวยใช้ได้ อะไรประมาณนี้
สรุปคือช่วงนี้ พื้นฐานของหุ้น สร้างการรับรู้ที่ไม่ชัดเจน หรือบางทีข่าวร้ายก็ยังมีน้ำหนักกว่าข่าวดี
แต่ราคาหุ้นกลับไม่ทำจุดต่ำสุดใหม่ หนำซ้ำยังยกไฮยกโลว์ขึ้นไปแบบเงียบๆให้เห็นได้ด้วยตาเปล่า
The Market Has Three Trends
กฎข้อสองของทฤษฎีดาวบอกว่า
ตลาดแบ่งประเภทแนวโน้มออกเป็นสามประเภทคือ Primary, Secondary, และ Minor.
สำหรับข้อนี้, ในมุมมองผมสามารถอธิบายได้แบบง่ายๆ ด้วยวิธีป่าล้อมเมืองก่อนนะ
ดูภาพหล่านี้นะครับ
คือในเบื้องต้น ผมอยากให้ท่านลืม Primary, Secondary, และ Minor ไปก่อนนะ
ให้มองในมุมผมแบบนี้คือ ในภาพใหญ่มีภาพเล็กซ่อนอยู่ อย่างกราฟข้างบนนี่ ผมให้ดู time frame ตั้งแต่กราฟรายปี ถัดมาก็คือ รายไตรมาส แล้วก็ รายเดือน - รายสัปดาห์ สุดท้ายคือ รายวัน
ท่านสังเกตุเห็นอะไรจากกราฟ 5 รูปนี้?
ก็ไม่มีใครตอบอยู่แล้ว, ผมขอพูดเองเออเองแบบนี้นะ
๑) เห็นแนวโน้มใหญ่ของมัน คือถ้าคุณดูกราฟ time frame ปี ลงมาจนถึงสัปดาห์ น่ะ หุ้นตัวนี้ยังอยู่ในระยะสะสมเท่านั้นเอง แต่ถ้าคุณดูภาพล่างสุด จะเห็นความเคลื่อนไหวที่เดาแนวโน้มไม่ออกเลยว่ามันจะเอายังไง รู้คร่าวๆว่า sideway ในวงกว้างมาก
จำประโยคทองในหนังเรื่อง Now you see me ได้มั้ยครับ
The closer you look, the less you see.
"Look closely! Because the closer you think you are, the less you actually see."
ยิ่งคุณมองไกล้ชิดเท่าไหร่ คุณยิ่งมองไม่เห็นอะไรเลย
คือยิ่งจ้องเท่าไหร่ ยิ่งโดนหลอกเท่านั้น
เข้าใจมั้ยครับ? การเล่นกลน่ะ หลักการง่ายๆคือ การเปลี่ยนจุดสนใจจากผู้ชม ให้โฟกัสในจุดที่ไม่ใช่สาระ เพื่อให้คุณประหลาดใจในผลที่นักเล่นกลต้องการในอีกไม่วินาทีข้างหน้า
VIDEO
เล่นหุ้นก็เหมือนกัน (ในความเห็นส่วนตัวของผม) คือ ถ้าอยากกินคำใหญ่ๆ ต้องดูภาพใหญ่ให้ออกก่อน จากนั้นจึงค่อยมาเจาะเพื่อหาจังหวะในภาพเล็ก
ดังนั้น,การที่คุณเล็งแต่ภาพเล็ก จะทำให้คุณต้องเข้าๆออกกับหุ้นตัวเดียวหลายครั้งมาก ซึ่งอย่างที่รู้กัน ยิ่งทำบ่อย error ก็ยิ่งเกิด แล้วจะกำไรคำใหญ่ได้ยังไงกัน คนได้เงินคือโบรกเกอร์ของคุณครับ บอกเลย
แล้ว The Market Has Three Trends มันคืออะไรกันแน่?
