วิธีคิด
1) สิ่งที่ผมหลงไหลที่สุดคือ "อิสรภาพ" อิสรภาพในการทำอะไร เมื่อไหร่ ที่ไหนก็ได้ ตามที่ต้องการ
2) ปรัชญาและวิธีการเทรดหุ้นของผมคือ
เป็นนักฉวยโอกาสที่ดุดันแต่ไม่ยอมเสี่ยง
วิธีคิดขั้นต้นของผมเริ่มจาก "ผมขาดทุนได้เท่าไหร่" ไม่ใช่ "ผมกำไรได้เท่าไหร่"
3) เป้าหมายคือ ไม่ต้องซื้อราคาต่ำสุด แต่ต้องขายราคาแพงกว่าราคาซื้อให้มาก ในระยะเวลาสั้นที่สุด
นี่แหละคือวิธีการสร้างกำไรขั้นเทพ
4) ความสำเร็จในตลาดหุ้นไม่มีส่วนไหนเลยที่ขึ้นกับโชค
ตรงกันข้าม ยิ่งคุณทำตามแผนได้มากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งมีโชคมากขึ้นเท่านั้น
5) การจะทำกำไรจากหุ้นได้นั้น
คุณต้องตัดสินใจให้ถูก 3 ข้อ นั่นคือ
ซื้ออะไร , ซื้อเมื่อไหร่ และ ขายเมื่อไหร่
แม้การตัดสินใจของคุณไม่ได้ถูกต้องเสมอไป
แต่ก็จะทำให้คุณเฉลียวฉลาดขึ้น
6) ข้อแตกต่างระหว่างความสนใจกับความมุ่งมั่น ก็คือ
กำลังใจที่ไม่เคยยอมแพ้ เมื่อคุณมุ่งมั่นในสิ่งใดก็ตาม
คุณจะไม่เลือกสิ่งอื่นเลยนอกจากความสำเร็จ
- จงเตรียมพร้อม เตรียมพร้อม และเตรียมพร้อม
เพื่อที่ว่าเมื่อโอกาสมาถึง ซึ่งย่อมต้องมาแน่
คุณก็จะอยู่ตรงนั้น รอรับโอกาสนั้นพอดี
7) คนที่สนุกกับการลงทุนและศิลปะการเก็งกำไร
สามารถจะเรียนรู้เทคนิคและวินัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในตลาดหุ้นได้
ขอให้มุ่งความสนใจไปที่จะเป็นนักเทรดหุ้นที่เก่งสุด แล้วเงินจะตามมาเอง
สิ่งสำคัญคือ ให้ความหลงไหลขับเคลื่อนนำคุณไป
8) จงจำไว้ว่า คนที่พูดว่าทำไม่ได้หรอก เขาไม่เคยลงมือทำเองเลย จงอยู่กับคนที่ให้กำลังใจคุณ และอย่าปล่อยให้คนชอบขัดคอมาทำให้คุณหลงทาง
9) ไม่มีใครสนใจเงินและอนาคตของคุณมากเท่ากับตัวคุณเอง ทำเอง พลาดเอง และความสำเร็จก็เป็นของคุณเอง ไม่มีใครทำให้คุณรวยได้ นอกจากตัวคุณเอง
10) หากคุณเพิ่งเริ่มต้น คุณควรลงเงินจริงให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้
เพราะคุณต้องได้ประสบการณ์ เทรดด้วยเงินจำนวนน้อยๆก่อน เพื่อเวลาขาดทุนจะได้ไม่ทำให้ชีวิตคุณพลิกผันขนานใหญ่ แต่ต้องมากพอที่จะทำให้คุณรู้สึกปวดใจได้หากเกิดขาดทุนขึ้นมา
อย่าหลอกตัวเองด้วยความรู้สึกปลอมๆ ของความเป็นจริง
จงทำตัวให้คุ้นกับการเทรดจริง เพื่อที่คุณจะได้รู้ว่าต้องทำอะไรเพื่อให้ได้เงินมาจริงๆ
11) ถ้าคุณเทรดเหมือนการทำธุรกิจ คุณก็จะได้เงินเหมือนทำธุรกิจ
ถ้าคุณเทรดเหมือนงานอดิเรก คุณก็ได้เงินเหมือนงานอดิเรก
แต่งานอดิเรกไม่ได้เงินหรอก เพราะคุณจ่ายออกมากกว่า