ในมุมมองผมนะ Primary, Secondary, และ Minor นี่ก็เป็นการบีบมุมมองให้คุณใส่ใจ time frame สามระดับ คือภาพใหญ่ = Primary, ภาพกลาง = Secondary และภาพย่อย = Minor
ย้อนกลับไปที่หลักคิดแก่นของ Dow theory คือมองภาพตลาดเป็นวัฎจักร
ดังนั้นลองเดาดูว่าเขาอยากให้เรารู้อะไรครับ
นั่นคือจุดหมายให้เรารู้จักเทรนด์ ซึ่งการจะเห็นเทรนด์ก็ต้องดูภาพใหญ่ = Primary ว่ามันอยู่ในแนวโน้มไหนกันแน่ การรู้จักแนวโน้ม ทำให้เราพอมีเบาะแสคร่าวๆว่า ราคามีแนวโน้มจะวิ่งไปทางไหน
ส่วนภาพกลาง = Secondary นั้น เป็นการช่วยให้คุณใส่ในในโซนที่คุณใครรู้ว่ามันอยู่ตรงไหนมันเป็นยังไง เช่น ดูภาพใหญ่รู้แล้วว่ามัน sideway สะสม ต่อมาเราก็อยากรู้ว่าช่วงนั้นในรอบปีมันทำทรงอะไรแนวโน้มยังไง เพื่อระบุความน่าจะเป็นของมัน ซึ่งนอกจากคุณจะเห็นแนวโน้มแล้ว ก็อาจจะเห็นรูปแบบราคาซ่อนอยู่ในนั้นด้วย อันจะทำให้คุณเห็นโอกาสที่รออยู่
และในภาพย่อย = Minor ตรงนี้แหละที่คุณควรใช้เพื่อตัดสินใจลงมือ เพราะใน time frame นี้, คุณควรจะเห็น pattern ที่คุณชอบแล้ว และสามารถวางแผนได้ว่า จะเอายังไงกับมัน ซื้อตรงไหน stop loss ตรงไหน ซึ่งบางทีคุณอาจจะต้องเลื่อนไปดูภาพระยะกลางเพื่อหาแนวรับ หรือแนวต้านด้วยก็ได้
มาดูตัวอย่างอีกชุด
กับหุ้น M ตัวนี้, กราฟ day หรือสำหรับผมก็คือ Minor ของสามเทรนด์ตามหลักของดาว
คุณเห็นว่ามันไม่ค่อยน่าสนใจใช่มั้ยครับ ราคาวิ่งแบบไร้ทิศทาง สะเปะสะปะ
ถอยออกมาดูกราฟวีคของมันบ้าง ก็คือภาพกลาง = Secondary ในทางทฤษฎีนะ
คุณเห็นอะไรมั้ย เห็นโอกาสที่น่าจะเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า?
ผมเห็นมันทำรูปแบบ Cup with handle ขนาดใหญ่แฮะ
แล้วจากนั้นคุณก็มีแผนแล้ว เอ๊ะ รูปแบบราคานี้เราควรจะซื้อตรงไหนดี
ส่วนกราฟเดือน หรือ Primary เราจะได้เบาะแสอะไรจากมันบ้าง ดูรูป
จากภาพนี้, นอกจากจะเห็นชัดว่ามันน่าจะทำ cup with handle แล้ว คุณก็มีจุดดักซื้อ หรือจุดเฝ้าระวังอยู่สองระดับราคา คือ 63.75 เป็นระดับราคาที่ถ้าข้ามได้ มันจะยืนยันว่ารูปแบบ cup with handle นั้นสมบูรณ์แบบ ถ้าชอบก็สามารถตามได้
แต่กระนั้น, ในกราฟเดียวกันนี้ ก็ได้บอกคุณอีกว่า เฮ้ย 67.25 มันเป็นต้านใหญ่นะ อาจจะข้ามไม่ได้ในครั้งแรก และถ้ายืนไม่อยู่คุณจะทำยังไง? ขายก่อน หรือรอดูตอนย่อ ถ้าย่อแล้ว จุดที่คุณสามารถทนการขาดทุน(limit loss) ได้นั้นมันกี่บาท
และในอีกด้าน คุณก็ต้องมองด้วยว่า
เอ..หรือมันจะขึ้นได้แค่นี้แล้วกลับตัวไปเป็นขาลง?
ก็ต้องวางแผนเผื่อหนีเอาไว้ เช่นถ้าหลุดระดับราคาสีส้ม ต้องขายออกนะ เพราะทรงไม่สวยแล้ว เป็นต้น
นี่แหละครับที่เป็นประโยชน์ของการเอาแนวคิด The Market Has Three Trends มาช่วยในการเทรด ง่ายๆคือใช้ทั้งหาโอกาส และความเสี่ยง ครับ
ลองเอาไปปรับใช้ดูครับ
The Three Phases Of Primary Trends
ข้อ 3 ของทฤษฎีดาว บอกว่า ในแนวโน้มใหญ่ มีช่วงย่อยแฝงอยู่ 3 ช่วง
ข้อนี้อธิบายได้ง่ายๆว่า ราคาหุ้นไม่ได้วิ่งพรวดเดียว
มีระยะ(ขอพูดแบบรวมๆว่า) ไม่น่าสนใจ - ประหลาดใจ - และมั่นใจ
แล้ว Primary Trends คืออะไร?