12) จงมีความสุข จงเห็นคุณค่า และเฉลิมฉลองเมื่อชนะ อย่าได้มองย้อนไปเสียใจกับความล้มเหลว เราเปลี่ยนแปลงอดีตไม่ได้ แต่เรียนรู้จากอดีตได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ อย่าให้วันแย่ๆ ทำให้คุณยอมแพ้
13) จำกัดสไตล์ตัวเองให้ชัด และยอมสละสิ่งที่ไม่ใช่สไตล์ของคุณ
14) ถ้าคุณยังนิยามการเทรดของตัวเองไม่ได้
คุณก็จะเผชิญกับปมขัดแย้งในใจเมื่ออยู่ในภาวะที่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ
การเลือกหุ้น
15) ผมลงมือเทรด ณ จุดที่เห็นเหตุการณ์ต่างๆ รวมตัวกัน เช่น พื้นฐานบริษัท ราคาหุ้น ปริมาณซื้อขายและสถานการณ์ตลาดโดยรวม
16) หุ้นเติบโตสูงส่วนใหญ่มักไม่เทรดที่ P/E ต่ำ
จริงๆแล้ว หุ้นชนะตลาดตัวเก่งที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์หลายๆตัว มักเทรดที่ P/E มากกว่า 30-40 เท่าก่อนที่ราคาจะพุ่งแรงสุด
17) ถ้าคุณอยากซื้อรถสมรรถนะเยี่ยมอย่างเฟอร์รารี่ คุณก็ต้องจ่ายแพง
ก็เหมือนกับหุ้นตัวเก่งนั่นแหละ
18) มูลค่าหุ้นไม่ได้ดันราคาหุ้นขึ้นหรอก
แต่เป็นคำสั่งซื้อ
มูลค่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสมการตัวเลข
ท้ายสุดแล้ว แรงซื้อเป็นปัจจัยสำคัญ
19) หุ้นมีมูลค่าเกินปัจจัยพื้นฐาน เพราะค่า P/E 65 เท่า ก็เหมือนบอกว่าภาพวาดของแวนโก๊ะประมูลไปในราคา 49 ล้านเหรียญนั้นแพงเกินไป เพราต้นทุนสีและผ้าใบแค่ 40 เหรียญ เท่านั้น
- ถ้าพรุ่งนี้ราคาหุ้นปรับลง 25% จากราคาซื้อ คุณจะรู้สึกดีขึ้นไหม เมื่อรู้ว่าค่า P/E หล่นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม
คงไม่แน่นอน คุณควรถามตัวเองว่า คนที่ขายหุ้นออก เขารู้อะไรที่ฉันไม่รู้หรือเปล่า?
20) ในฐานะเทรดเดอร์ดาวรุ่ง คุณต้องจับตาดูและวิ่งตามแนวโน้มที่นำไปหากำไรก้อนโต
และจับผิดได้เมื่อเห็นแนวโน้มที่เคยได้เปรียบกำลังหมดลง
21) การประเมินมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทไม่ใช่การเทรดหุ้น เป้าหมายของคุณคือ ทำกำไรอย่างสม่ำเสมอ
22) ผมไม่เคยซื้อหุ้นที่เทรดต่ำกว่า moving average 200 วันเลย
ไม่ว่าผลกำไรต่อหุ้น การเติบโตของรายได้ กระแสเงินสด หรือกำไรต่อผู้ถือหุ้นน่าสนใจแค่ไหน
ผมก็ไม่สนใจซื้อหุ้นที่มีแนวโน้มลงในระยะยาว
ทำไมน่ะหรือ ผมอยากเห็นแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันเจ้าใหญ่ก่อน
การซื้อหุ้นที่มีแนวโน้มขาลงในระยะยาว เป็นการลดโอกาสที่จะถือหุ้นชนะตลาด อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องการเพิ่มโอกาส คุณควรเน้นหุ้นที่มีแนวโน้มขาขึ้นแน่ๆ
23) เป้าหมายของผมคือ อย่าซื้อหุ้นตอนราคาต่ำสุดหรือถูกสุด
แต่ซื้อตอนราคาที่ "ใช่" เพราะหุ้นพร้อมปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก
ไม่จำเป็นต้องซื้อราคาต่ำสุด เพราะเสียเวลามากและทำให้ผิดวัตถุประสงค์
ถ้าอยากให้ผลกำไรโดดเด่น ต้องทำให้เงินทบต้นมากที่สุด ดังนั้นต้องเน้นหุ้นที่ปรับตัวเร็วหลังซื้อไปแล้ว
24) คุณต้องกระโดดเข้าร่วมเมื่อเม็ดเงินจากนักลงทุนสถาบันไหลเข้าหุ้นตัวใดตัวหนึ่งและช่วยดันหุ้นให้สูงขึ้นมาก
คุณต้องมีข้อมูลยืนยันว่าเงินกำลังไหลเข้าหุ้นก่อน จึงจะลงทุนได้
25) จงมองหาบริษัทที่นักวิเคราะห์กำลังปรับประมาณการเพิ่ม ประมาณการทั้งที่เป็นรายปีและไตรมาสควรมีแนวโน้มสูงขึ้น ยิ่งปรับประมาณการสูงมากเท่าใดก็ยิ่งดีมากขึ้นเท่านั้น
เทคนิคอล
26) กราฟทำให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกับหุ้นในขณะที่ผู้ซื้อและผู้ขายอยู่รวมกันในตลาดประมูล
กราฟช่วยกลั่นกรองความขัดแย้งจากการตัดสินใจแบบใช้อารมณ์ เหตุผล
และแม้แต่การตัดสินใจแบบถูกจูงใจให้เชื่อ ให้เป็นภาพที่ชัดเจนขึ้น
ซึ่งก็เป็นการวิเคราะห์เรื่องอุปทานและอุปสงค์นั่นเอง
27) เวลาเทรดผมต้องพึ่งการทำกราฟจนถึงขนาดว่าผมไม่เคยกล้าเสี่ยงกับความเห็นทางปัจจัยพื้นฐาน
ถ้าไม่มีความเคลื่อนไหวจริงของราคาหุ้นอ้างอิงมายืนยัน
28) จงให้ความแข็งแกร่งของตลาดบอกคุณว่าจะเอาเงินไปลงตรงไหนดี
อย่าใช้ความเห็นส่วนตัวของคุณ ซึ่งยากจะเทียบกับความฉลาดของตลาดได้
สุดท้ายแล้วความคิดเห็นไม่มีความหมายเท่ากับคำตัดสินของตลาด
29) หัวใจหลักคือ ไม่ต้องรู้ชัดว่าหุ้นจะทำอะไรต่อ แต่รู้ว่าหุ้นควรจะทำอะไร
จากนั้นก็เป็นเรื่องของการพิจารณาว่ารถไฟจะมาตรงเวลาหรือไม่
30) เน้นซื้อหุ้นที่พิสูจน์ได้ว่ามีแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันคอยสนับสนุน ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมวงเป็นคนแรก แต่ต้องพยายามหาว่าตรงไหนที่โมเมนตัมขึ้นและโอกาสล้มเหลวน้อยมากที่สุด
จุดเข้าซื้อ
31) จุดเข้าซื้อที่ดี ราคาต้องอยูในแนวโน้มขาขึ้น ในขั้นตอนที่ 2
Moving Average เรียงตัวกันจากล่างขึ้นบน 200-150-50
ราคาอยู่ไกล้จุดสูงสุดในรอบ 200 วัน โดยยิ่งไกล้ยิ่งดี
แต่ไม่ต่ำกว่า 25% จากยอด
ค่า Relative Strenge ต้องไม่น้อยกว่า 70
และถ้าอยู่ในช่วง 80-90 จะน่าสนใจมาก
32) ยืนยันว่าหุ้นอยู่ในขั้นตอนที่ 2 ก่อนคุณพิจารณาเข้าซื้อ
เวลาที่ถูกจังหวะเริ่มต้นซื้อคือ ตอนราคาโผล่ขึ้นมาจากการปรับฐานเหมาะสม
33) การปรับฐานเหมาะสม คือช่วงที่ราคาทำรูปแบบผันผวนหดตัว (volatility contraction pattern) ราคาย่อลงแล้วดีดขึ้นคล้ายฟันเลื่อย-วอลุ่มลด
34) รอดูตอนมันปรับฐาน จุดเข้าซื้อคือตอนที่มัน breakout จากฐานนั้น พร้อมด้วยวอลุ่มสนับสนุนจำนวนมาก
34) ทำไมต้องเข้าซื้อไกล้จุดสูงสุด?