ถ้าเอาแนวคิดจากบทที่แล้ว มันก็คือการเคลื่อนไหวใหญ่ในระยะปี (หรืออาจจะหลายปี)
คือในรอบปีนั้น ราคามันวิ่งได้อย่างน้อย 3 phase
ยังไง? ดูรูป
นี่ครับ คือภาพจำทางทฤษฎี ที่สนับสนุนแนวคิดนี้
จากภาพนะ ผมขอแบ่งให้เป็น 2 ซีกใหญ่ๆ คือ
Bull Market Phase หรือ ระยะที่ตลาดเป็นขาขึ้น
Bear Market Phase หรือ ระยะที่ตลาดเป็นขาลง
เริ่มที่ Bull Market Phase หรือ ระยะที่ตลาดเป็นขาขึ้น ก่อน
ในการขึ้นของราคาหุ้นนั้น - ตามทฤษฎีนี้ เขาบอกว่ามี 3 ระยะ คือ
๑) สะสม หรือ The Accumulation Phase
๒) คนทั่วไปมีการรับรู้ หรือ Public Participation Phase
๓) เก็งกำไร หรือ The Excess Phase
๑) สะสม หรือ The Accumulation Phase
ถือเป็นหลักกิโลแรกของความเป็นขาขึ้นครับ เป็นตอนที่นักลงทุนเพิ่งเข้ามาซื้อหุ้นเพื่อสะสม มันเป็นช่วงปลายของขาลง ที่ซึ่งข่าวร้ายออกมาให้สาธารณชนได้รับรู้แล้ว แน่นอนเม่าชุดใหญ่กลุ่มสุดท้ายได้ทำการขายแบบตื่นตระหนกตามข่าว ในช่วงนี้ข่าวร้ายยังตลบอบอวลอยู่นะ ใครๆก็รู้แล้วว่าหุ้นตัวนี้มีปัญหา จึงมีคนอยู่สองประเภทที่ action กับหุ้นตัวนี้คือ คนที่เชื่อข่าวก็จะขายเพราะรับรู้ว่าหุ้นตัวนี้ไม่ดี(จะใครล่ะ ก็เม่าน่ะสิ) แต่ก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มองว่าหุ้นตัวนี้ลงมาต่ำกว่ามูลค่ามากแล้ว(ก็เป็นกลุ่ม Smart money เค้าล่ะครับ) คือคนกลุ่มหลังเค้ามองว่าราคาลงมาหนักมากแล้ว ความเสี่ยงต่ำ-ถ้าวิ่งขึ้นมีโอกาสป็นเสี่ยสูง ก็เลยเข้ามาซื้อหุ้นเพื่อสะสม ก็อย่างที่เรารู้กันนะ Smart money น่ะ เงินเยอะ ข้อมูลลึก ดังนั้นถ้ามั่นใจจริง การขนเงินของพวกเขามาเข้าหุ้นสักตัวนั้นน่ะ ราคาหุ้นหยุดลงแน่นอนครับ
ช่วงนี้แหละที่ผมคิดว่าเสี่ยยักษ์ท่านเรียกว่า ตี 5 ถึงตีห้าครึ่ง ผีไม่มี ตลาดมีของสดใหม่ราคาถูก
ส่วนลักษณะพิเศษของเฟสนี้คือ ราคาไม่ยอมทำจุดต่ำสุดใหม่ แต่ก็ไม่ทำจุดสูงสุดใหม่เช่นกัน มีการแกว่งอยู่ในกรอบแคบๆไปเรื่อยๆ ทำไมถึงเป็นเช่นนี้? - เพราะมีการเขย่าเพื่อเอาของถูกจากคนหมดใจไง Smart money ร่วมมือกับนักเก็งกำไร bottom trader พากันดูดหุ้นที่ราคาต่ำๆ พอราคาถูกดันขึ้นไปสูงๆ นักเก็งกำไร bottom trader ที่เล่นรอบสั้นก็คายหุ้นให้ Smart money ที่แนวต้าน แล้วราคาก็จะค่อยๆแกว่งแคบลง แคบลง กระทั่งในที่สุดแคบเกินกว่่าที่นักเก็งกำไรระยะสั้นจะทำเงินได้ พวกนี้จึงต้องออกไปเล่นตัวอื่น
พอ Smart money รู้ว่าไม่ค่อยมีหุ้นขายให้แล้ว ก็จำต้องไล่ราคาขึ้นเพื่อเสนอการรับซื้อที่แพงขึ้น ทำให้มีการปล่อยหุ้นออกมาให้อีก โดยนักเก็งกำไรก็จะเข้ามาร่วมวงอีกครั้ง การไล่ราคาขึ้นนี้เอง จะเกิดลักษณะที่เรียกว่ายกไฮ-ยกโลว์ ให้ตลาดรับรู้
๒) คนทั่วไปมีการรับรู้ หรือ Public Participation Phase
เมื่อราคามีการยกไฮ ยกโลว์ ขึ้นไป จนสามารถทะลุกรอบบนของการสะสมได้ มันจะดึงดูดนักลงทุนที่ใช้เทคนิคอลประเภทรันเทรนด์(Trend follower) เข้ามาร่วมวงซื้อหุ้นด้วย อีกทั้งสถาบันก็มองเห็นความเปลี่ยนแปลงทางพื้นฐานที่ดีขึ้นเช่นกำไรเริ่มพลิกฟื้น สภาพเศรษฐกิจดีขึ้น อันเป็นสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเข้าลงทุนเป็นอย่างยิ่ง อย่าลืม Smart money กลุ่ม Market maker ด้วยล่ะ พวกเค้าไม่พลาดที่จะแสดงตัวเป็นเจ้าของหุ้นนี้แน่นอน จากการร่วมแรงร่วมใจของสามกลุ่มนี้เอง ทำให้ราคาวิ่งทะลุกรอบแนวต้านใหญ่ของการสะสมได้อย่างงดงามซึ่งมาพร้อมๆกับวอลุ่มที่สูงโดดเด่น และพอราคาวิ่งขึ้นแรงก็จะมีการขายทำกำไรของคนที่ต้องการทำเงินระยะสั้น ส่งผลให้ราคาย่อ แต่ก็ลงไปม่ลึกเพราะมีนักเทคนิคอลที่ชอบ buy on dip เข้ามารับซื้อตามระดับราคาที่ตัวเองเชื่อว่าจะหยุดลง
สังเกตมั้ยครับ สถาบัน, นักเทคนิคอล, Market maker นี่แหละคือ Public Participation พวกเขาทั้งหลายจะเป็นน้ำมันขับดันให้ราคาวิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ
ช่วงนี้ในทางพื้นฐานจะไม่ค่อยเด่นชัดนักนะครับ ข่าวดีๆของหุ้นก็มีแค่แพลมๆให้ตีความเท่านั้น คนที่เข้ามาเล่นจึงเป็นกลุ่มที่มีกึ๋นอยู่พอสมควร คือมองเทคนิคอลออกว่าทรงราคาแบบนี้อนาคตน่าจะมีอะไรดี หรือไม่ก็มีวิสัยทัศน์ทางด้ารธุรกิจ-สายตากว้างไกลอ่านขาดว่าทรงแบบนี้กำไรโตแน่ จึงเข้าซื้อกัน
๓) เก็งกำไร หรือ The Excess Phase
เป็นช่วงที่ราคาวิ่งขึ้นแบบน็อนสต็อป ประเภทเขียวยาวจนลิ่ง หรือเขียวหลายแท่งขึ้นต่อเนื่อง คือถ้าใครเข้าซื้อช่วงนี้จะกำไรกันถ้วนหน้า เพราะราคาวิ่งขึ้นทันที
แล้วใครขายล่ะ? Smart money ไงครับ
ใครซื้อเหรอ? ก็เม่าไง เข้ามาซื้อตามข่าวดีที่ออกมา พอกำไรแล้วบอกต่อ พาเพื่อฝูงให้เข้ามาซื้อเพิ่มอีก
ข่าวดี? ข่าวดีอะไร? ก็เป็นข่าวที่ Smart money เขาคิดไว้แล้วไงว่าต้องออกมาช่วงนี้
และเขาก็รู้ว่าถ้าข่าวดีออกมา เม่าก็จะเฮโล เข้ามาซื้อของต่อจากเขาไง
ดังนั้น Smart money ที่ฉลาด จะไม่ขายไม้ใหญ่ๆ ทยอยปล่อยไปทีละนิด ทีละนิด ให้ ราคามันยังวิ่งขึ้นต่อไปได้เรื่อยๆ เมื่อราคาไม่โดนขวางก็มีโมเมนตัมสิ เม่าก็เลยกำไรไง กำไรก็ดีใจบอกต่อ ชวนเพื่อนฝูงเข้ามาซื้อกัน รับหุ้นจากมือรายใหญ่กันไปซะมากมาย
และอย่าลืมนะช่วงนั้น นักข่าวสายโบรคเกอร์ก็ออกข่าวกันใหญ่ วันนี้หุ้นผู้ใหญ่ลีเข้าเป้าทุกตัวเลยนะครัช เพราะผลกำไรที่น่าประหลาดใจออกมา และคาดหวังว่าอนาคตต้องดีขึ้น ฟากโบรคเกอร์ก็มีบทวิเคราะห์ออกมาชี้เป้าราคาสูงขึ้นไปอีก เม่าที่เชื่อข่าวก็เข้ามากันใหญ่ ส่งผลให้ Smart money ปล่อยของสนุกมือเลยครับ "วันนี้ที่รอคอย" น่ะ ร้องกันเป็นเสียงเดียว
และตามกฎของธรรมชาติครับ อะไรที่ร้อนแรงมากๆ ก็เป็นการส่งสัญญาณว่าถึงเวลาปรับให้เกิดสมดุล ระยะเก็งกำไรนี้ก็หนีไม่พ้น มันเป็นช่วงสุดท้ายของการเป็นขาขึ้น สัญญาณอ่อนแอได้มีการส่งผ่านวอลุ่มที่ลดลง อินดิเคเตอร์มีความขัดแย้งกับการขึ้นของราคา แท่งราคาสั้นลง ฯลฯ
Bear Market Phase หรือ ระยะที่ตลาดเป็นขาลง
และแล้ว สมดุลของธรรมชาติก็ทำงานครับ ความร้อนแรงของการวิ่งขึ้นถูกดับด้วยการแย่งขายทำกำไรในจุดสูงสุดจากคนที่ทุนต่ำ ส่งให้ราคาไม่สามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้ และส่งสัญญาณว่าจะกลับตัวเป็นขาลง
ซึ่งในโซน Bear Market Phase นี้ก็มีอยู่ ๓ ระยะเช่นกัน
๑) แจกจ่าย หรือ The Distribution Phase