หากหุ้นตัวหนึ่งทำนิวไฮในรอบ 200 วันแรกของตลาดกระทิงใหม่ ก็อาจจะเป็นหุ้นดาวรุ่งในช่วงแบเบาะก็ได้ เมื่อหุ้นทำนิวไฮไม่มีแรงขายดักรอข้างบนมากดดันราคา นั่นคือหุ้นกำลังบอกว่า
"เฮ้ กำลังมีบางอย่างเกิดขึ้นนะ และผู้คนกำลังเฝ้าดูอยู่"
เมื่อหุ้นทำนิวไฮในขั้นตอนที่ 2 และมีวอลุ่มสูงมาสนับสนุน หุ้นจะมีแรงขับเคลื่อนขึ้นจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อเพราะเชื่อว่าปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งและโอกาสในอนาคตก็ดูดีขึ้นด้วย
Pivot Point
35) Pivot Point คือระดับที่หุ้นปรับฐานเสร็จและเริ่มต้นวิ่งรอบต่อไป มันเป็นเหมือนแนวต้านที่อ่อนแอสุดๆ
หุ้นเคลื่อนตัวได้ไวมากทันทีที่หุ้นข้ามด่านนี้ไปได้ เมื่อ breakout ได้แล้ว หุ้นก็มีโอกาสสูงที่จะวิ่งขึ้นต่อในระยะเวลาอันสั้น เพราะบริเวณนี้มีแรงขายน้อย ดังนั้นแค่มีแรงซื้อเข้ามาเพียงเล็กน้อยก็ทำให้หุ้นขยับสูงขึ้นได้
36) จุดสังเกตุที่ชัดเจนของ Pivot Point คือ
๑. วอลุ่มที่ลดลงต่ำมากจนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย อาจดูเหมือนไม่มีการซื้อขาย(ถ้าเป็นหุ้นเล็กๆ) มันเป็นสัญญาณว่าหุ้นเตรียมเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ เพราะการที่ปริมาณซื้อขายลดลงหมายถึงไม่มีใครอยากขายหุ้นแล้ว
เมื่อแรงขายหุ้นน้อยลงมาก แค่แรงซื้อเบาๆก็ทำให้ราคาปรับขึ้นได้เร็วมาก
๒. ความผันผวนของราคาอยู่ในช่วงที่แคบมากๆ เป็นการสื่อว่าหุ้นไม่มีใครอยากซื้อขายกันแล้ว คนส่วนใหญ่เขารอเวลาหุ้นวิ่ง
37) จงปล่อยให้หุ้นทะลุผ่านเหนือ Pivot Point และรอให้หุ้นพิสูจน์ตัวเองให้ได้ก่อน การดูวอลุ่มประกอบจะช่วยได้มาก
สมมุติว่าตามปกติหุ้นมักจะเทรด 1 ล้านหุ้น แต่ภายในเวลา 2 ชั่วโมงของวันทำการ มีวอลุ่มเข้ามาแล้วถึง 500,000 หุ้น และหุ้นกำลังวิ่ง คุณก็สามารถเตรียมตัวเข้าซื้อได้ทันที เมื่อราคาขึ้นผ่าน Pivot Point ได้
38) จุดตัดขาดทุน เมื่อหุ้นขึ้นไปเบรคไม่ผ่านไฮเดิม และราคาลงไปหลุดจนปิด(เมื่อสิ้นวัน)ต่ำกว่าเส้น moving average 20 วัน ถือว่ามีความเสี่ยงที่มันจะไม่ไปต่อ
39) ถือเป็นเรื่องธรรมดา หากหุ้นที่ขึ้นผ่านบริเวณ Pivot Point จะถอยกลับมาบริเวณเดิมหรือต่ำกว่าจุด breakout เล็กน้อย แต่หุ้นดีมักจะฟื้นตัวเร็วพอควรในเวลาไม่กี่วันหรือบางที 1-2 อาทิตย์
แต่หุ้นตัวเก่งๆ จะเด้งเร็ว ให้เกาะตัวนี้ให้แน่นๆ
หุ้นปรับฐาน
40) ไม่ควรด่วนสรุปว่าหุ้นมีราคาถูกเพราะราคาร่วงลงจากไฮถึง 50-60% ยิ่งหุ้นลงมากเท่าไหร่ผู้ซื้อที่เข้าไปติดกับดักก็ยิ่งรับภาระหนักขึ้นเท่านั้น หากคนไหนมีโอกาสขายทำกำไรก็ยิ่งอยากขายมากขึ้นเท่านั้น