๒) คนทั่วไปมีการรับรู้ หรือ Public Participation Phase
๓) ตื่นตระหนก หรือ The Panic Phase
๑) แจกจ่าย หรือ The Distribution Phase
เป็นช่วงการปล่อยของจากมือ Smart money ครับ สืบเนื่องจากข่าวดีที่ออกมาไม่ขาดสาย หนังสือหุ้นนี่แทบจะปล่อยออกมาทุกวัน รายการทีวีเกี่ยวกับหุ้นน่ะ ผู้บริหารไปออกหรือให้สัมภาษณ์ทุกสถานีแล้ว
ในช่วงนี้มีเม่ากลุ่มสุดท้ายเข้ามาซื้อ เพราะมองว่าราคาย่อลงมาน่าซื้อ ก็ว่าเขาไม่ได้นะข่าวดีออกซะไปทุกที่ก็เห็นซะขนาดนั้น นักวิเคราะห์ก็ให้ราคาเป้าหมายยั่วใจ ซื้อตอนนี้กำไรเหลือๆ จึงขายบ้านขายรถมาซื้อกันยกใหญ่
แต่ด้วยความที่พวกเม่าเหล่านี้ ดูกราฟไม่เป็นไง จึงไม่รู้ตัวเลยว่า รูปแบบการขึ้นของราคามันอั้นแล้ว คือขึ้นต่อไม่ได้ เด้งขึ้นหน่อยก็เจอขายให้ร่วงลงมา กลายเป็นไม่สามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีกเลย
เมื่อนักเทคนิคอลที่เล่นหุ้นแบบรันเทรนด์มองเห็นสภาพที่หมดแรงขึ้นแบบนี้ก็ร่วงวงขายด้วยทีละนิดเพื่อล็อกกำไร ส่งให้ราคาค่อยๆไหลลง
๒) คนทั่วไปมีการรับรู้ หรือ Public Participation Phase
และเมื่อราคาเจอขายหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ก็หลุดทรงของการเป็นขาขึ้นแบบชัดเจนครับ เมื่อเป็นเช่นนี้ อินดิเคเตอร์ต่างๆก็ชี้ชัดว่าลงแน่ เกิด sell signal ณ จุดนี้นี่เอง นักเทคนิคอลที่เฝ้ารอสัญญาณก็สาดไม้ใหญ่ๆออกไปครับ ส่วนรายใหญ่หรือ Smart money ก็ใช้ช่วงนี้ปล่อยของระลอกสุดท้ายเช่นกัน ราคาก็ลงพรวดสิ
แต่กระนั้น, อยาลืมสิว่าควันหลงของข่าวดียังมีอยู่ นักเก็งกำไรระยะสั้นก็จะอาศัยดักซื้อที่ระดับ fibonacci หรือแนวรับต่างๆเพื่อลุ้นเด้งแล้วขายกินกำไรระยะสั่นอันเนื่องมาจากข่าวดีที่ถูกปล่อยออกมาเป็นระยะ แต่ก็เริ่มน้อยลง แถมข่าวลือร้ายๆของหุ้นตัวนั้นก็เริ่มโชยออกมาอีกต่างหาก
ดังนั้น,ราคาจึงมีการลงเด้ง ลงเด้ง ในรูปแบบของการทำโลวเวอร์โลว์ หรือย่อลงไปทำจุดต่ำสุดใหม่ได้เรื่อยๆ (ตรงข้ามกับขาขึ้นที่ทำไฮเออร์ไฮ หรือจุดสูงสุดใหม่ได้เรื่อยๆ)
๓) ตื่นตระหนก หรือ The Panic Phase
และช่วงสุดท้ายของการลงก็เกิดจนได้ มีการปล่อยหุ้นออกไปจากตลาดเป็นจำนวนมาก
ใครขาย? ก็เม่าไง
ขายเพราะอะไร? ข่าวลือร้ายๆของบริษัทนั้นเป็นจริง หรือไม่ก็สภาพตลาดเน่าสุดๆ SET ลง 50 จุด หุ้นทุกตัวตกใจตามกันหมดแหละครับ ยิ่งหุ้นที่เป็นขาลงมาต่อเนื่อง ยิ่งลงหนักกว่า เรียกว่าคนติดดอยน่ะขาดทุนจนต้องร้องขอชีวิตกันเลยทีเดียว
ซึ่งถ้ามองกันให้ดีๆ ช่วงนี้ก็คล้ายกับ ช่วงเก็งกำไร หรือ The Excess Phase ของขาขึ้นนั่นเอง คือแทนที่จะขึ้นแรงแบบไม่พัก - ราคากลับลงแรงแบบต่อเนื่องแทน
และเมื่อมีการขายที่ร้อนแรง ธรรมชาติก็จะปรับสมดุลให้ด้วยการเด้งขึ้น และซับความร้อนแรงด้วยการออกข้าง อันเป็นลักษณะของการสะสมต่อไป
VIDEO
Dow Theory
จุดเริ่มต้น คือ Dow Theory มาก่อนใครเลย
ผมจะไม่เจาะเนื้อหาของทฤษฏีมันนะ เพราะจะยาวมาก เอารูปมาโชว์เลยดีกว่า
ปู่(หรือทวด)ดาวของเรา, เขาบอกว่าตลาดมีช่วงชีวิต 3 ช่วงใหญ่ๆ
Accumulation ช่วงเก็บของ : ยิ่งขาย แต่ราคายิ่งขึ้นทีละเล็กละน้อย (ระยะนี้จะถูกอธิบายอย่างละเอียดผ่านทฤษฎี Wyckoff)
เป็นจังหวะที่นักลงทุนที่เล็งเห็นการณ์ไกลเข้ามาช้อนซื้อหุ้น เพราะเห็นว่าข่าวเชิงลบได้ถูกดูดซับไปหมดแล้ว ซึ่งมีโอกาสที่ข่าวสารเชิงบวกเริ่มปรากฎออกมา (ช่วงคนส่วนน้อยกำลัง เก็บของ)
Public Participation : ราคาปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว
เป็นจังหวะที่ผู้ลงทุนที่เน้นการลงทุนตามแนวโน้มตลาดจะเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น มีแรงหนุนจากข้อมูลข่างสารเชิงบวก ส่งผลให้ราคาโดยรวมมีการปรับตัวสูงขึ้น (ช่วงนี้คนส่วนน้อย และส่วนใหญ๋เริ่มเข้ามา)
Distribution ช่วงปล่อยของ : ยังขึ้นเรื่อยๆ แต่เริ่มปล่อยของให้ไหล่ลงเรื่อยๆ เพื่อเปลี่ยนแนวโน้ม
เป็นจังหวะที่มีผู้เล่นอยู่ในตลาดมากยิ่งขึ้น ข่างสารเชิงบวกหลั่งไหลออกมามากมาย การเก็งกำไรมีมากขึ้น นักลงทุนในช่วงเก็บของจะทยอยปล่อยของออกมาเพื่อทำกำไร ก่อนจะมีแรงขายปรากฏออกมา
ประโยชน์ที่คุณจะได้จากการรู้จักช่วงชีวิตตลาดคืออะไรบ้าง?
เขาบอกที่มาของการวิ่งราคาว่ามันเริ่มมาจากการสะสม-ไล่ราคา-และจบด้วยทุบ
ตรงนี้หากเราดูกราฟภาพใหญ่เป็น ก็พอจะนึกภาพตัวเองออกว่าถ้าเข้าไปเล่นตอนนั้นๆจะเป็นยังไง
ถ้าอยู่ในช่วงสะสม คุณก็จะรู้สึกเบื่อเพราะราคาไม่ยอมไปไหน กำไรนิดหน่อย แถมมีโอกาสขาดทุนได้
ถ้าอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือไล่ราคา คุณก็มีโอกาสได้กำไรมากกว่าขาดทุน นึกภาพอะไรสักอย่างที่ขายดีไว้นะครับ คือใครๆก็ต้องการซื้อสินค้าตัวนั้นน่ะ ถ้าคุณเป็นพ่อค้าเมื่อเห็นว่าของนั้นมันขายดี คุณก็ไปรับมาขายต่อเอากำไรสิ เพราะมันมีส่วนต่างแน่ๆ ขายหมดแน่ๆ กำไรเน้นๆ
แต่หากเป็นขาลงหรือปล่อยของ(เน่าๆ) โอกาสขาดทุนก็จะมากกว่าได้กำไร มีแต่เสียกับเสีย นึกภาพออกนะครับ ช่วงนี้ใครๆก็อยากขายหุ้นทิ้ง แสดงว่าหุ้นตัวนั้นมันแน่าแน่ๆ มีโอกาสราคาถูกได้อีก คุณจะซื้อทำไมของที่ใครๆก็ไม่อยากได้ แถมยิ่งมายิ่งราคาถูก จะขายออกก็ขาดทุน
ดังนั้นต่อเมื่อคุณได้หุ้นจากกูรูที่เขาบอกว่าชอบตัวโน้นตัวนี้ หรือข่าวจากหนังสือพิมพ์หุ้น หรือแม้กระทั่งเพื่อนบอก ก็เอามาเปิดกราฟดูกันเลยว่า "พวกมันหวังดีหรือแค่หลอกคุณให้ไปซื้อของเน่าๆกันแน่"
แนวโน้ม
ซึ่งมันจะอธิบายเป็นแนวโน้มได้ดังนี้
แนวโน้มขาขึ้น คือ ราคาหุ้นวิ่งทำราคาสูงขึ้นไปได้เรื่อยๆ ต่อเนื่องกันเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน กระทั่งเป็นปี เช่น วีคนี้ 10 บาท สัปดาห์ต่อไป 13 บาท อาทิตย์ต่อไป 20 บาท โอโหสุดยอด ยิ่งคุณถือนาน ก็ยิ่งกำไร แบบนี้คือราคาหุ้นมันเป็นขาขึ้น
แนวโน้มขาลง คือ ราคายิ่งลง ยิ่งมายิ่งถูก สัปดาห์ที่แล้ว 10 บาท พอมาวีคนี้เหลือ 6 บาท อาทิตย์ถัดไป เหลือแค่ 4 บาท นี่แหละคือภาพสะท้อนของขาลง คือยิ่งคุณถือนาน ยิ่งขาดทุน
แต่สำหรับช่วง sideway ก็หมายความว่า วีคนี้ 10 บาท สัปดาห์ถัดไป 8 บาท แล้วอาทิตย์ต่อมา กลับไป 10 บาทอีกแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้ คุณก็ไม่ได้ไม่เสียเงินอะไร แต่เสียเวลาแน่
ประโยชน์ที่ท่านจะได้จากเรื่องนี้ก็คือ คุณสามารถรอจังหวะที่เหมาะสมเพื่อเข้าไปเล่นได้
ยังไง?