41) ผมไม่ค่อยซื้อหุ้นที่ปรับตัวลง 60% หรือมากกว่า หุ้นปรับตัวลงมากมักส่งสัญญาณว่ามีปัญหารุนแรง กรอบการปรับฐานเชิงสร้างสรรค์มากที่สุดอยู่ระหว่าง 10% - 35%
ผู้ชนะจะนำตลาดตั้งแต่ตลาดเป็นขาลง
42) หุ้นโปรดของผม หุ้นเทรดได้เงินมากที่สุดคือหุ้นนำตลาด
หุ้นนำตลาดดูง่าย แต่นักลงทุนทำใจซื้อหุ้นได้ยาก
ราคาหุ้นนำตลาดปรับขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์สูงสุดในขั้นตอนแรกๆของตลาดขาขึ้น
หุ้นขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ใหม่ก่อน ขึ้นแรงอย่างไม่น่าเชื่อ จนทำให้นักลงทุนคิดว่าหุ้นพวกนี้วิ่งเร็วจนเกินไป จนทำให้พวกเขาไม่กล้าซื้อ ทั้งๆที่เป็นหุ้นตัวเก่งสุดที่พร้อมเป็นหุ้นดาวรุ่ง
43) กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีหุ้นจำนวนมากทำจุดสูงสุดในตลาดกระทิงก่อน มักจะเป็นผู้นำตลาด
พอร์ตลงทุนของคุณควรมีหุ้นตัวเก่งสุดใน 4-5 อันดับแรกของหมวด
44) หุ้นดาวรุ่งเริ่มพุงกระฉุดเป็นประวัติการณ์เมื่อตลาดรวมปรับฐานเสร็จแล้ว หรือหลุดจากตลาดหมีได้
สิ่งที่น่าสนใจคือ มีหุ้นนำตลาดจำนวนหนึ่งพุ่งแรงได้ในภาวะตลาดหมี
45) หุ้นดาวรุ่งจำนวนมากกว่า 90% ปรากฎให้เห็นในช่วงตลาดหมี และช่วงตลาดรวมปรับฐาน
หัวใจหลักคือ ทำการบ้านช่วงตลาดขาลง แล้วก็เตรียมตัวเก็บกำไรก้อนใหญ่ตอนหุ้นขึ้น
46) หุ้นนำตลาดตัวจริงจะทรงตัวได้ดีที่สุดและวิ่งขึ้นทำจุดสูงสุดจากจุดต่ำสุดในช่วง 4-8 สัปดาห์แรกในตลาดกระทิงรอบ ใหม่ และวิ่งขึ้นได้แรงมาก ดังนั้นคุณต้องไม่ทิ้งโอกาสทองนี้ไป
47) มีคำถามว่า ควรซื้อหุ้นตัวไหนก่อน?
คำตอบง่ายมาก คือ ซื้อตัวที่แข็งแกร่งสุดก่อน
เมื่อพบว่าตลาดกลับตัวจากจุดต่ำสุดได้แล้ว - ผมชอบซื้อหุ้นที่ทะลุไฮเดิม
มันมักจะเป็นหุ้นกลุ่มแรกที่พุ่งระเบิดก่อน และแสดงตัวขึ้นมาให้เห็นก่อนนับจากจุดซื้อเหมาะสม และทำจุดสูงสุดใหม่
48) หากตลาดกำลังทำจุดต่ำสุด หุ้นตัวเก่งจะทำจุดต่ำสุดก่อนตลาดรวม
ในขณะเดียวกันตอนที่ตลาดรวมทำจุดต่ำสุดใใหม่ลดลงเรื่อยๆ ช่วงตลาดขาลงรอบสุดท้าย หุ้นนำตลาดจะวิ่งฉีกออกจาก กลุ่มเพื่อทำนิวไฮขึ้นไปเรื่อยๆ
การตัดขาดทุน
49) อย่ายอมให้ตัวเองเสียเงินมากจนทำให้พอร์ตมีความเสี่ยง ยิ่งขาดทุนมากยิ่งฟื้นยาก
50) นักลงทุนเข้าใจดีว่า วินัยเป็นสิ่งแรกที่ต้องเรียนรู้ไว้ถ้าอยากเป็นเทรดเดอร์ที่ประสบความสำเร็จ
แต่ส่วนใหญ่ทำไม่ได้ตลอดเวลา
วิธีดีที่สุดคือ ยอมรับการตัดสินของตลาดซะ
51) ไม่ว่าหลักการหรือวิธีการลงทุนหุ้นของคุณเป็นอย่างไร
หนทางเดียวที่จะปกป้องพอร์ตของคุณไม่ให้หายนะได้คือ "ขายตอนที่คุณยังขาดทุนไม่มาก"
52) วินัยเคร่งครัดที่สุดสำหรับนักลงทุนที่ต้องทำตามอย่างสม่ำเสมอ คือการ "ตัดขาดทุน"