เช่นในแนวโน้มขาขึ้น คุณซื้อไม่ทัน เพราะมันบวกแรงเหลือเกินไม่กล้าเข้า แต่คุณรู้ว่าหุ้นเป็นขาขึ้นนั้นมันสามารถไปต่อได้อีก ก็รอตอนมันย่อสิ เพราะย่อแล้วเดี๋ยวก็กลับขึ้นไปต่ออีก เมื่อซื้อแล้วคุณก็ได้ทุนต่ำที่ปลอดภัยเพราะมันไม่ลงไปมากกว่านั้น ถ้ามันวิ่งขึ้นไป คุณก็กำไร
ส่วนแนวโน้มขาลง หากคุณติดหุ้นอยู่ ก็ให้จำไว้ว่า อีกไม่นานมันก็จะเด้งขึ้นเพื่อลงต่อ ก็รอสิ เมื่อมันดีดขึ้นไกล้ๆทุนหรือขาดทุนน้อยลงก็ให้ขายออกไปซะ
เมื่อคุณเข้าใจการกระทำของตลาด ก็จะช่วยให้จิตคุณนิ่งขึ้น ไม่หวั่นไหวต่อการเปลี่ยนแปลงระยะสั้น
เช่น เมื่อคุณซื้อหุ้นในแนวโน้มขาขึ้นไปแล้ว ทุนก็ค่อนข้างต่ำ พอมาวันหนึ่งหุ้นตัวนั้นมันย่อลงมา คุณก็ไม่ตกใจเพราะมองว่ามันเป็นการพักฐานระยะสั้น เดี๋ยวก็ไปต่อ
ส่วนคนที่ไม่มีหุ้นก็จะอาศัยจังหวะพักฐานนี้ซื้อหุ้นในทุนต่ำและเสี่ยงน้อยกว่าไล่ราคา
การเคลื่อนไหวตลาด
และท่านก็ยังบอกอีกว่าในแต่ะช่วงของตลาด ก็ยังมีการเคลื่อนไหว 3 ระยะ ซ่อนอยู่ในนั้น
ระยะยาว Primary Trends เปรียบได้กับ มวลคลื่นก้อนใหญ่ เรียกว่าช่วง Primary ซึ่งจะจะกินเวลายาวนานอย่างน้อย 1 ปี หรือมากกว่า 1 ปีขึ้นไป จะเป็นการบ่งบอกถึง bullish และ bearish
ระยะกลาง Intermediate Trends จะเป็นส่วนประกอบย่อยในมวลคลื่น คือเกลียวคลื่น จะกินเวลา 10 วัน ถึง 3 เดือน
ระยะสั้น Minor Trends เปรียบได้กับ ฟองคลื่น จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ 1 ชั่วโมง ถึง 1 เดือน จะเป็นเพียงแค่การแกว่งตัวของราคาเท่านั้น
ประโยชน์คือ มันจะช่วยให้นักลงทุนเลือก timeframe ที่จะเล่นได้
ถ้าเล่นเก็งกำไรระยะสั้น คุณก็ดู รายนาที หรือรายวันไป
ถ้าซื้อแล้วถือเล่นรอบระยะกลาง ก็ดูกราฟรายวัน รายสัปดาห์
หากลงทุนรอบใหญ่ ก็ดูรายสัปดาห์ หรือรายเดือนไปเลยครับ
วอลุ่มหรือปริมาณการซื้อขาย
อีกประเด็นที่เขาพูดถึงคือวอลุ่มหรือปริมาณซื้อขายครับ
ปู่บอกเลยว่าวอลุ่มนี้น่ะถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยในการยืนยันแนวโน้มเลย
ในแนวโน้มขาขึ้น เมื่อราคาวิ่งขึ้น วอลุ่มต้องเพิ่มขึ้น เพราะเทรดเดอร์ต้องการหุ้นมากกว่าอยากขาย ด้วยความเชื่อว่าราคาจะไปได้สูงกว่านี้ได้อีก
ตัววอลุ่มนี้ ถือเป็นข้อมูลที่มีระดับความยากขึ้นมาอีกนิดนึงสำหรับมือใหม่นะครับ แต่มันก็ตัวช่วยคัดกรองให้ท่านเป็นอย่างดีเลยว่าขึ้นแบบไหนหลอก แบบไหนจริง
ปู่ดาวจึงให้หลักที่สำคัญว่า หากมันจะเป็นขาขึ้นจริง วอลุ่มต้องเพิ่มมากว่าเดิม และราคาก็ต้องเพิ่มขึ้นต่อเนื่องด้วย
ตรงนี้ให้นึกภาพตลาดนัดไว้นะครับ ตลาดนัดที่ขายดีมันเป็นยังไงครับ? คนเดินเยอะใช่มั้ย แล้วไงต่อ เงินต้องสะพัดด้วยใช่มั้ย