เพราะนั่นหมายถึงการยอมรับว่าซื้อพลาด และไม่มีใครอยากทำผิด
53) การเลี่ยงขาดทุนก้อนใหญ่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการชิงชัยนำไปสู่การเป็นนักเก็งกำไร
คุณควบคุมไม่ได้ว่าหุ้นขึ้นไปได้เท่าไหร่
แต่ส่วนมากแล้วการยอมขาดทุนนิดหน่อยหรือขาดทุนก้อนโตก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่คุณเลือกเองทั้งนั้น
54) การจะเชี่ยวชาญในศิลปะการเก็งกำไรนั้น คุณต้องยอมรับศักยภาพด้านอันตรายของตัวคุณเอง
ทันทีที่คุณเข้าใจและรู้จักศักยภาพนี้แล้ว คุณก็จะควบคุมโชคชะตาและสร้างความสม่ำเสมอได้
เมื่อลงทุนพลาดไปแล้ว คุณต้องทุ่มเทเวลาและความพยายามในการเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรให้ขาดทุนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ คุณต้องเรียนรู้วิธีหลบเลี่ยงความผิดมหันต์ให้ได้
55) จุดอ่อนของนักพนนันและนักเก็งกำไรส่วนใหญ่ คือ "อยากเล่นทุกตา"
เป็นจุดด้อยทั่วไปของมนุษย์ที่ยอมให้ความใจร้อนอยูเหนือการตัดสินใจดีๆ
56) ไม่มีใครเก่งมากเสียจนไม่เคยขาดทุน การเทรดพลาดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่การทำผิดโดยไม่ยอมปรับตัวเป็นสิ่งที่คุณเลือกเอง
57) การขาดทุนเป็นส่วนหนึ่งของการเทรดและการลงทุน
ถ้าคุณไม่เตรียมรับมือกับการขาดทุน คุณก็เตรียมตัวเสียเงินก้อนโตในตอนสุดท้ายได้เลย
58) ตลาดทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองโง่ นี่เป็นวิธีที่ตลาดให้กดดันให้คุณทำอะไรโง่ๆ
อย่ายอมแพ้ จงมีวินัยและตัดขาดทุนไป
59) ไม่ใช่เรื่องน่าอายเลย ถ้าขาดทุนหุ้น แต่การยังถือให้ขาดทุนต่อและปล่อยให้ขาดทุนมากขึ้นเรื่อยๆ หรือแย่ยิ่งกว่าคือการซื้อเพิ่ม เป็นการกระทำของ "มือสมัครเล่น" และ "ทำร้ายตัวเอง"
60) แตกต่างกันไหม ถ้าคุณยังคงถือหุ้นที่ราคาปรับลง 10% และคอยให้มันฟื้นกลับมาและให้ข่าวร้ายๆหมดไป?
หรือไปซื้อหุ้นตัวใหม่ที่ดูดี ตั้งแต่เริ่มต้น?
คำตอบคือ เป็นเรื่องอีโก้ของคุณล้วนๆ
นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ สามารถเปลี่ยนเกียร์และยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้
พวกเขาไม่ตกหลุมรักหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง และไม่สนใจเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนเป็นเลวร้ายขึ้น
เป้าหมายคือทำเงิน ไม่ใช่เพื่อพิสูจน์ว่าคุณถูกและตลาดหุ้นผิด
จงเดินหน้าและหาหุ้นตัวใหม่
บทความที่คล้ายกัน
(แนะนำเพิ่มเติม ของฟรี)
หากต้องการศึกษาวิธีเล่นหุ้น แนะนำให้ไปอ่านบทความฟรี คลิปฟรีที่นี่ก่อนก็ได้
คลิกลิ้งนี้ครับ
https://www.zyo71.com/p/index.html เป็นสารบัญเว็บนี้ครับ