แต่ถ้ามีใครชวนคุณให้ไปเปิดร้านในตลาดนัด โดยให้การันตีว่าคุณขายดีแน่ แต่พอไปดูแล้ว คนเดินน้อยมาก แถมร้านก็โหรงเหรง แบบนี้ก็ไม่น่าเชื่อใช่มั้ย
วอลุ่มก็เหมือนกัน ถ้ามันจะไปต่อแรงๆไกลๆ วอลุ่มต้องเข้ามาสูงขึ้น สูงขึ้นต่อเนื่อง ราคาก็เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน เจอแบบนี้น่าเล่น
และไฮไลท์คือนี่ครับ
การยืนยันแนวโน้ม
คิดว่าบางท่านคงเคยได้ยินกูรูใช้คำว่า "หุ้นตัวนี้มัน breakout Dow theory" กันมาก่อนบ้างนะ
หน้าตามันเป็นอย่างนี้ครับ มันคือการ "ทะลุไฮเดิม" ขึ้นไป โดยถ้ามันสามารถทำนิวไฮได้เรื่อยๆ นั่นคือภาพระยะนั้น มันเป็นขาขึ้น
กลับกัน, ถ้ามันยืนยันว่าเป็นขาลงแล้ว (คือราคาทะลุลงไปทำนิวโลว์) มันมีแนวโน้มที่จะลงไปได้อีก
และสิ่งที่จะเกิดต่อไปก็คือ "
โมเมนตัม " หรือ "
แรงเฉื่อย " ครับ
คือ ถ้าหุ้นมันได้วิ่งขึ้นแล้ว-ก็ยังวิ่งต่อได้อีกจนกว่าจะหมดแรงหรือมีอะไรมาตบหรือขวางให้วิ่งกลับทิศ
โดยสิ่งสำคัญที่เราไม่ควรลืมก็คือ วันที่ราคาได้ทะลุขึ้นไปทำนิวไฮ วอลุ่มต้องมากกว่าที่ผ่านมาอย่างมีนัยยะ
ตรงนี้อยากให้คุณนึกถึงละครหรือนังสงครามย้อนยุคไว้นะ
เอาของบ้านเรานี่แหละ ไทยรบพม่าน่ะ
แต่ก่อนบ้านเมืองเราจะมีกำแพงกั้นอาณาเขตเมืองกันนะ กำแพงก่อปูนสูงๆ ทหารข้าศึกอยากเข้ามาทะลวงโจมตีเพื่อเอาชนะ หรือตียึดเมืองได้ พวกมันต้องทะลายประตูหรือกำแพงให้ได้
จุดสูงสุดก่อนหน้านี้(หรือจุด B กับจุด D ในรูป) ก็เหมือนกำแพงเมือง
ถ้ามีวันใดที่กำแพงถูกทำลาย ทหารข้าศึกเข้าไปได้ ก็ถือว่าเมืองนั้นแพ้ ไพร่ฟ้ามีอันต้องแตกพ่ายหนีตาย
ทหารข้าศึกก็ยึดได้ และสามารถรุกคืบไปข้าหน้าได้อีก
ก็เหมือนกับแนวต้านของราคาหุ้นนั่นแหละครับ เมื่อมันถูกทำลายไปได้แล้ว ราคาหุ้นก็สามารถไปต่อสูงขึ้นได้อีก
แต่ทีนี้ ลองนึกถึงสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลต่ออีกนิดนะ
สมมุติมีวันหนึ่ง, เอาภาพกองทัพก่อนนะ จู่ๆประตูเมืองก็แง้ม ให้ทหารข้าศึกเข้าไปได้แบบสบายๆ ไอ้พลพรรคอริก็พากันเฮโลเข้ามากันยกใหญ่ จากนั้นประตูเมืองก็ค่อยๆปิดงับ แล้วทหารที่หลบซ่อนก็พากันเฮออกมาจากที่ซ่อนเข้ามาใช้อาวุธเข้าทำร้ายทหารผู้หลงกลล้มตามหมดสิ้น
ตรงนี้มันอุปมาเหมือนกับ "การเบรคหลอก" น่ะครับ คือถ้าเห็นว่าหุ้นตัวหนึ่งมันทะลุขึ้นไปทำนิวไฮได้ แต่วอลุ่มน้อยมาก น้อยกว่าค่าเฉลี่ยอีก แบบนี้ต้องนึกสงสัยไว้ก่อนว่า "มันหลอกตีหัวกูแน่ๆ"
(แนะนำเพิ่มเติม ของฟรี)
หากต้องการศึกษาวิธีเล่นหุ้น แนะนำให้ไปอ่านบทความฟรี คลิปฟรีที่นี่ก่อนก็ได้
คลิกลิ้งนี้ครับ
https://www.zyo71.com/p/index.html เป็นสารบัญเว็บนี้ครับ
เข้าไปชม คลิกที่ลิ้งนี้
https://www.youtube.com/channel/UCTDoP5zRI4hRETT_2SSlPag/videos